บุพกรรมของพระพุทธเจ้า

 หัวหอม    29 ก.ค. 2554

กรรมที่ถูกช้างนาฬาคิรีไล่

ในอดีตกาลพระโพธิสัตว์เกิดเป็นควาญช้าง วันหนึ่งขณะขี่ช้างไปตามทาง เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งกำลังเสด็จสวนทางมา เกิดโทสะด้วยคิดว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์นี้ขวางทางเดินของตน จึงไสช้างเข้าไปไล่ ในขณะที่ท่านกำลังบิณฑบาต ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น พระโพธิสัตว์ต้องเสวยทุกข์ในอบายเป็นเวลานาน แม้ในปัจจุบันด้วยเศษกรรมที่ยังเหลืออยู่ ทำให้พระองค์ต้องถูกช้างนาฬาคิรีไล่ขณะเข้าไปบิณฑบาคในกรุงราชคฤห์

กรรมที่ทำให้ปวดพระเศียร

ในอดีตกาลพระโพธิสัตว์เกิดในหมู่บ้านชาวประมงในเมืองกวัฏฏคาม วันหนึ่งพระโพธิสัตว์กับพวกชาวประมงได้ไปยังที่เขาฆ่าปลาเพื่อนำไปจำหน่าย เห็นคนทั้งหลายฆ่าปลาด้วยการทุบหัว ก็เกิดความโสมนัสยินดีในอกุศลกรรมนั้น

ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น พระโพธิสัตว์ต้องเสวยทุกข์ในอบายเป็นเวลานาน แม้ในปัจจุบันด้วยเศษกรรมที่ยังเหลืออยู่ พระองค์บังเกิดในตระกูลศากยราช แม้จะได้บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ยังได้เสวยความเจ็บปวดที่พระเศียรอย่างรุนแรงทันทีที่ทราบข่าวว่าพระเจ้าวิฑูฑภะทำลายล้างเหล่าศากยะถึงแก่ความพินาศไปด้วยกันเกือบทั้งหมด

กรรมที่ทำให้ห้อพระโลหิต

ในอดีตกาลพระโพธิสัตว์และพระเทวทัตต์เกิดเป็นพี่น้องร่วมบิดา แต่ต่างมารดากัน ครั้งบิดาล่วงลับไปแล้วเกิดทะเลาะกันด้วยเหตุแห่งทรัพย์ พระโพธิสัตว์มีกำลังมากกว่าจึงกดน้องชายนอนลงกับพื้นดิน แล้วกลิ้งศิลาก้อนใหญ่ทับไว้ประสงค์จะให้ตาย ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น พระโพธิสัตว์ต้องเสวยทุกข์ในอบายเป็นเวลานาน แม้ในปัจจุบันด้วยเศษกรรมที่เหลืออยู่ พระพุทธเจ้าจึงต้องถูกสะเก็ดศิลาที่พระเทวทัตต์กลิ้งลงมาหมายจะให้ทับพระองค์ตาย แต่กลับกระเด็นมากระทบที่นิ้วพระบาทจนห้อพระโลหิต ขณะที่พระพุทธเจ้าเสด็จพระดำเนินขึ้นเขาคิชฌกูฏ

กรรมที่ต้องกระทำทุกรกิริยา

ในสมัยพระกัสสปะพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพราหมณ์ชื่อโชติปาละ ไม่มีความเลื่อมใสในพุทธศาสนา ทราบว่าพระกัสสปะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้กล่าวว่า การตรัสรู้ของสมณะโล้นจักมีมาแต่ที่ไหน

ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น พระโพธิสัตว์ต้องเสวยทุกข์ในอบายเป็นเวลานาน ด้วยเศษกรรมที่ยังเหลืออยู่ ม้ในภพสุดท้ายก่อนจะได้ตรัสรู้ พระองค์ยังต้องหลงเดินทางผิด บำเพ็ญทุกรกิริยาทรมานพระองค์เองด้วยวิธีการต่างๆอันเป็นวัตรของเดีรถีย์ มีการอดอาหาร เป็นต้น จนสรีระผอมเหลือแต่กระดูก ได้รับทุกขเวทนาอันเกิดจากความเพียรเป็นเวลานานถึง 6ปี กว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมโพธิญาณ

ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสถึงสิ่งที่เรียกว่า "อจินไตย" ว่า เป็นเรื่องไม่ควรถาม ต่อให้ตอบอย่างไรก็ไม่มีวันจบลงได้ เพระอจินไตยหมายถึงเรื่องที่ไม่ควรคิดหาคำตอบ มันเกินกว่าที่คนธรรมดาจะรู้ได้

หนึ้่งในอจินไตยคือเรื่อง "วิบากกรรม" เช่น เราขาหัก ถ้าคิดไปทำนองว่า มันเป็นวิบากกรรม ก็จะคิดย้อนไปว่านั่นเป็นเพราะสมัยเด็กๆเราจับกบมาหักขา เราเลยขาหัก

เรามักอธิบายเรื่องของ"กรรม"ตามความคิดของเราเอง หรือ มีเหตุการณ์ไฟไหม้บ้านก็จะนึกไปเองว่า คงเป็นเพราะสมัยเด็กๆเอาไฟไปเผารังผึ้ง บ้านก็เลยต้องถูกไฟไหม้ คิดอย่างนี้จัดเป็นอจินไตย คือ คิดไปเอง คิดไปเรื่อยๆ คิดไปไม่สิ้นสุด

ความเห็นผิดเกี่ยวกับเรื่องกรรม

ในสมัยพุทธกาลมีคำสอนสำคัญอยู่ 3 ลัทธิ ที่กล่าวถึงทุกข์สุขที่เราได้รับอู่ในขณะนี้ แม้ในปัจจุบันลัทธิศาสนาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ก็สรุปลงได้เท่านี้เช่นกัน

ลัทธิคำสอนเหล่านี้ถือเป็นมิจฉาทิฏฐิ จัดเข้าในพวกอกิริยา(หลักคำสอนแบบที่ทำให้ไม่เกิดการกระทำ) ได้แก่


1. ลัทธิปุพเพกตเหตุ (ปุพเพกตวาท) เป็นลัทธิของพวกนิครนถนาฏบุตร ที่มีพระมหาวีระเป็นศาสดา มีความเห็นว่า สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ก็ดี ล้วนเป็นเพราะกรรมที่กระทำในปางก่อน

2. ลัทธิอิสสรนิมมานเหตุ (อิศวรนิรมิตวาท) มีความเห็นว่า สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ก็ดี ล้วนเป็นเพราะการบันดาลของพระผู้เป็นเจ้า

3. ลัทธิอเหตุอปัจจยะ (อเหตุวาท) มีความเห็นว่า สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ก็ดี ล้วนหาเหตุหาปัจจัยไม่ได้

กรรม หมายถึง การกระทำทางกาย วาจา ใจ ที่ประกอบด้วยเจตนาหรือจงใจ ถ้าการกระทำที่ไม่มีเจตนา ก็ไม่เรียกว่าเป็นกรรมในความหมายทางธรรม

กรรม 12

เรื่องกรรมนี้ รวมแล้วอาจแบ่งได้ 12แบบ หรือเรียกว่า กรรมสี่สามหมวด

หมวดที่1 ว่าโดยปากกาล คือ จำแนกตามเวลาที่ให้ผล

1. ทิฏฎธรรมเวทนียกรรม กรรมให้ผลในปัจจุบัน คือ ภพนี้ ไม่ว่ากรรมดีหรือกรรมชั่วก็ให้ผลเฉพาะในชาตินี้เท่านั้น ถ้าไม่มีโอกาสให้ผลในชาตินี้ก็กลายเป็นอโหสิกรรม

2. อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพที่จะไปเกิด คือ ในภพหน้า ไม่ว่ากรรมดีหรือชั่ว ก็ให้ผลเฉพาะในชาติถัดจากนี้ไปเท่านั้น ถ้าไม่มีโอกาสให้ผลในชาติหน้า ก็กลายเป็นอโหสิกรรม

3. อปราปริยเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพต่อๆไป คือ เมื่อเลยจากภพหน้าไปแล้ว ได้โอกาสเมื่อใด ก็ให้ผลเมื่อนั้น ให้ผลได้เรื่อยไปในอนาคตตราบเท่าที่ยังอยู่ในสังสารวัฏ ไม่เป็นอโหสิกรรม

4. อโหสิกรรม กรรมเลิกให้ผล คือ ไม่ว่ากรรมดีหรือกรรมชั่ว เมื่อไม่ให้ผลภายในเวลาที่จะออกผลได้ เมื่อผ่านเวลานั้นไปแล้ว ก็ไม่ให้ผลอีกต่อไป

หมวดที่ 2 ว่าโดยกิจ คือ จำแนกการให้ผลตามหน้าที่

5. ชนกกรรม คือ กรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด ไม่ว่ากรรมคือเจตนาดีหรือเจตนาชั่ว ก็เป็นตัวทำให้เกิดขันธ์ที่เป็นวิบาก ทั้งในขณะปฏิสนธิและในเวลาที่ชีวิตเป็นไป เช่น สัตว์ทั้งหลายตายลงแล้ว เมื่อจะไปเกิดในภพภูมิต่างๆ เช่น ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเทวดา เป็นมนุษย์ เหล่านี้ย่อมเป็นไปด้วยอำนาจแห่งชนกกรรม

6. อุปัตถัมภกกรรม คือ กรรมสนับสนุน เป็นกรรมที่เข้าช่วยสนับสนุนหรือซ้ำเติมต่อจากชนกกรรม ทำให้สุขหรือทุกข์ที่เกิดขึ้นในขันธ์ซึ่งเป็นวิบากนั้นเป็นไปนาน เช่น บุคคลบางจำพวกกระทำอกุศลกรรมในโลกนี้ เมื่อตายไป ชนกกรรมฝ่ายอกุศลก็ทำหน้าที่ชักนำให้ไปปฏิสนธิเป็นสัตว์เดรัจฉาน เช่นเป็นเสือซึ่งมีนิสัยดุร้าย เสร็จแล้ว อุปัตถัมภกกรรมฝ่ายอกุศล ก็ทำหน้าที่ดลบันดาลให้เสือนั้นประกอบอกุศลกรรม ทำปาณาติบาตอยู่เนืองๆ อุปถัมภ์ค้ำชูบาปเก่าให้เจริญ คือให้บาปแก่กล้ามากยิ่งขึ้น ได้ทนทุกขเวทนาอยู่ในทุคติภูมินั้นนานๆ

7. อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้น คือทำให้สุขหรือทุกข์ที่เกิดในขันธ์ซึ่งเป็นวิบากนั้น ไม่เป็นไปนาน

8. อุปฆาตกรรม กรรมตัดรอน คือกรรมที่ทำหน้าที่เข้าไปตัดกรรมที่มีสภาพตรงข้ามกับตน ให้ขาดไปในปัจจุบันทันด่วน เช่น คนที่บริบูรณ์ด้วยทรัพย์ สมบัติ ลาภและยศ หากอุปฆาตกรรมฝ่ายอกุศลตามมาทันแล้ว ในยามเดียวก็จะเกิดวิบัติอันตรายต่างๆยับเยินถึงความพินาศ หรือตัดอายุให้ตายในชั่วครู่เดียว

หมวดที่ 3 ว่าโดยปากทานปริยาย คือ ลำดับความแรงในการให้ผล

9. ครุกกรรม กรรมหนัก คือกรรมที่มีผลแรงมาก ในฝ่ายกุศลได้แก่ สมาบัติ8 ในฝ่ายอกุศล ได้แก่อนันตริยกรรม มีมาตุฆาต อรหันตฆาต สังฆเภท เป็นต้น ครุกกรรมนี้ย่อมให้ผลก่อนกรรมอื่น ให้ผลแก่บุคคลที่เป็นเจ้าของกรรมในชาติที่สอง คือในชาติหน้า กรรมอื่นไม่มีอำนาจกั้นการให้ผลแห่งครุกกรรมนี้ได้ นอกจากจะเป็นครุกกรรมด้วยกันเท่านั้น

10. พหุลกรรม หรือ อาจิณณกรรม คือกรรมทำมาก ไม่ว่ากรรมดีหรือกรรมชั่ว เมื่อประพฤติมากหรือทำบ่อยๆ ก็ให้ผลได้ก่อน

11. อาสันนกรรม กรรมใกล้ตาย คือกรรมที่กระทำหรือระลึกขึ้นมาในเวลาใกล้จะตาย ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม เช่น ขณะที่จวนจะสิ้นอายุแล้วได้กระทำอกุศลกรรมฆ่าฟันผู้อื่นด้วยโทสะ แต่กลับถูกเขาฆ่าตายเสียก่อน หรือเช่นเคยทำกุศลกรรมไว้มาก ขณะที่ใกล้ขาดใจตายเกิดนึกถึงกุศลกรรมนั้นขึ้นมาได้ เป็นต้น อาสันนกรรมนี้มีลำดับการให้ผลเป็นที่สองรองจากครุกกรรม

12. กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม กรรมสักว่าทำ คือ กรรมที่ทำด้วยเจตนาอ่อนๆ หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้นๆโดยตรง เป็นกรรมเบา ผู้กระทำไม่ได้มีเจตนา ไม่ได้มีความตั้งใจเต็มที่ คล้ายกับว่าไม่เต็มใจทำ กตัตตากรรมนี้จะให้ผลในภพใดภพหนึ่ง ไม่อาจกำหนดกาลที่จะให้ผลแน่นอนลงไปได้

ถาม : ตามที่พระอาจารย์สอนว่า "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว" อยากทราบว่า เมื่อทำความดีแล้ว จะเป็นการลบล้างความผิดที่เคยทำได้หรือไม่

ตอบ : ตามหลักกฎแห่งกรรมแล้ว ลบล้างกันไม่ได้ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วเป็นกฎตายตัว อย่างไรก็ตาม กรรมชั่วเปรียบเหมือนเกลือ กรรมดีเปรียบเหมือนน้ำในภาชนะ เมื่อทำกรรมชั่วแล้วทำกรรมดีให้มากๆ ความดีเปรียบเหมือนน้ำที่เพิ่มขึ้นๆ เกลือที่มีอยู่เท่าเดิมก็ย่อมเจือจางไป หรือ เมื่อทำกรรมดีมากๆผลแห่งความดีจะออกผลก่อน กรรมชั่วที่ยังไม่ได้ออกผลก็อาจจะหมดกำลังไปก่อน เหมือนกับว่าได้รับอโหสิกรรมไป
นอกจากนี้ หากเปรียบกรรมชั่วเป็นเกลือ เกลือในปริมาณเล็กน้อยก็ช่วยปรุงรสน้ำตาล หรือเปลี่ยนผลไม้รสเปรี้ยวให้มีรสชาติหวานขึ้น ถือเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ได้เหมือนกัน เช่น บางคนสมัยเป็นวัยรุ่นเคยติดยาเสพติด เมื่อเห็นโทษสำนึกได้แล้วก็พยายามเลิก กลับตัวกลับใจหันมาสร้างกรรมดี และสามารถนำประสบการณ์ในอดีตมาเป็นบทเรียนเพื่อเตือนสติตนเองและสอนผู้อื่นได้ บางครั้งก็สามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดประสบการณ์ ให้คำแนะนำแก่ผู้อื่น ทำตัวเป็นประโยชน์แก่สังคมได้ก็มีมาก
อย่างไรก็ตาม หากว่ากรรมชั่วที่ทำเป็นกรรมหนัก ก็ต้องรับวิบากกรรม ตัวอย่างเช่นกรณีของพระโมคคัลลานะ

หลักปฏิบัติซึ่งเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาอยู่ที่ ละความชั่วทั้งปวง(ศีล) ทำแต่ความดี(สมาธิ) ชำระจิตให้สะอาด(ปัญญา)

เอวัง./

หมายเหตุ คัดลอกจากหนังสือ"รู้เท่าทันกรรม ชีวิตเป็นสุข" หน้า71-72,82-90,119-121 และหนังสือ"โชคดี ที่ได้รู้" หน้า14-16 ทั้งสองเล่มของพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก






   




 4,216 

  แสดงความคิดเห็น


RELATED STORIES




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย