ไม่เข้าใจคำว่า "จุติกับปฏิสนธิ"

 mama    

จากประโยคที่ว่า "เมื่อวิญญาณจุติก็ปฏิสนธิทันที" นั้นขอกราบเรียนถามว่า
1. จุติ หมายถึงอะไร
2. ปฏิสนธิหมายถึงอะไร

-- เหตุที่ต้องถามก็เพราะว่ากระผมเข้าใจว่า "จุติกับปฏิสนธิ"มีความหมายเหมือนกันที่แปลว่าเกิด จึงสับสนและสงสัยครับ กราบขอบคุณครับ




จุติคือการเคลื่อนจากภพหนึ่งไปสู่อีกภพหนึ่งครับหรือพูดภาษาเราๆคือตายนั้นเอง

ส่วนปฏิสนธิก็คือการเกิดจิตของสัตว์

สัตว์ทั้งหลายที่ยังต้องเวียนวายตายเกิดอยู่เมื่อจุติดวงสุดท้ายดับ

ปฏิสนธิจิตก็จะเกิดต่อทันทีครับแล้วแต่ว่าจะเกิดเป็นอะไรใน31ภพภูมินี้

ลองอ่านนี้ดูนะครับ




ถาม คนเราหากตาย วิญญาณออกจากร่าง เราจะรู้ตอนไหนว่าเราตายแล้ว

ตอบ ก่อนอื่น ขอทำความเข้าใจคำว่าวิญญาณ เสียก่อนว่า
วิญญาณนั้นได้แก่ธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์ได้นึกคิดได้เป็นอย่างเดียวกับจิต
จิตกับวิญญาณนั้นเป็นคำที่ใช้แทนกันได้
จิตที่ทำหน้าที่เกิดเรียกว่าปฏิสนธิจิต หรือปฏิสนธิวิญญาณ
จิตที่ทำหน้าที่เห็นทางตาเรียกว่า จักขุวิญญาณ
จิตที่ทำหน้าที่ได้ยินเสียงทางหูเรียกว่า โสตวิญญาณ
จิตที่ทำหน้าที่รู้กลิ่นทางจมูกเรียกว่า ฆานวิญญาณ
จิตที่ทำหน้าที่ลิ้มรสทางลิ้นเรียกว่า ชิวหาวิญญาณ
จิตที่ทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ต่างๆ ทางใจเรียกว่า มโนวิญญาณ
เพราะฉะนั้น จิตกับวิญญาณจึงเหมือนกัน เป็นคำที่ใช้แทนกันได้ มิได้มีโลกของวิญญาณที่แยกออกไปต่างหากจากจิต
คือมิได้มีโลกของวิญญาณตามที่หลายคนเข้าใจ คือมีหลายคนเข้าใจว่าสัตว์โลก โดยเฉพาะมนุษย์เมื่อตายแล้ว วิญญาณจะออกจากร่างกายไปล่องลอยหาที่เกิดหรือไปอยู่ที่ใดที่หนึ่ง เพื่อรอเวลาไปเกิดใหม่ คือรอเวลาไปเกิดเป็นมนุษย์ใหม่อีก ความจริง ความเข้าใจเหล่านั้นเป็นความเข้าใจผิด




พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ตรัสไว้เช่นนั้น พระองค์ตรัสแต่ว่า เมื่อจุติจิตของสัตว์ใดดับลง หากสัตว์นั้นยังมีเหตุปัจจัยคือกิเลสอันเป็นเหตุให้เกิดอยู่ ปฏิสนธิจิตก็จะเกิด เกิดเป็นมนุษย์อีกก็ได้ เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ได้ เกิดเป็นเทวดาก็ได้ สุดแต่กรรมที่สัตว์นั้นทำไว้จะให้ผลนำเกิด



ถ้าบาปกรรมนำเกิด ก็เกิดในทุคติภูมิ เป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกายหรือสัตว์เดรัจฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าบุญกรรมนำเกิด ก็เกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดาอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่มีการรอเวลา หรือต้องไปพักอยู่ที่ใดเลย เพราะตายแล้วเกิดทันที สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ด้วยเหตุนี้ ตอนตายจริงๆ จึงไม่มีใครรู้ว่าตนกำลังตาย เพราะจิตที่กำลังตายกับจิตที่รู้ว่าตายแล้วหรือกำลังตายนั้นเป็นจิตคนละจิตกัน
และที่คุณถามว่า คนตายตอนวิญญาณออกจากร่าง
คำว่าวิญญาณออกจากร่างก็ไม่มี เพราะวิญญาณเกิดที่ไหนก็ดับที่นั่น คือ
เกิดทางตาก็ดับทางตา เกิดทางหูก็ดับทางหู
เกิดทางจมูกก็ดับทางจมูก เกิดทางลิ้นก็ดับทางลิ้น
เกิดทางกายก็ดับทางกาย เกิดทางใจก็ดับทางใจ
เพราะฉะนั้นจึงออกไปจากร่างไม่ได้ ถ้าออกจากร่างได้ก็หมายความว่า วิญญาณไม่ดับจึงจะล่องลอยไปได้ ถ้าเช่นนั้นวิญญาณก็เป็นรูป ถึงจะล่องลอยไปไหนได้ และเมื่อวิญญาณไม่ดับล่องลอยไปได้ วิญญาณก็เป็นของเที่ยง ซึ่งผิดหลักพระพุทธศาสนาอีก
เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า วิญญาณไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และไม่เฉพาะแต่วิญญาณเท่านั้น รูป เวทนา สัญญา สังขารก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกัน ไม่มีอะไรเลยในโลกนี้ที่เที่ยง คือไม่เกิดไม่ดับ หรือเกิดแล้วไม่ดับ
อีกประการหนึ่ง จิตหรือวิญญาณเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่าง จึงล่องลอยไปไหนไม่ได้ เกิดที่ไหนก็ดับที่นั่น

________________________________________
http://84000.org/tipitaka/book/nana.php?q=23



จากประโยคที่ว่า "เมื่อวิญญาณจุติก็ปฏิสนธิทันที" นั้นขอกราบเรียนถามว่า
1. จุติ หมายถึงอะไร
2. ปฏิสนธิหมายถึงอะไร

-- เหตุที่ต้องถามก็เพราะว่ากระผมเข้าใจว่า "จุติกับปฏิสนธิ"มีความหมายเหมือนกันที่แปลว่าเกิด จึงสับสนและสงสัยครับ กราบขอบคุณครับ

โดย : mama [DT09370] 1 มิ.ย. 2552 17:44 น.





จาก พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒

จุติ [จุ-ติ, จุดติ] ก. เคลื่อน, เปลี่ยนสภาพจากกำเนิดหนึ่งไปเป็นอีกกำเนิดหนึ่ง, (มักใช้แก่เทวดา). (ป.; ส. จฺยุติ)

ปฏิสนธิ (แบบ) ก. เกิดในท้อง, ถือกําเนิด. (ป. ปฏิสนฺธิ)


http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp





จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

[343] กิจ หรือ วิญญาณกิจ 14 (กิจของวิญญาณ, หน้าที่ของจิต — functions of consciousness; psychic functions)

1. ปฏิสนธิ (หน้าที่สืบต่อภพใหม่ ได้แก่จิต 19 คือ อุเบกขาสันตีรณะ 2 มหาวิบาก 8 รูปวิบาก 5 อรูปวิบาก 4 — re-linking; rebirth-linking)


14. จุติ (หน้าที่เคลื่อนจากภพปัจจุบัน ได้แก่ จิต 19 อย่างเดียวกับในปฏิสนธิ — decease; death; shifting)

นำมาจาก คัมภีร์วิสุทธิมรรค วิสุทฺธิ. 3/29; สงฺคห. 15. (ไม่ใช่จากพระไตรปิฎก)

http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=343





จากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๔ พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๑ ธรรมสังคณีปกรณ์


[๖๗๖] ธรรมเป็นเหตุให้จุติ ปฏิสนธิ
เป็นไฉน?

กุศลธรรมและอกุศลธรรม ประเภทที่ยังมีอาสวะ ที่เป็นกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร คือ
เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์
สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นเหตุให้จุติปฏิสนธิ


http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/item.php?book=34&item=676&items=1&preline=0





ธรรมไม่เป็นเหตุให้จุติปฏิสนธิ และไม่เป็นเหตุให้ถึงนิพพาน เป็นไฉน?

วิบากแห่งกุศลธรรมและอกุศลธรรมที่เป็น กามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร โลกุตตระ
คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์
ธรรมเป็นกิริยา ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่กรรมวิบาก รูปทั้งหมด และอสังขตธาตุ

สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมไม่เป็นเหตุให้จุติปฏิสนธิและไม่เป็นเหตุให้ถึงนิพพาน





[๘๘๗] ธรรมเป็นเหตุให้จุติปฏิสนธิ เป็นไฉน?
กุศลในภูมิ ๓ และอกุศล
สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นเหตุให้จุติปฏิสนธิ






 4,147 

  แสดงความคิดเห็น


RELATED STORIES




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย