เข็มเชิดชูเกียรติมีรูปลักษณะเป็นดาวสิบแฉกทำด้วยโลหะทองคำ เส้นผ่าศูนย์กลางจรดปลายแฉกดาว ยาว ๒ เซนติเมตร มีตราของเนติบัณฑิตยสภาเป็นรูปพระมนูสาราจารย์ถือ ตราชู ในมือซ็ย มือขวา ถือพระขรรค์สีทอง ๒ อยู่บนพื้นสีน้ำเงิน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ เซนติเมตรอยู่ตรงกลางดาวสิบแฉก
จำนวนแฉกของดาวหรือประกายดาราแห่งเข็มเชิดชูเกียรติที่กำหนดไว้เป็นสิบแฉกนี้ มิได้กำหนดโดยปราศจากจุดมุ่งหมายแต่เป็นการกำหนดอย่างมีความหมาย กล่าวคือ คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์เนติบัณฑิตยสภาเห็นควรให้มีจำนวนแฉกของดาวหรือประกายดาราที่เป็นมหามงคลตรงกับจำนวนแห่งราชธรรม ๑๐ หรือทศพิธราชธรรม อันเป็น ธรรมของพระราชาทรงยึดถือปฏิบัติในการปกครองเพื่อให้เกิดศานติสุขในแผ่นดิน และหมายถึงคุณธรรมหรือธรรมที่ผู้ทำหน้าที่ปกครองบ้านเมืองทั้งหลาย นักนิติศาสตร์ นักบริหาร ตลอดจนผู้ที่มีอาชีพที่มีลักษณะการทำงาน สามารถให้คุณหรือให้โทษต่อประชาชนและสังคมโดยรวมสมควรยึดถือปฏิบัติด้วย
ทศพิธราชธรรมนี้ปรากฏในพระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกายชาดก เรื่องมหาหังสชาดก ว่าด้วยพญาหงส์ติดบ่วง กล่าวถึงหงส์โพธิสัตว์ชื่อ พญาหงส์ธตรัฐะติดบ่วงนายพราน หงส์บริวารต่างพากันหลบหนีไปคงเหลือหงส์สุมุขะผู้เป็นเสนาบดีของพญาหงส์ไม่ยอมหลบหนี ยอมสละชีวิตอยู่เป็นเพื่อนพญาหงส์ผู้เป็นนาย และเป็นทั้งเพื่อน จนกระทั้ง นายพรานมาถึงและทราบถึงการประพฤติธรรมอันประเสริฐของหงส์สุมุขะจึงมีความซาบซึ้งใจ จะปล่อยทั้งพญาหงส์และหงส์สุมุขะให้เป็นอิสระ แต่หงส์สุมุขะไม่ยินยอมเนื่องจาก นายพรานกระทำการดักหงส์มิใช่เพื่อประโยชน์แก่ตน แต่กระทำเพื่อประโยชน์ของพระราชาจึงไม่มีสิทธิปล่อยหงส์ทั้งสองได้ และให้นายพรานนำไปพบพระราชาคือพระเจ้ากาสี พญาหงส์และหงส์สุมุขะกับพระเจ้ากาสีได้โต้ตอบเจรจาความเป็นคติธรรมกันหลายประการจนพระเจ้ากาสีได้ปล่อยพญาหงส์โพธิสัตว์ และหงส์สุมุขะเป็นอิสระและได้สนทนาธรรมกันต่อไป ในตอนท้ายของการสนทนา พญาหงส์ได้ทูลถามว่า แคว้นอันมั่งคั่งของพระราชานี้พระองค์ทรงปกครองโดยธรรมหรือไม่ มิได้ทรงพิจารณาเห็นอนาคตอันยาวนาน หรือทรงมัวเมาในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมาแล้ว ไม่ทรงสะดุ้งกลัวปรโลกหรือ พระเจ้ากาสี ตรัสตอบเป็นพระคาถาว่า
เราพิจารณาเห็นอนาคตอันยาวนานก็หาไม่ พญาหงส์ เราดำรงอยู่ในธรรม ๑๐ ประการ จึงไม่สะดุ้งกลัวปรโลก คือ
๑. ทาน
๒. ศีล
๓. การบริจาค
๔. ความซื่อตรง
๕. ความอ่อนโยน
๖. ความเพียร
๗. ความไม่โกรธ
๘. ความไม่เบียดเบียน
๙. ความอดทน
๑๐. ความไม่คลาดธรรม
ในเรื่องนี้ พระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ประจักษ์ท่านหนึ่งของเมืองไทยปัจจุบันคือ พระธรรมปิฏก (ป.อ. ปยุตโต) ได้อธิบายความหมายของราชธรรม ๑๐ หรือทศพิธราชธรรมไว้ว่า เป็นธรรมของพระราชา กิจวัฒรที่พระเจ้าแผ่นอินควรประพฤติ คุณธรรมของผู้ปกครองบ้านเมือง, ธรรมของนักปกครอง ซึ่งขอคัดมาเฉพาะข้อความที่เป็นภาษาไทยและคาถาบาลี ดังนี้
๑. ทาน (การให้ คือ สละทรัพย์สิ่งของ บำรุงเลี้ยง ช่วยเหลือประชาราษฎร์ และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์)
๒. ศีล (ความประพฤติดีงาม คือ สำรวมกายและวจีทวาร ประกอบแต่การสุจริต รักษากิตติคุณ ให้ควรเป็นตัวอย่าง และเป็นที่เคารพนับถือของประชาราษฎร์มิให้มีข้อที่ใครจะดูแคลน)
๓. ปริจจาคะ (การบริจาค คือ เสียสละความสุขสำราญ เป็นต้น ตลอดจนชีวิตของตน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง)
๔. อาชชวะ (ความซื่อตรง คือ ซื่อตรงทรงสัตย์ไร้มารยา ปฏิบัติภารกิจโดยสุจริต มีความจริงใจ ไม่หลอกลวงประชาชน)
๕. มัททวะ (ความอ่อนโยน คือมีอัธยาศํย ไม่เย่อหยิ่งหยาบคายกระด้างถือองค์ มีความสง่าเกิดแต่ท่วงทีกิริยาสุภาพนุ่มนวล ละมุนละไม ให้ได้ความรักภักดี แต่มิขาดยำเกรง)
๖. ตปะ (ความทรงเดช คือ แผดเผากิเลสตัณหา มิให้เข้ามาครอบงำย่ำยีจิต ระงับยับยั้งข่มใจได้ ไม่ยอมให้หลงไหลหมกมุ่นในความสุขสำราญและความปรนเปรอ มีความเป็นอยู่สม่ำเสมอ หรืออย่างสามัญ มุ่งมั่นแต่จะบำเพ็ญเพียร ทำกิจให้บริบูรณ์)
๗. อักโกธะ (ความไม่โกรธ คือ ไม่กริ้วกราด ลุอำนาจความโกรธ จนเป็นเหตุให้วินิจฉัยความและกระทำการต่างๆ ผิดพลาดเสียธรรม มีเมตตาประจำใจไว้ระงับความเคืองขุ่น วินิจฉัยความและกระทำการด้วยจิตอันราบเรียบเป็นตัวของตนเอง)
๘. อวิหิงสา (ความไม่เบียดเบียน คือ ไม่บีบคั้นกดขี่ เช่น การเก็บภาษีขูดรีด หรือเกณฑ์แรงงานเกินขนาด ไม่หลงระเริงอำนาจ ขาดความกรุณา หาเหตุเบียดเบียนลงโทษอาชญาแก่ประชาชาราษฎร์ผู้ใด เพราะอาศัยความอาฆาตเกลียดชัง)
๙. ขันติ (ความอดทน คือ อดทนต่องานที่ตรากตรำ ถึงจะลำบากกายน่าเหนื่อยหน่ายเพียงไร ก็ไม่ท้อถอย ถึงจะถูกยั่วถูกหยันด้วยคำเสียดสีถากถางอย่างใด ก็ไม่หมดกำลังใจ ไม่ยอมละทิ้งกรณีย์ที่บำเพ็ญโดยชอบธรรม)
๑๐. อวิโรธนะ (ความไม่คลาดธรรม) คือ วางองค์เป็นหลักหนักแน่นในธรรม คงที่ ไม่มีความเอนเอียงหวั่นไหวเพราะถ้อยคำที่ดีร้าย ลาภสักการะ หรืออิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ใดๆ สถิตมั่นในธรรม ทั้งส่วนยุติธรรม คือ ความเที่ยงธรรม ก็ดี นิติธรรม คือ ระเบียบแบบแผนหลักการปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ก็ดี ไม่ประพฤติให้เคลื่อนคลาดวิบัติไป)
ราชธรรม ๑๐ นี้ พึงจดจำง่ายๆ โดยคาถาในบาลี ดังนี้
ทานํ สีลํ ปริจจาคํ อาชชวํ มททวํ ตปํ อกฺโกธํ อวิหึสฺจ ขนติจ อวิโรธนํ
ธรรม ๑๐ ประการ หรือทศพิธราชธรรมดังกล่าวมานี้จึงเป็นคุณธรรมอันประเสริฐและเป็นมหามงคล ทั้งอยู่เหนือกาลเวลาเป็น "อกาลิโก" กล่าวคือ ให้ผลไม่จำกัดกาล คือไม่ขึ้นกับกาลเวลา ไม่จำกัดด้วยกาลเวลา ให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติทุกเวลา ทุกโอกาส นักปกครองที่ดีและชาญฉลาดย่อมมีความเป็นนักนิติศาสตร์ที่สามารถอยู่ในตัวฉันใด นักนิติศาสตร์ที่ดีและชาญฉลาดย่อมมีความเป็นนักปกครองที่สามารถอยู่ในตัวฉันนั้น การนำคุณธรรมในทศพิธราชธรรมมาเป็นหลักในการครองตนและปกครองคนย่อมนำมาแต่ความเจริญวัฒนาสถาพรมาเกิดแก่ตนและสังคมโดยรวม เรื่องทศพิธราชธรรมนี้ ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ กล่าวไว้ว่า "ทศพิธราชธรรม คือ ธรรมของพระราชา ๑๐ ประการ หมายความว่า พระราชาที่ดีทรงประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้ ประชาชนที่ดีต้องสนองตอบทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการนี้แล้ว ประเทศชาติจะมั่นคงและมีความสุขสงบโดยถาวร...ทศพิธราชธรรมนี้ไม่ใช่เฉพาะแต่ที่พระมหากษัตริย์จะทรงปฏิบัติต่อประชาชนเท่านั้น หากแต่ประชาชนเรานี้ก็ย่อมปฏิบัติทศพิธราชธรรมตอบเบื้องพระยุคลบาทของพระมหากษัตริย์ได้ด้วย ข้อนี้เป็นเรื่องของวัฒนธรรมไทยแต่ครั้งดั้งเดิมมา..." คณะอนุกรรมการการประชาสัมพันธ์จึงเห็นพ้องต้องกันในการอัญเชิญธรรม ๑๐ ประการหรือทศพิธราชธรรมมาเป็นสัญลักษณ์ของจำนวนแฉกดาวหรือประกายดาราแห่ง
"เข็มเชิดชูเกียรติเนติบัณฑิตยสภา"