พระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้า พระไตรปิฎก หัวข้อธรรม การปฏิบัติธรรม ศาสนพิธี วันสำคัญทางศาสนา ทำเนียบวัดไทย พระพุทธศาสนาในประเทศไทย
 
หน้าแรก ปางพระพุทธรูป
พระพุทธศาสนาในไทย
ประวัติพระสงฆ์ไทย
สมเด็จพระสังฆราช
นิกายคณะสงฆ์ไทย
พระพุทธรูปปางต่างๆ
พระประจำวัน
พระประจำเดือน
พระประจำปี
พระพุทธรูปสำคัญ
ปางพระพุทธรูป

๒๖.ปางประทานเอหิภิกขุ
   พระพุทธรูปปางประทานเอหิภิกขุ วัดสุทัศนเทพวาราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวายกตั้งขึ้น ฝ่าพระหัตถ์แบ นิ้วพระหัตถ์งองุ้มลงเล็กน้อย

ความเป็นมาของปางประทานเอหิภิกขุ
   เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาเสร็จแล้ว โกณฑัญญพราหมณ์ได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบันบุคคลและทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้โกณฑัญญพราหมณ์เป็นภิกษุด้วยพระวาจา ความว่า "เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด" ซึ่งถือเป็นการบวชด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นครั้งแรกในพระพุทธศาสนา และเป็นผลให้เกิดเหตุการณ์สำคัญ ๓ ประการ ในวันอาสาฬหบูชา หรือ วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ นี้ คือ ( ๑ ) พระพุทธองค์ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตร ( ๒ ) มีพระอริยสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา ( ๓ ) พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บังเกิดขึ้นครบองค์สามเป็นครั้งแรก


๒๗.ปางภัตกิจ
   พระพุทธรูปปางภัตกิจ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายประคองบาตรซึ่งวางอยู่บนพระเพลา ( ตัก ) พระหัตถ์ขวาหย่อนลงในบาตร เป็นกิริยาเสวย

ความเป็นมาของปางภัตกิจ
   ยสกุลบุตรผู้หนีความวุ่นวายในเรือน ออกมา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน ต่อมาพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดบิดาของยสกุลบุตรได้แสดงตนเป็นอุบาสกขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง นับเป็นปฐมอุบาสกผู้ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งคนแรกในพระพุทธศาสนา การเทศนาครั้งที่ ๒ นี้ ยังผลให้ยสกุลบุตร ผู้นั่งฟังอยู่ด้วยบรรลุอรหัตผล พระพุทธองค์ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้ยสกุลบุตร วันต่อมาทรงรับนิมนต์ไปเสวยภัตตาหารที่บ้านบิดาพระยสะ นับเป็นครั้งแรกที่เสด็จไปเสวยภัตตาหารตามบ้านและได้ทรงแสดงธรรมโปรดมารดาและภรรยาเก่าของพระยสะ จนได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบันและขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งเป็นอุบาสิกาคู่แรกในพระพุทธศาสนา


๒๘.ปางห้ามสมุทร
   พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร วัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน ยกพระหัตถ์ทั้งสองแบตั้งขึ้นยื่นออกไปข้างหน้า เสมอพระอุระ ( อก ) เป็นกิริยาห้าม บางแบบเป็นพระทรงเครื่อง

ความเป็นมาของปางห้ามสมุทร
   ครั้งหนึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปประกาศพระศาสนายังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ทรงขอประทับอยู่ในสำนักของอุรุเวลกัสสปะ ผู้เป็นหัวหน้าชฎิลซึ่งเป็นที่เลื่อมใสของมหาชนในแคว้นมคธ ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์นานับประการเพื่อให้อุรุเวลกัสสปะคลายความพยศลง พระองค์ทรงทำปาฏิหาริย์ห้ามน้ำที่ไหลบ่ามาจากทุกสารทิศมิให้เข้ามาในที่ประทับ และเสด็จจงกลมภายในวงล้อมที่มีน้ำเป็นกำแพง เหล่าชฎิลพายเรือมาดู เห็นเป็นอัศจรรย์ จึงยอมรับในพุทธานุภาพ และขออุปสมบทเป็นพระภิกษุ


๒๙.ปางห้ามญาติ
   พระพุทธรูปปางห้ามญาติ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน แบพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นเสมอพระอุระ ( อก ) ตั้งฝ่าพระหัตถ์ยื่นออกไปข้างหน้าเป็นกิริยาห้าม เป็นปางเดียวกันกับปางห้ามสมุทร นิยมทำแบบพระทรงเครื่อง

ความเป็นมาของปางห้ามญาติ
   ครั้งหนึ่งเหล่ากษัตริย์ศากยวงศ์ พระญาติฝ่ายพุทธบิดา และเหล่ากษัตริย์โกลิยวงศ์ พระญาติฝ่ายพุทธมารดา ทะเลาะวิวาทกันเพราะเรื่องแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณีเนื่องจากฝนแล้ง น้ำไม่เพียงพอ การทะเลาะวิวาทลุกลามไป จนเกือบกลายเป็นศึกใหญ่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบเหตุด้วยพระญาณ จึงเสด็จไปห้ามสงคราม โดยตรัสให้เห็นถึงความไม่สมควรที่กษัตริย์ต้องมาฆ่าฟันกันด้วยสาเหตุเพียงแค่การแย่งน้ำเข้านา และตรัสเตือนสติว่า ระหว่างน้ำกับความเป็นพี่น้อง อะไรสำคัญยิ่งกว่ากัน ทั้งสองฝ่ายจึงได้สติ คืนดีกัน และขอพระราชทานอภัยโทษต่อเบื้องพระพักตร์พระพุทธองค์


๓๐.ปางปลงกัมมัฏฐานหรือปางชักผ้าบังสุกุล
   พระพุทธรูปปางปลงกัมมัฏฐานหรือปางชักผ้าบังสุกุล วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายทรงธารพระกร ( ไม้เท้า ) ยื่นพระหัตถ์ขวาออกไปข้างหน้า ทอดพระเนตรลงเบื้องต่ำ เป็นกิริยาชักผ้าบังสุกุล บางแห่งสร้างแบบพระหัตถ์ซ้ายห้อยลงทาบที่พระเพลา ( ตัก )

ความเป็นมาของปางปลงกัมมัฏฐานหรือปางชักผ้าบังสุกุล
   ครั้งหนึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระประสงค์จะนำผ้าขาวที่ห่อศพมาซักย้อมเป็นผ้าสังฆาฏิ จึงเสด็จไปพิจารณาปฏิกูลสัญญา แล้วทรงชักผ้าบังสุกุลและนำมาซักตากให้หมดกลิ่นซากศพ แล้วเย็บเป็นจีวร ในพุทธประวัติเล่าว่าท้าวสักกเทวราชเสด็จลงมาช่วยทำจีวร ตักแต่ซัก ตาก และเย็บเสร็จภายในคืนเดียว ผ้าจีวรผืนนี้พระพุทธองค์ทรงนำมาทำผ้าสังฆาฏิ ภายหลังได้ประทานผ้าผืนนี้แก่พระมหากัสสปะ ผู้เป็นเอตทัคคะด้านถือธุดงค์

หน้าหลัก - พระพุทธรูปปางต่างๆ
 ปางที่ ๒๐-๒๕ ปางที่ ๓๑-๓๕
ข้อมูล/ภาพ : หนังสือปางพระพุทธรูป หัวข้อธรรมในคำกลอน โดย ระพีพรรณ ใจภักดี

หน้าแรก
ทีมงานธรรมะไทย
แผนผังเว็บไซต์
ค้นหาข้อมูล
ติดต่อธรรมะไทย
สมุดเยี่ยม
ธรรมะในสวน
เครือข่ายธรรมะ
ศูนย์รวมภาพ
สัญลักษณ์ไทย
สมาชิกธรรมะไทย
ในหลวงรัชกาลที่ ๙
กวีธรรมะ
บอร์ดบอกบุญ
สถานปฏิบัติธรรม
สนทนาธรรม
ข่าวธรรมะ
ธรรมะกับเยาวชน
ธรรมะจากหลวงพ่อ
บทความธรรมะ
กรรม
 ทาน
พระไตรปิฏก
เสียงธรรม
วีดีโอธรรมะ
เพลงธรรมะ
ธรรมปฏิบัติ
 คลังแสงแห่งธรรม
 คลังหนังสือธรรมะ
 หลักธรรมนำสุขในยุค๒๐๐๐
 กรรมฐานประจำวันเกิด
 ศีล
 สมาธิ
 วิปัสสนา
พระพุทธศาสนา
พจนานุกรมพุทธศาสน์
หัวข้อธรรม
บทสวดมนต์
มิลินทปัญหา
พระพุทธศาสนาในไทย
ทำเนียบวัดไทย
ศาสนพิธี
อุปสมบทพิธี
วันสำคัญทางศาสนา
การเผยแผ่ศาสนา
 งานปริวาสกรรมทั่วประเทศ
พระพุทธเจ้า
พระพุทธประวัติ
ประวัติพระพุทธสาวก
ทศชาติชาดก
นิทานชาดก
 พุทธวจนในธรรมบท
มงคล ๓๘ ประการ
พุทธศาสนสุภาษิต
นิทานธรรมะบันเทิง
สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล
พระพุทธรูปปางต่างๆ
พระพุทธรูปสำคัญ
จีรัง กรุ๊ป
เพจธรรมะไทย
© ธรรมะไทย