ทนทำไม????

 lc-kukko    27 เม.ย. 2555

ทนทำไม?
ความอดทนอดกลั้น – เป็นเครื่องหมายของนักสู้ชีวิตที่ไม่หวั่นต่ออุปสรรคใดๆ “ยิ้มได้เมื่อภัยมา ไม่โศกาเมื่อทุกข์มี” มีปัญหาอะไรก็สามารถระงับดับลงได้ ความสำเร็จของงานทุกชิ้นทั้งทางโลกและทางธรรม คืออนุสาวรีย์ของความอดทนอดกลั้น (ขันติ) ทั้งสิ้น
สิ่งที่ทุกชีวิตจำเป็นต้องเข้าไปอดทน – อดกลั้นนั้น ท่านจัดไว้เป็น ๔ ลักษณะ ดังนี้
๑. ทนต่อความลำบากตรากตรำ – ได้แก่ธรรมชาติดิน ฟ้า อากาศ หนาวร้อน ฝนตก แดดออก
๒. ทนต่อทุกขเวทนา – ได้แก่โรคาพยาธิ ความเจ็บไข้ได้ป่วย เมื่อยล้า ปวดหัว ปวดท้อง
๓. ทนต่อความเจ็บใจ – ได้แก่อนิฏฐารมณ์...ยามที่ถูกล่วงเกินทั้งการกระทำและคำพูด เช่น ถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม
๔. ทนต่ออำนาจกิเลส – ได้แก่อิฏฐารมณ์อันยั่วยวนชวนให้สัมผัส ลิ้มลอง หมายถึง กามคุณ ๕ คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่น่าปรารถนา
ทนถูก
๑. อดทนด้วยการถอนตัว...หลีกเลี่ยงออกจากความชั่วทั้งหลาย
๒. อดทนด้วยการทำความดีต่อไป...ไม่หยุดยั้งกว่าจะถึงฝั่งคือความสำเร็จ
๓. อดทนด้วยการรักษาใจ...มิให้เศร้าหมอง
การอดทนทั้ง ๓ วิธีนี้เป็นการอดทนที่ถูกต้องและถูกธรรม
ทนผิด
บางคนเกียจครั้นไม่ขยันทำมาหากิน เกะกะเกเร พอมีผู้ว่ากล่าวตักเตือนก็เฉยเสีย อ้างว่ากำลังบำเพ็ญขันติบารมี อย่างนี้เป็นการเลี่ยงบาลีและผิดประสงค์แห่งหลักธรรม เช่น
- พวกที่ชั่วแล้วก็ชั่วอีก – ใครห้ามก็ไม่ฟัง ใครยั้งก็ไม่หยุด จัดเป็นพวก ดื้อดึง
- พวกที่โง่ก็ทนโง่ต่อไป – ใครสอนก็ไม่ฟัง ใครสั่งก็ไม่เชื่อ จัดเป็นพวก ดื้อด้าน
- พวกที่จนก็ทนจนต่อไป – ไม่ขวนขวายทำมาหากินเลี้ยงชีพ จัดเป็นพวก ตายด้าน
ผู้ที่อดทนทั้ง ๓ วิธีนี้ เป็นการอดทนที่ผิดและขัดต่อหลักธรรม จัดเป็น มิจฉาทิฐิ ฯ
พระพิจิตรธรรมพาที (ชัยวัฒน์ ธมฺมวฑฺฒโน)

   


ที่มา : หนังเสือ “เทศนา วาไรตี้” ส่งเสริมคุณธรรม พัฒนาชีวิต นึกถึงธรรมะ คิดถึง พุทธะดอทคอม www.พุทธะ.com


 4,222 

  แสดงความคิดเห็น


RELATED STORIES




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย