ชีวิตมนุษย์นั้น เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง ไม่มีสิ่งใดคงอยู่ถาวร มนุษย์มีช่วงเวลาที่สุข แต่ก็อาจจะกลับกลายเป็นทุกข์ได้ในช่วงเวลาต่อไป การเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่สิ่งที่ปรารถนาและสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาเช่นนี้ ย่อมมีต้นเหตุมาจากการกระทำเมื่อกาลก่อน
หากในอดีตเคยทำสิ่งที่ดีเป็นบุญกุศลไว้ ชีวิตย่อมได้รับสิ่งดี แต่หากในอดีตเคยกระทำสิ่งไม่ดีไว้ ก็ย่อมต้องรับความทุกข์จากอกุศลกรรมที่ตนเคยกระทำไว้ เมื่อความสุขเกิดแก่ผู้ใด ผู้นั้นย่อมไม่พึงปรารถนาให้มันจากไป แต่หากความทุกข์เกิดแก่มนุษย์เพียงช่วงหนึ่งวินาที มนุษย์ย่อมไม่พึงปรารถนาให้มันคงอยู่ต่อไป
ความทุกข์ที่เกิดแก่มนุษย์นั้น มีทั้งความทุกข์ที่เกิดจากการกระทำในปัจจุบันที่มนุษย์เป็นผู้กระทำให้ตนเองเกิดความทุกข์ และมีทั้งความทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะการรับผลกรรมที่ตนได้กระทำไว้ในอดีตชาติ
ความทุกข์ที่เกิดจากกระทำสิ่งไม่ดีไว้แก่จิตดวงอื่นนั้น หาจุดจบแทบมิได้ เหตุเพราะเมื่อจิตดวงหนึ่งถูกกระทำให้ทุกข์ จิตดวงนั้นย่อมเกิดความอาฆาตจองเวรซึ่งกันและกัน
ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า ความทุกข์เช่นนี้ยากที่จะหาจุดจบได้ แต่หากมีจิตดวงใดยอมเป็นผู้เสียสละให้อภัยแก่จิตดวงอื่นก่อน ความทุกข์จากการจองเวรเช่นนี้ย่อมจบลงได้ ดังนั้น มนุษย์ควรมีชีวิตอยู่โดยปราศจากการผูกพยาบาทต่อผู้อื่น อีกทั้งควรมีชีวิตอยู่อย่างไม่เบียดเบียนผู้อื่น
การกระทำของเราที่ได้กระทำลงไปแล้วในอดีตนั้น เราคงไม่สามารถกลับไปแก้ไขการกระทำนั้นได้ ตลอดจนไม่สามารถที่จะไปควบคุมเจ้ากรรมนายเวรของเราได้ ถึงแม้ว่าบางครั้งเราจะทำการขออโหสิกรรมแก่เจ้ากรรมนายเวรของเราแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเจ้ากรรมนายเวรของเราทุกดวงจิตจะให้อภัยแก่เรา ดังนั้น สิ่งที่เราควรทำก็คือเราไม่ควรกระทำสิ่งไม่ดีต่อผู้อื่นรวมทั้งไม่ควรกระทำสิ่งไม่ดีต่อตนเองด้วย เราควรจะรักษาศีลไว้ให้มั่นเพื่อการดำรงชีวิตที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
ถึงแม้เราจะพยายามรักษาศีลให้คงมั่น แต่ก็มีบางครั้งสิ่งที่ยั่วยุจากภายนอกนั้นมีกำลังมากจนทำให้เรากระทำผิดศีลลงไปได้
แล้วมีธรรมใดหรือไม่ ที่ช่วยให้เราสามารถรักษาศีลไว้ให้คงมั่นตลอดไปได้
ที่มา ถึงคราวเคราะห์หรือเพราะเวรกรรม
เราคือผู้สร้างกรรม
เราคือผู้รับผลของกรรม
เราคือเจ้ากรรมนายเวร
เจริญพร.
สุภัทโท ภิกขุ
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 337
อาฆาตวรรคที่ ๒
๑. ปฐมอาฆาตวินยสูตร ว่าด้วยธรรมระงับความอาฆาต ๕ ประการ
[๑๖๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นที่ระงับความอาฆาตซึ่งเกิดขึ้น
แก่ภิกษุโดยประการทั้งปวง ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน ? คือ ความ
อาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญเมตตาในบุคคลนั้น ๑ ความอาฆาต
พึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญกรุณาในบุคคลนั้น ๑ ความอาฆาตพึงบังเกิด
ขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญอุเบกขาในบุคคลนั้น ๑ ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นใน
บุคคลใด พึงถึงการไม่นึกไม่ใฝ่ใจในบุคคลนั้น ๑ ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้น
ในบุคคลใด พึงนึกถึงความเป็นผู้มีกรรมเป็นของ ๆ ตน ให้มั่นในบุคคลนั้นว่า
ท่านผู้นี้เป็นผู้มีกรรมเป็นของ ๆ ตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด
มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม
จักเป็นทายาท (ผู้รับผล) ของกรรมนั้น ดังนี้ ภิกษุพึงระงับความอาฆาต
ในบุคคลนั้น ด้วยประการฉะนี้.
จบปฐมอาฆาตวินยสูตรที่ ๑