เชิญร่วมเขียน...เรียงความแก้กระทู้ธรรม

 ambass99    

 ปัญหาวิชา เรียงความแก้กระทู้ธรรม นักธรรมชั้นตรี

สอบในสนามหลวง

วันพุธที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๑ 


*******************

 สพฺเพสํ สงฺฆภูตานํ สามคฺคี วุฑฺฒิสาธิกา.

ความพร้อมเพรียงของปวงชนผู้เป็นหมู่ ยังความเจริญให้สำเร็จ (ส.ส.) 


***************************


 แต่งอธิบา ยให้สมเหตุผล อ้างสุภาษิตอื่นมาประกอบด้วย ๑ ข้อ

และบอ กชื่อคัมภีร์ที่มาแห่งสุภาษิตนั้นด้วย สุภาษิตที่อ้างมานั้น

ต้องเรียงเชื่อมความให้สนิทติดต่อสมเป็นเรื่องเดียวกับกระทู้ตั้ง

ชั้นนี้ กำหนดให้เขียนลงในใบตอบ ตั้งแต่ ๒ หน้า (เว้นบรรทัด) ขึ้นไป. 



******************************




โครงสร้างการแต่งกระทู้ธรรม นักธรรมชั้นตรี
*****************************


(วางกึ่งกลางหน้ากระดาษ)

(สุภาษิต) ......................................................................................
(คำแปล) ........................................................................................
.......................................................................................


(ย่อหน้า) บัดนี้ จะได้อธิบายขยายเนื้อความแห่งกระทู้ธรรมสุภาษิตที่ได้ลิขิตไว้
ณ เบื้องต้นพอเป็นแนวทางการปฏิบัติและศึกษา สำหรับผู้สนใจ เป็นลำดับไป

(ย่อหน้า) ความว่า.................................................................................
........................................................................................................
........................................................................................................
........................................................................................................
........................................................................................................
........................................................................................................

****** ฯลฯ **************

เขียนอธิบายไป ประมาณ ๑ หน้ากระดาษ
..................................................................... สมกับสุภาษิตที่มา
ใน .............................................ว่า



(วางกึ่งกลางหน้ากระดาษ)

(สุภาษิต)...................................................................
(คำแปล) ..................................................................
................................................................


(ย่อหน้า) ความว่า.................................................................................
........................................................................................................
........................................................................................................
........................................................................................................
........................................................................................................
........................................................................................................

*** ฯลฯ *** เขียนอธิบายไป ประมาณ ๑ หน้ากระดาษ.


(ย่อหน้า) สรุปความว่า...........................................................................
........................................................................................................
........................................................................................................
........................................................................................................
........................................................................................................
........................................................................................................
สมดังสุภาษิตที่ยกขึ้นเป็น นิกเขปบท ณ เบื้องต้นว่า
(วางกึ่งกลางหน้ากระดาษ) สพฺเพสํ สงฺฆภูตานํ สามคฺคี วุฑฺฒิสาธิกาติ
ดังพรรณนามาฉะนี้แล.


**********************************



หลักการ เรียงความแก้กระทู้ธรรม นักธรรมชั้นตรี
*******************************

วัตถุประสงค์การเรียนการสอน

๑. ส่งเสริมความเจริญทางด้านจินตนาการ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของผู้เรียน

๒. ทำให้ผู้เรียนรู้จักลำดับความคิด สามารถถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของตนออก
มาให้ผู้อื่นเข้าใจตามต้องการได้

๓. รู้จักเลือกถ้อยคำสำนวนโวหารสำนวนได้ถูกต้องตามหลักภาษา

๔. ส่งเสริมให้ผู้เรียนเขียนได้ถูกต้องตามแบบที่นิยม


วัตถุประสงค์เชิงคุณธรรม

๑. ทำให้ผู้เรียนเกิดความซาบซึ้งในคุณค่าของธรรม

๒. ทำให้ผู้ เรียนได้เข้าใจถึงผลเสีย กล่าวคือคุณและโทษของ
การปฏิบัติตามและไม่ ปฏิบัติตามธรรมะ

๓. ให้เข้าใจในชีวิตและรู้จักแสวงหาความสุขโดยมีธรรมะเป็นเครื่องชี้แนวทาง

๔. ช่วยพัฒนาด้านจิตใจของมนุษย์ให้รู้จักผิดชอบชั่วดี ละความชั่วประกอบความดี
โดยพยายามงดเว้นความชั่วโดยเด็ดขาด


หลักสำคัญในการเขียนเรียงความแก้กระทู้ธรรม ๓ ประการ
**************************************

๑. ตีความหมาย

๒. ขยายความให้ชัดเจน

๓. ตั้งเกณฑ์อธิบาย

ตีความหมาย

ได้แก่การให้คำจำกัดความของธรรมนั้น ว่ามีความหมายอย่างไรเช่นพุทธภาษิต
ที่ว่า “กลฺ- ยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ” ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้ผลดี
ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้ผลชั่วดังนี้ ก็ให้คำจำกัดความคำว่า “กรรมดี คืออะไร” “กรรมชั่ว
คืออะไร” ในที่นี้กรรมดีหมายเอากุศลกรรมบถ กรรมชั่วหมายถึง อกุศลกรรมบถ ฯลฯ

ขยายความให้ชัดเจน

ได้แก่การขยายเนื้อความของคำซึ่งได้ให้ความหมายไว้แล้ว คือกุศลกรรมบถ และ อกุศลกรรมบถ ว่ามีอย่างเท่าไร (อย่างละ ๑๐ ประการ) เป็นต้น

ตั้งเกณฑ์อธิบาย

ได้แก่การวางโครงร่างที่จะอธิบายเนื้อความของเนื้อหาว่ามีอะไรบ้าง มีผลดีผลเสีย
อย่างไร มีข้อเปรียบเทียบหรือมีตัวอย่างมาประกอบให้เห็นเด่นชัดได้หรือไม่ และ
ควรจะนับถึงผลกรรมนั้น ๆ อย่างไร จึงจะทำให้ผู้อ่านผู้ฟังคล้อยตาม โดยเรียงเป็นลำดับ
ขั้นตอนก่อนหลัง ไม่สับสนวกไปวนมา

หลักเกณฑ์สำคัญในการอธิบาย ๓ ประการ คือ

๑. คำนำ

๒. เนื้อเรื่อง

๓. คำลงท้าย (สรุป)

คำนำ
เป็นการอารัมภบทพจนคาถาที่เป็นบทตั้ง (กระทู้ หรือที่เรียกว่า อุเทศ) เพื่อเป็นบทนำ
ในการเรียงความ (คำนำของการเรียงความแก้กระทู้ธรรม ควรเขียนประมาณ
2-3 บรรทัด)

เนื้อเรื่อง
เป็นการขยายเนื้อความของกระทู้ที่ตั้งไว้ เรียกว่าแก้ หรือเรียกว่า นิเทศ การนิเทศ
หรือขยายความเนื้อเรื่องนั้นจะต้องให้รสชาติเนื้อหาสาระแก่ผู้ อ่าน ให้ผู้อ่านเข้าใจ
ในสิ่งที่เราจะอธิบาย ไม่ทำให้ผู้อ่านสับสนไขว้เขว (ควรเขียนอธิบายให้ได้ประมาณ
10 - 15 บรรทัด) แล้วจึงนำเอาภาษิตมาเชื่อม หรืออ้างภาษิตมาเพื่อสนับสนุน
เรียกว่า กระทู้รับ โดยนักธรรมศึกษาชั้นตรี มีข้อกำหนดให้นำ สุภาษิตมาเชื่อมรับได้
อย่างน้อย ๑ ภาษิต ภาษิตที่นำมาอ้างสนับสนุนห้ามไม่ให้ซ้ำกัน แต่จะซ้ำที่มาได้
แล้วอธิบายภาษิตที่ยกมาสนับสนุนให้เนื้อความกลมกลืนกัน (เขียนอธิบายประมาณ
5 - 7 บรรทัด กำลังพอดี)

คำลงท้าย หรือ บทสรุป หรือ เรียกว่าปฏินิเทศ
หมายถึงการรวบรวมใจความที่สำคัญของเนื้อหาที่ได้อธิบายมาแล้ว
สรุปลงมีการแต่งกระทู้ธรรมอยู่ ๒ แบบ คือ

๑. แบบตั้งวง คืออธิบายความหมายของธรรมข้อนั้น ๆ เสียก่อนแล้ว
จึงขยายความออกไป

๒.แบบตีวง คือบรรยายเนื้อความไปก่อนแล้ว จึงวกเข้าหาความหมายของกระทู้
ธรรมนั้น ส่วนมากผู้แต่งกระทู้ธรรม มักจะนิยมแต่งแบบที่๑ คือ แบบตั้งวง อธิบาย
ความหมายภาษิตนั้นก่อนแล้วจึงขยายความให้ชัดเจนต่อไป.

ภาษาในการใช้

๑. ใช้ภาษาเขียนที่ถูกต้อง มีประธาน มีกริยา มีกรรม

๒. ไม่ใช้ภาษาตลาด ภาษาแสลง

๓. ไม่ใช้ภาษาพื้นเมือง หรือภาษาท้องถิ่น

๓. ไม่ใช้ภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ เป็นต้น

สำนวนในการพรรณนา อธิบายความ
ใช้สำนวนแบบเทศนาโวหาร มีหลักการเขียน ดังนี้

๑. ข้อความที่เขียนนั้นจะต้องมีเหตุผลใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงได้

๒. มีอุทาหรณ์และหลักคติธรรม

๓. ผู้เขียนจะต้องแสดงให้เห็นว่า ตนมีลักษณะและคุณสมบัติพอเป็นที่เชื่อถือได้


การอธิบายความแบบโวหาร มี ๔ อย่างคือ

๑. พรรณนาโวหาร ได้แก่ การพรรณนาความ คือ เล่าเรื่องที่ได้เห็นมาแล้ว
ด้วยความมุ่งหวังให้ไพเราะ เพลิดเพลินบันเทิง

๒. บรรยายโวหาร ได้แก่ การอธิบายข้อความที่ย่อซึ่งยังเคลือบแคลงอยู่
ให้แจ่มแจ้งหรือพิสดาร

๓. เทศนาโวหาร ได้แก่ การแต่งทำนองการสอน คือ ชี้แจงหลักธรรมนั้น

๔. สาธกโวหาร ได้แก่ การบรรยายข้อเปรียบเทียบ คือ นำข้ออุปมาอุปไมย
มาเทียบเคียง


หลักย่อ ๆ ที่ควรจำ เป็นเกณฑ์อธิบายในการแต่งกระทู้

๑. วิเคราะห์ศัพท์ คือ การแสดงความหมายของกระทู้ตั้งแล้ววางเค้าโครง
ที่จะแต่งต่อไป

๒. ขยายความ คือ การอธิบายให้กว้างออกไปตามแนวกระทู้ตามเหตุและผล

๓. เปรียบเทียบ คือ ยกข้อความที่ตรงข้ามกันมาเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นได้
ชัดในสิ่งที่พูดไป

๔. ยกสุภาษิตรับ คือ การนำกระทู้สุภาษิตมารับมาอ้าง

๕. ยกตัวอย่าง คือ ยกตัวอย่างธรรมะ หรือบุคคล สถานที่มาเป็นตัวอย่าง

๖. สรุปความ คือ ย่อความที่กล่าวมาแล้วนั้นให้เข้าใจง่าย ก่อนที่จะจบกระทู้


**********************************




กราบนมัสการ
ร่วมส่งเรียงความดังนี้เจ้าค่ะ..@^_^@.



*โครงสร้างการแต่งกระทู้ธรรม นักธรรมชั้นตรี*

สพฺเพสํ สงฺฆภูตานํ สามคฺคี วุฑฺฒิสาธิกา.

“ความพร้อมเพรียงของปวงชนผู้เป็นหมู่ ยังความเจริญให้สำเร็จ”


บัดนี้ จะได้อธิบายขยายเนื้อความแห่งกระทู้ธรรมสุภาษิตที่ได้ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้นพอเป็น
แนวทางการปฏิบัติและศึกษา สำหรับผู้สนใจ เป็นลำดับไป

ความว่า ในหมู่ชน ที่อาศัยในบริเวณ หรือประเทศเดียวกัน คนย่อมอยู่รวมกันเป็น
จำนวนมากมาย และต่างก็ต้องการมีวิถีชีวิต และการดำรงชีวิตอยู่ได้โดยสงบสุข
ความสงบสุขมิอาจอยู่ดำรงตนเพียงโดดเดียว ลำพัง โดยไม่ยุ่งเกี่ยว หรือไม่มีความสัมพันธ์
กับผู้คนในชุมชนเดียวกัน หรือประเทศเดียวกันนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้

ภัยต่างๆ จากชนกลุ่มอื่น หรือประเทศอื่นที่จ้องจะรุกรานเอาทรัพยากร หรือภัยธรรมชาติที่ก่อตัว
โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้นั้น คนเพียงผู้เดียว หรือคนเพียงกลุ่มเล็กๆ ย่อมไม่มีกำลังเพียงพอใน
การต้านทาน หรือปกป้องได้

แม้แต่ การเบียดเบียนซึ่งกันและกันในหมู่ชนที่อยู่อาศัยในชุมชนเดียวกัน หรือในประเทศเดียวกัน
ก็ย่อมเกิดขึ้นได้ด้วยความโลภ โกรธ หลง เป็นธรรมดานั้น ก็ใช่ว่าจะหลีกเลี่ยงได้เช่นกัน
หากไม่ร่วมมือ-ร่วมใจในการวางกรอบวินัย คือกฎหมาย แล้วให้ทุกคนพร้อมเพียงปฏิบัติในกรอบ
วินัย กฎหมายนี้ให้เหมือนๆกัน

ขอยกตัวอย่าง ในเรื่องของความสมัครสมาน ความพร้อมเพียง ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
ในสมัยพุทธกาลเมื่อครั้งทรงไปห้ามพระญาติทั้งสองฝ่าย คือศากยะ และโกลิยะ ไม่ให้รบ ฆ่าฟัน
ด้วยข้อวิวาทในการแย้งใช้น้ำในแม่น้ำโรหิณี ในครั้งนั้น ได้ทรงแสดงธรรมเป็นชาดกไว้หลายเรื่อง
เพื่อยกตัวอย่างให้พระญาติทั้งสองฝ่าย ได้เห็นโทษของการแตกความสามัคคี และเห็นประโยชน์
ของความสามัคคี ทำให้ครั้งนั้น จึงถึงความสงบได้ ไม่เกิดสงครามรบ ฆ่าฟันกัน อันย่อมนำมาซึ่ง
ความทุกข์ความลำบากอย่างยิ่ง

ขอยกตัวอย่าง ๒ ชาดกที่พระพุทธองค์ตรัสเล่ามาดังเรื่อง …

กุณาลชาดก แสดงถึงครั้งเมื่อพระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็น นกกระจาบ นำพาบริวารนกกระจาบทั้งหลาย
พ้นเงื้อมตะข่ายของพรานนก ด้วยการให้นกที่ติดตะข่ายจำนวนมากๆนั้น บินขึ้นพร้อมเพียงกัน
จึงสมกับพุทธศาสนสุภาษิต ขุททกนิกาย ชาดก ที่ว่า

“สะมัคคานัง ตะโป สุโข”
ความพร้อมเพียงของผู้พร้อมเพียง ให้เกิดสุข”

แต่เมื่อครั้งต่อมา พรานนกไม่ได้วางตะข่ายดักไว้ ๒-๓ วัน เพื่อให้บรรดานกวางใจในภัย เพื่อหวังให้
นกแตกความสามัคคี
ครั้นเมื่อนกวางใจว่าอยู่อย่างสงบสุข นกย่อมมียึดถือต่างกัน (มานะ ทิฏฐิ) ย่อมวิวาทกัน
เกิดกระทบกระทั่งกันซ้ำซาก
เมื่อพรานนกมาดักอีกครั้ง นกทั้งหลายก็ได้แตกความสามัคคีแล้วหนอ จึงเกี่ยงกัน ไม่กระทำด้วย
ความพร้อมเพียงอย่างเคย ในที่สุดก็ตกอยู่ในเงื้อมมือแห่งความพินาศ

พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ มหาบพิตรทั้งหลาย ชื่อว่า การทะเลาะกันและกันแห่งพระญาติทั้งหลาย
ไม่สมควร จริงอยู่ในกาลก่อนในเวลาสามัคคีกัน แม้สัตว์เดียรจฉานทั้งหลายก็ครอบงำปัจจามิตร
ถึงความสวัสดี ในกาลใดถึงการวิวาทกัน ในกาลนั้น ถึงความพินาศใหญ่หลวง”


ชาดกเรื่องที่สอง
รุกขเทวดาชาดก แสดงถึงครั้งเมื่อพระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็น รุกขเทวดา อยู่ในป่ารัง ได้บอกให้
เหล่าเทวดาที่ได้รับอนุญาตจากท้าวเวสสวรรณที่เป็นใหญ่ในหมู่เทวดา ไปจับจองต้นไม้เป็นวิมานอาศัย

รุกขเทวดาที่เป็นพระโพธิสัตว์ ได้บอกหมู่เทวดาทั้งหลาย ให้อาศัยร่วมกันอยู่ในแถบที่มีต้นไม้ใหญ่
อันใกล้ชิดกัน ในส่วนของเทวดาที่เชื่อ ก็ได้มารวมอยู่ร่วมใกล้ชิดกัน
แต่เทวดาบางส่วนก็ เห็นแก่ลาภ สักการะ หรือต้องการตระหง่านโดดเด่น ก็ไปอาศัยต้นไม้ด้วย
ความโดยเดี่ยวไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร ในบริเวณเมืองบ้าง ใกล้เมืองบ้าง ในหมู่ชุมชนมนุษย์บ้าง
ครั้นกาลนั้น เมื่อมีพายุกระหน่ำ ในป่ารังที่เทวดาอาศัยกันอยู่ใกล้ชิด รากและกิ่งก้านเกาะเกี่ยว
ต้านแรงได้ไม่อาจโค่นล้ม ในส่วนของเทวดาที่อาศัยโดยโดดเดี่ยวใกล้แหล่งมนุษย์นั้นก็ไม่อาจ
ทนอยู่ได้ จึงถึงถูกโค่นล้ม สมดังพุทธภาษิตที่ว่า..

“ สาธุ สัมพะหุลา ญาตี อะปิ รุกขา อรัญญชา
วาโต วะหะติ เอกฏะฐัง พรหันตัมปิ วะนัปปะตึ”


“หมู่ญาติยิ่งมีมากได้ยิ่งดี แม้ถึงไม้เกิดในป่า เป็นหมวดหมู่ได้เป็นดี
เพราะต้นไม้ที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยว แม้จะใหญ่โตเป็นเจ้าป่า ย่อมถูกลมแรงโค่นได้”

ชาดกทั้งสองเรื่องนี้ทำให้เห็นถึงว่า การจะอยู่ร่วมกัน อย่างสันติ ด้วยความสงบสุขเช่นนี้ได้
ล้วนต่างต้องพึงพาอาศัย เกื้อกูลกันและกัน
ก็ด้วยความสงบ ความสุขนั้น ย่อมอิงอาศัย ย่อมเป็นเหตุ เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน
จึงกล่าวได้ว่าคนในชุมชน ประเทศนั้นๆ ล้วนแล้วให้เป็นเหมือนมิตร ให้เป็นเหมือนหมู่ญาติเดียวกันทั้งสิ้น

อาจจะกล่าวได้ว่า การเริ่มต้นในความสามัคคีนั้น ต้องเริ่มจากตัวเรา
แล้วค่อยๆขยายไปจนถึงประเทศ(ถิ่นที่อยู่)

เริ่มต้นด้วยตัวเราอย่างไร ?
เริ่มด้วย…. การเห็นพ้องต้องกันในแต่ละบุคคลก่อนว่า ..
ความสำคัญ และประโยชน์อย่างยิ่งในการร่วมกันกระทำ(ด้วยแรงกาย แรงใจร่วมคิด ร่วมทำ)
เพื่อนำไปสู่เป้าหมายเดียวกันนั้นคือ ความสำเร็จ อันนำมาซึ่งความมั่นคงและความสงบสุขอันยั่งยืนนาน

อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเห็นได้ชัดถึงประโยชน์ของความสามัคคี และโทษของการขาด
ความสามัคคี ขาดความพร้อมเพียงคือ ..

ในสมัยพุทธกาลเมื่อครั้งพระเจ้าอาชาตศัตรู แห่งแคว้นมคธต้องการแผ่ขยายอาณาจักร ด้วยการวาง
แผนรุกรานแคว้นวัชชี แต่ขณะนั้นกษัตริย์ในแค้วนนี้ มีความสามัคคี ด้วยการประชุมพร้อมเพียงกัน
อย่างสม่ำเสมอ ย่อมมีความเข้มแข็งในการแก้ไขข้อบกพร่อง และปกป้อง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
หากพระเจ้าอาชาตศัตรูจะใช้กำลังเข้าตี ทำสงครามในขณะนั้นย่อมอาจจะนำมาซึ่งความสูญเสีย
และอาจพ่ายแพ้ได้

พระเจ้าอาชาตศัตรูจึงประชุมกับมหาอำมาตย์ เพื่อวางแผน โดยสรุปว่าต้องใช้กลอุบายให้กษัตริย์
ในแคว้นวัชชีแตกความสามัคคีเสียก่อน ดังนั้นจึงส่งอำมาตย์คนหนึ่งอันเป็นที่วางพระทัยของ
พระองค์(พระเจ้าอาชาติศัตรู) ไปเป็นจารชนที่แคว้นวัชชี วางตนให้เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจ ใกล้ชิดสนิทสนม
ต่อกษัตริย์ลิจฉวีในแคว้นวัชชี จากนั้นก็แสร้งทำกลอุบายหลอกให้แตกความสามัคคี ด้วยความริษยา
ด้วยโทสะ ซึ่งกันและกัน ทะเลาะ วิวาทะกันบ้างจนในที่สุด กษัตริย์ในแคว้นวัชชีก็แตกความสามัคคี
ไม่มาประชุมพร้อมเพียงกันเหมือนดังเคยปฏิบัติกันมาช้านาน เมื่อมีภัย ก็วางเสีย แกล้งไม่สนใจรับรู้
ในการแก้ปัญหา และช่วยเหลือกันและกัน
ในที่สุด พระเจ้าอาชาตศัตรู ก็นำกองทัพตีแคว้นวัชชีได้โดยง่าย


ดังตัวอย่างข้างต้น จะเห็นว่า ใช่ว่า แต่ละคนต้องมีเป้าหมาย และจุดยืนอันเดียวกันเสียก่อนแต่
ประการเดียว หากว่าต่างคน ต่างคิด ต่างคนต่างกระทำ ถึงแม้จะมีเป้าหมายเดียวกัน แม้เห็น
ประโยชน์อย่างเดียวกัน ก็จริงอยู่ แต่นั้นก็ไม่อาจเป็นกำลังขับเคลื่อนพอ ในกระทำให้สำเร็จได้เช่นกัน
และยิ่งหากมีการทะเลาะวาทกันแล้ว นั่นเป็นการบั่นทอนกำลัง และนำซึ่งความพินาศ

ความสมัครสมานสามัคคี จึงเป็นหนทางเดียว ที่จะนำพาชุมชน ประเทศนั้นๆ ให้อยู่ได้อย่างสงบสุข
ให้มีการดำเนินตามวิถีชีวิตไปได้อย่างปลอดภัย แล้วเมื่อความสงบเกิดขึ้น การวางใจ ความไม่กังวลใจ
ในการถูกเบียดเบียนทั้งทรัพย์สิน และการถูกประทุษร้าย(รุกราน) ก็จะนำมาซึ่งความสงบ
นำมาซึ่งการมีเวลา การมีโอกาสในการวางรากฐานอันมั่นคง และประกอบกิจกรรมอื่นๆ เพื่อพัฒนาตนเอง
ทั้งทางโลก และทางธรรม ขยายไปยัง คนใกล้ชิด คนในครอบครัว ในที่สุดก็จะขยายวงกว้างขึ้น
ย้อนไปยังชุมชน ประเทศของตน ไปสู่ประเทศอื่นๆ แล้วอาจจะย้อนไปสู่ความสงบสุขของโลก


ดังนี้ ความสมัครสมานสามัคคี จะต้องถูกขับเคลื่อนด้วยการร่วมกันคิด ร่วมกันกระทำอย่างพร้อมเพียง
เป็นไปในแนวทางเดียวกัน นี้ย่อมสมเหตุสมผลตามพุทธศาสนสุภาษิตที่ยกขึ้นไว้เป็น นิกเขปบท ว่า

“ สพฺเพสํ สงฺฆภูตานํ สามคฺคี วุฑฺฒิสาธิกา.
ความพร้อมเพรียงของปวงชนผู้เป็นหมู่ ยังความเจริญให้สำเร็จ ”

ดังพรรณนามาฉะนี้แล



ชุติมา



 4,165 

  แสดงความคิดเห็น


RELATED STORIES




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย