พระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้า พระไตรปิฎก หัวข้อธรรม การปฏิบัติธรรม ศาสนพิธี วันสำคัญทางศาสนา ทำเนียบวัดไทย พระพุทธศาสนาในประเทศไทย
 
หน้าแรก ปางพระพุทธรูป
พระพุทธศาสนาในไทย
ประวัติพระสงฆ์ไทย
สมเด็จพระสังฆราช
นิกายคณะสงฆ์ไทย
พระพุทธรูปปางต่างๆ
พระประจำวัน
พระประจำเดือน
พระประจำปี
พระพุทธรูปสำคัญ
ปางพระพุทธรูป

๒๑.ปางประสานบาตร
   พระพุทธรูปปางประสานบาตร วัดปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) ขัดสมาธิ มีบาตรวางอยู่บนพระเพลา ( ตัก ) พระหัตถ์ซ้ายประคองบาตร คว่ำพระหัตถ์ขวายกขึ้นปิดปากบาตร

ความเป็นมาของปางประสานบาตร
   หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้แล้ว ๔๙ วัน พ่อค้าสองพี่น้องชื่อ ตปุสสะและภัลลิกะ ได้รับคำแนะนำจากเทวดาซึ่งเคยเป็นญาติกับพ่อค้าทั้งสองในอดีตชาติ ให้นำภัตตาหารน้อมถวายแด่พระพุทธองค์ เพื่อประโยชน์สุขแก่ทั้งสองสิ้นกาลนาน เมื่อตปุสสะและภัลลิกะเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ร่มไม้เกด ต่างมีจิตเลื่อมใสศรัทธา จึงเข้าไปทำการอภิวาทและถวายข้าวสัตตุก้อนสัตตุผง พระพุทธองค์มีพระประสงค์จะรับ แต่บาตรที่ฆฏิการพรหมถวายในวันเสด็จออกบรรพชาได้อันตรธานไป ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ จึงได้เหาะนำบาตรศิลามาถวายองค์ละใบ พระองค์จึงทรงประสานบาตรทั้ง ๔ ใบนั้นเป็นใบเดียวกัน แล้วใช้รับข้าวสัตตุก้อนสัตตุผง


๒๒.ปางรับสัตตุก้อนสัตตุผง
   พระพุทธรูปปางรับสัตตุก้อนสัตตุผง วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองประคองบาตรซึ่งวางอยู่บนพระเพลา (ตัก) ทอดพระเนตรลงต่ำ เป็นกิริยาทรงรับข้าวสัตตุก้อนสัตตุผงด้วยบาตร

ความเป็นมาของปางรับสัตตุก้อนสัตตุผง
   พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับข้าวสัตตุก้อนสัตตุผงที่พ่อค้าสองพี่น้องถวายด้วยความเลื่อมใส เมื่อทรงทำภัตกิจเสร็จแล้ว พ่อค้าทั้งสองทูลขอถึงพระพุทธและพระธรรมเป็นที่พึ่งนับถือสูงสุดในชีวิต เพราะขณะนั้น ยังไม่มีพระสงฆ์บังเกิดขึ้น ถือเป็นเทววาจิกอุบาสก นับเป็นอุบาสกคู่แรกในโลก


๒๓.ปางพระเกศธาตุ
   พระพุทธรูปปางพระเกศธาตุ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวายกขึ้นแนบพระเศียร เป็นกิริยาเสยพระเกศา

ความเป็นมาของปางพระเกศธาตุ
   หลังจากที่ตปุสสะและภัทลิกะได้ขอถึงพระพุทธและพระธรรมว่าเป็นที่พึ่งสูงสุดในชีวิต ถือเป็นปฐมอุบาสกในพระพุทธศาสนาแล้ว ได้ทูลขอสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ควรค่าแก่การอภิวาทต่างองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้บูชา พระพุทธองค์ทรงลูบพระเศียรเกล้าด้วยพระหัตถ์ขวา มีพระเกศา ๘ เส้น อยู่บนฝ่าพระหัตถ์ จึงโปรดประทานพระเกศาทั้ง ๘ เส้นนั้นแก่พ่อค้าทั้งสอง เมื่อกราบบังคมลาไปสู่บ้านเมืองของตนแล้ว พ่อค้าทั้งสองได้สร้างพระสถูปบรรจุพระเกศาไว้เป็นที่สักการะบูชาแก่มหาชนทั่วไป


๒๔.ปางรำพึง
   พระพุทธรูปปางรำพึง วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองประสานยกขึ้นประทับที่พระอุระ ( อก ) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย

ความเป็นมาของปางรำพึง
   ขณะที่ประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นไทร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่า บุคคลในโลกนี้เปรียบเสมือนบัว ๔ เหล่า ดังนี้ คือ ( ๑ ) อุคฆฏิตัญญู คือ พวกที่สติปัญญาดี เมื่อฟังธรรมก็สามารถเข้าใจได้รวดเร็ว เสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที ( ๒ ) วิปจิตัญญู คือ พวกที่มีสติปัญญาปานกลาง เมื่อฟังธรรมแล้วพิจารณาตาม ฝึกฝนเพิ่มเติมจะเข้าใจได้ในเวลาอันไม่ช้า เสมือนดอกบัวที่ปริ่มน้ำซึ่งจะบานในวันถัดไป ( ๓ ) เนยยะ คือ พวกที่สติปัญญาน้อย เมื่อฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและ ฝึกฝนอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อในที่สุดก็จะสามารถเข้าใจได้ เสมือนดอกบัวใต้น้ำซึ่งจะโผล่ขึ้นเบ่งบานในวันหนึ่ง ( ๔ ) ปทปรมะ คือ พวกไร้สติปัญญา แม้ได้ฟังธรรม ก็ไม่อาจเข้าใจ เปรียบเสมือนบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ไม่มีโอกาสเบ่งบาน เมื่อพระพุทธองค์ทรงพิจารณาด้วยพระปรีชาญาณ ก็ทรงอธิษฐานว่าจะแสดงธรรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ และตั้งพุทธปณิธานที่จะดำรงพระชนม์อยู่จนกว่าจะได้อยู่ประกาศพระพุทธศาสนาให้แพร่หลายสำเร็จประโยชน์แก่ชนทุกหมู่เหล่า์


๒๕.ปางปฐมเทศนาหรือปางแสดงธรรมจักร
   พระพุทธรูปปางปฐมเทศนาหรือปางแสดงธรรมจักร วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) ขัดสมาธิ บางแห่งสร้างเป็นพระอิริยาบถนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ขวายกขึ้นจีบนิ้วพระหัตถ์เป็นวงกลม เป็นเครื่องหมายธรรมจักร พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา (ตัก) บางแบบพระหัตถ์ซ้ายประคองพระหัตถ์ขวา หรือพระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นถือชายจีวร

ความเป็นมาของปางปฐมเทศนาหรือปางแสดงธรรมจักร
   ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหปุณมี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจักรกัปปวัตนสูตร อันเป็นปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ มีใจความสำคัญดังนี้ คือ ทรงให้งดเว้นทางสุดโต่ง ๒ สาย คือ กามสุขขัลลิกานุโยค ได้แก่ การประกอบตนให้หมกมุ่นในกาม และอัตตกิลมถานุโยค คือ ทำตนเองให้ลำบาก ทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ อันเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงทางดับทุกข์ และอริยสัจ ๔ หรือความจริงอันประเสริฐ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค โกณฑัญญพราหมณ์ได้ดวงตาเห็นธรรมในวันนั้น

หน้าหลัก - พระพุทธรูปปางต่างๆ
 ปางที่ ๑๖-๒๐ ปางที่ ๒๖-๓๐
ข้อมูล/ภาพ : หนังสือปางพระพุทธรูป หัวข้อธรรมในคำกลอน โดย ระพีพรรณ ใจภักดี

หน้าแรก
ทีมงานธรรมะไทย
แผนผังเว็บไซต์
ค้นหาข้อมูล
ติดต่อธรรมะไทย
สมุดเยี่ยม
ธรรมะในสวน
เครือข่ายธรรมะ
ศูนย์รวมภาพ
สัญลักษณ์ไทย
สมาชิกธรรมะไทย
ในหลวงรัชกาลที่ ๙
กวีธรรมะ
บอร์ดบอกบุญ
สถานปฏิบัติธรรม
สนทนาธรรม
ข่าวธรรมะ
ธรรมะกับเยาวชน
ธรรมะจากหลวงพ่อ
บทความธรรมะ
กรรม
 ทาน
พระไตรปิฏก
เสียงธรรม
วีดีโอธรรมะ
เพลงธรรมะ
ธรรมปฏิบัติ
 คลังแสงแห่งธรรม
 คลังหนังสือธรรมะ
 หลักธรรมนำสุขในยุค๒๐๐๐
 กรรมฐานประจำวันเกิด
 ศีล
 สมาธิ
 วิปัสสนา
พระพุทธศาสนา
พจนานุกรมพุทธศาสน์
หัวข้อธรรม
บทสวดมนต์
มิลินทปัญหา
พระพุทธศาสนาในไทย
ทำเนียบวัดไทย
ศาสนพิธี
อุปสมบทพิธี
วันสำคัญทางศาสนา
การเผยแผ่ศาสนา
 งานปริวาสกรรมทั่วประเทศ
พระพุทธเจ้า
พระพุทธประวัติ
ประวัติพระพุทธสาวก
ทศชาติชาดก
นิทานชาดก
 พุทธวจนในธรรมบท
มงคล ๓๘ ประการ
พุทธศาสนสุภาษิต
นิทานธรรมะบันเทิง
สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล
พระพุทธรูปปางต่างๆ
พระพุทธรูปสำคัญ
จีรัง กรุ๊ป
เพจธรรมะไทย
© ธรรมะไทย