คาถาชินบัญชร กับเจ้าที่

 magnagiled    

อยากรบกวนถามผู้รู้หน่อยครับ

ว่าการสวดคาถาชินบัญชรในบ้าน

จะเป็นการรบกวนเจ้าที่เจ้าทางที่บ้านหรือเปล่าครับ

เพราะ กลัวจะเป็นการรบกวนเจ้าที่ เลยไม่กล้าที่จะสวดในบ้าน

ขอบคุณสำหรับคำตอบนะครับ   




ก็ให้สวดพุทธมนต์ แล้วแปลความหมาย พิจารณาความหมายในบทสวดบทธรรมนั้นๆ น่าจะดีกว่า อย่าไปกังวลว่าสวดมนต์แล้วทำให้เจ้าที่เจ้าทางเดือดร้อนเลย สวดไปเถอะ ( สงสัยเจ้าของกระทู้ไปอ่านหนังสือของวัด....ที่เพชรบูรณ์ กระมัง ?หนังสือเล่มนั้นเขียนผิดหลักธรรม แม้จะอ้างพระไตรปิฏก แต่ตีความที่อ้างนั้นผิดๆ ) เจ้าที่เจ้าทางหรือเทวดาที่มีสัมมาทิฏฐิเขาน่าจะมาอนุโมทนากับการสวดมนต์ซิ สวดพระปริตย์ไปเลย ไม่ต้องกังวล โดยเฉพาะอาฏานาฏิยปริตย อาฏานาฏิยสูตร พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย มหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๑๖ หน้าที่ ๑๒๓ มีเรื่องที่จะยกมาพอสังเขปดังนี้
อาฏานาฏิยสูตร
เรื่องท้าวจาตุมหาราช
[๒๐๗] ข้าพเจ้า (พระอานนท์เถระเจ้า) ได้สดับมาอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้เมืองราชคฤห์. ครั้งนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ตั้งการคุ้มครองไว้ทั้ง ๔ ทิศ ตั้งกองทัพไว้ทั้ง ๔ ทิศ ตั้งการป้องกันไว้ทั้ง ๔ ทิศ ด้วยเสนายักษ์กองใหญ่ ด้วยเสนาคนธรรพ์กองใหญ่ ด้วยเสนากุมภัณฑ์กองใหญ่และด้วยเสนานาคกองใหญ่ เมื่อล่วงราตรีไปแล้ว มีรัศมีงามยิ่ง ยังภูเขาคิชฌกูฏทั้งสิ้นให้สว่างไสว ....
[๒๐๘] ท้าวเวสวัณมหาราชประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยักษ์ชั้นสูงบางพวกมิได้เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าก็มี ยักษ์ชั้นสูงบางพวกที่เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าก็มี ยักษ์ชั้นกลางที่ไม่เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าก็มี ยักษ์ชั้นกลางที่เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าก็มี ยักษ์ชั้นต่ำที่ไม่เสื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าก็มี ยักษ์ชั้นต่ำที่เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าก็มี.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โดยมากยักษ์มิได้เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย
ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงธรรม เพื่องดเว้นจากปาณาติบาต ทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจากอทินนาทาน ทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจากมุสาวาท ทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท. แต่โดยมากพวกยักษ์ มิได้งดเว้นจากปาณาติบาต มิได้งดเว้นจากอทินนาทาน มิได้งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจารมิได้งดเว้นจากมุสาวาท มิได้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ข้อนั้นจึงไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของยักษ์เหล่านั้น. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าบางพวกย่อมเสพเสนาสนะอันเป็นราวไพร ในป่า มีเสียงน้อย มีเสียงดังน้อยปราศจากลมแต่ชนผู้เดินเข้าออก ควรแก่การทำกรรมอันเร้นลับของมนุษย์ควรแก่การหลีกเร้น ยักษ์ชั้นสูงบางพวกมีอยู่ในป่านั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงเรียนอาฏานาฏิยรักษ์ เพื่อให้ยักษ์พวกที่ไม่เลื่อมใสในคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านี้เลื่อมใส เพื่อคุ้มครองเพื่อรักษา เพื่อไม่เบียดเบียน เพื่ออยู่สำราญของภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทั้งหลายเถิด พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับโดยดุษณีภาพ.
ลำดับนั้น ท้าวเวสวัณมหาราช ทรงทราบการทรงรับของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วได้ทรงกล่าวอาฏานาฏิยรักษ์นี้ ในเวลานั้นว่า…..
( กล่าวอย่างย่อๆ ลักษณะที่ว่า ขอกราบนอบน้อมแก่พระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ มีพระโคดมพุทธเจ้าเป็นองค์สุดท้าย และ กล่าวการอ่อนน้อมของท้าวมหาราชทั้ง ๔ ที่เคารพนอบน้อมแด่พระพุทธองค์ )
นอกจากนี้ในหน้าที่ ๑๓๕ แสดงชัดเจนดังนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ อมนุษย์ทั้งหลาย ดุร้าย ร้ายกาจ ทำเกินเหตุมีอยู่ อมนุษย์เหล่านั้นไม่เชื่อท้าวมหาราช ไม่เชื่อยักษ์เสนาบดี ของท้าวมหาราช ไม่เชื่อถ้อยคำของรองยักษ์เสนาบดีของท้าวมหาราช. ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ อมนุษย์เหล่านั้นแล ท่านกล่าวว่า ชื่อว่าเป็นข้าศึกศัตรูของท้าวมหาราช. เหมือนโจรทั้งหลาย ในแว่นแคว้นของพระราชามคธ โจรเหล่านั้น ไม่เชื่อพระราชามคธ ไม่เชื่อเสนาบดีของพระราชามคธ ไม่เชื่อถ้อยคำของเสนาบดีของพระราชามคธ ไม่เชื่อรองเสนาบดีของพระราชามคธ ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ มหาโจรเหล่านั้น ท่านกล่าวว่าชื่อว่า เป็นข้าศึก ศัตรูของพระราชามคธ ฉันใด ก็อมนุษย์ทั้งหลาย ดุร้าย ร้ายกาจ ทำเกินกว่าเหตุมีอยู่ อมนุษย์เหล่านั้น ไม่เชื่อท้าวมหาราช ไม่เชื่อยักขเสนาบดีของท้าวมหาราช ไม่เชื่อถ้อยคำของรองยักขเสนาบดีของท้าวมหาราช ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ อมนุษย์เหล่านั้นแล ท่านกล่าวว่าเป็นข้าศึกศัตรูของท้าวมหาราชฉันนั้น.ก็อมนุษย์ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นยักษ์ เป็นยักษิณี เป็นบุตรยักษ์ .....ฯลฯ เป็นผู้มีจิตประทุษร้าย พึงเดินตามภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้เดินอยู่ พึงยืนใกล้ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกา ผู้ยืนอยู่ พึงนั่งใกล้ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรือ อุบาสิกา ผู้นั่งอยู่ พึงนอนใกล้ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้นอนอยู่. พึงยกโทษ พึงคร่ำครวญ พึงร้อง แก่ยักษ์ มหายักษ์ว่า ยักษ์นี้สิง ยักษ์นี้ติดตาม ยักษ์นี้รุกราน ยักษ์นี้เบียดเบียน ยักษ์นี้ทำให้เดือดร้อน ยักษ์นี้ทำให้เกิดทุกข์ ยักษ์นี้ไม่ปล่อย ดังนี้.
๒๑๖] พึงยกโทษ พึงคร่ำครวญ พึงร้องแก่ยักษ์ มหายักษ์ เสนาบดี มหาเสนาบดี เหล่านี้ว่า ยักษ์นี้สิง ยักษ์นี้ติดตาม ยักษ์นี้รุกราน ยักษ์นี้เบียดเบียน ยักษ์นี้ทำให้เดือดร้อน ยักษ์นี้ทำให้เกิดทุกข์ ยักษ์นี้ไม่ปล่อย ดังนี้.
[๒๑๗] ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ อาฏานาฏิยรักษ์นี้แล เพื่อคุ้มครองเพื่อรักษา เพื่อไม่เบียดเบียน เพื่อความอยู่สำราญของภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย. ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ขอโอกาสบัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย มีกิจมาก มีธุระที่จะต้องทำมาก ขอกราบทูลลาไป. ดูก่อนท้าวมหาราชทั้งหลาย พวกท่านจงสำคัญซึ่งกาลอันควร ณ บัดนี้เถิด.ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ลุกจากอาสนะ ไหว้เรา แล้วกระทำประทักษิณแล้วอันตรธานไป ณ ที่นั้นเอง. แม้พวกยักษ์เหล่านั้นก็ลุกจากอาสนะ บางพวกไหว้เรา กระทำประทักษิณแล้วอันตรธานไป ณ ที่นั้นเอง บางพวกปราศรัยกับเรา ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันแล้ว ก็อันตรธานไป ณ ที่นั้นเอง บางพวกประนมอัญชลีไปทางที่เราอยู่ แล้วอันตรธานไป ณ ที่นั้นเอง บางพวกประกาศชื่อและโคตรแล้วอันตรธานไป บางพวกนั่งนิ่งแล้วอันตรธานไป ณ ที่นั้นเอง. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเรียนอาฏานาฏิยรักษ์ จงขวนขวายอาฏานาฏิยรักษ์ จงทรงอาฏานาฏิยรักษ์ไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาฏนาฏิยรักษ์นี้ประกอบด้วยประโยชน์ เพื่อคุ้มครอง เพื่อรักษา เพื่อความไม่เบียดเบียน เพื่อความอยู่สำราญ แห่งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพุทธพจน์นี้แล้ว. ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้แล.

จบอาฏานาฏิยสูตร
แสดงได้ชัดเจนว่า เทวดานิสัยดีที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ ก็มี นิสัยไม่ดีเป็นมิจฉาทิฏฐิก็มี ท้าวเวสสุวรรณก็ทรงแนะนำ อาฏานาติยะ แก่พระพุทธองค์เพื่อว่าพุทธบริษัทจะได้สวดเพื่อป้องกันภัยจากอมนุษย์ที่นิสัยไม่ดี หากอมนุษย์ตนใดทำร้ายผู้สาธยาย ย่อมได้รับโทษจากเทพผู้ใหญ่ ดังนั้นการสวดมนต์แล้วอมนุษย์ไม่ชอบใจแสดงว่าเป็นเทวดาพาลมิจฉาทิฏฐิ เพราะความกลัวว่าเทวดาพาลจะเดือดร้อน เราก็เลยไม่ยอมสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยซึ่งเป็นสิ่งที่ประเสริฐสูงสุด นี้เป็นสิ่งที่ควรหรือ ?
( หมายเหตุ คำว่า พึงยกโทษ นี้หมายถึง การกล่าวยกอ้างโทษ ภาษาชาวบ้านคือ ทำผิดในข้อหาไม่ได้หมายความว่า การให้อภัย อย่างที่เราชาวบ้านใช้กัน )
หลักฐานที่นำมาแสดงนี้ชัดเจนแล้วว่า การสวดพระปริตรต่างๆนั้น สวดได้ อมนุษย์หรือเทวดาชั้นไหนๆจะไม่พอใจก็เรื่องของเขา หน้าที่ของเราคือการเจริญกุศล ผู้ที่ขัดขวางไม่ให้คนทำความดีอย่างถูกต้อง ชื่อว่าทำบาปกรรม การกล่าวตู่พุทธพจน์หรือบิดเบือนพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ชื่อว่ามีโทษมาก และสามารถนำเกิดในนรกได้ เช่นเดียวกับเรื่องของ ปลากปิล อีกประการหนึ่งโดยธรรมดาแล้ว คนที่ทำความดีมักเป็นที่ไม่ชอบใจของคนพาล แต่เป็นที่ชอบใจของบัณฑิต คนที่ทำความชั่วมักเป็นที่ชอบใจของคนพาล แต่ไม่เป็นที่ชอบใจของบัณฑิต นี้เป็นเรื่องธรรมดา คนมีทั้งคนดีและคนชั่ว เทวดาก็มีทั้งเทวดาสัมมาทิฏฐิ และมิจฉาทิฏฐิ เช่นกัน


• ขอเชิญชวนชาวพุทธร่วมเดินทางไปกราบสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ณ ประเทศอินเดีย-เนปาล

• ฝึกสมาธิง่ายๆ 5 นาที ตามแบบฉบับคุณหมอสันต์ (5 Minutes Meditation)

• กากับนกเค้า (อุลูกชาดก)

• มาฆปุรณมีบูชา

• ธรรมให้รู้ : ตอนที่96 - รู้สึกเหมือนตัวลอย โดย พระมหาวรพรต กิตติวโร

• องค์เทพ คืออะไรกันแน่?

RELATED STORIES




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย