‘วังไกลกังวล…บ้านของพ่อ’ สายพระเนตรแห่งการพัฒนาชนบท

ภายในพระราชฐานวังไกลกังวล ประกอบด้วยตำหนักที่มีชื่อคล้องจองกัน 4 หลัง คือ เปี่ยมสุข, ปลุกเกษม, เอิบเปรม และเอมปรีดิ์ โดยเริ่มก่อสร้างพระตำหนักเปี่ยมสุข อันเป็นพระตำหนักที่ประทับขึ้นก่อน เมื่อปี พ.ศ.2469

20161109-111913-%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%87%e0%b9%84%e0%b8%81%e0%b8%a5%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%87%e0%b8%a7%e0%b8%a5

…บางตอนของ เพลงไกลกังวล พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สะท้อนทั้งพระอัจฉริยภาพ และพระจริยวัตรของพระองค์ ครั้งเสด็จฯ ประทับ ณ วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบ คีรีขันธ์

เมื่อบทเพลงและทำนองบรรเลง ปลุกเร้าให้ผู้ที่ได้รับฟังชุ่มชื่นหัวใจทุกคราว…

พระราชวังไกลกังวล หรือ วังไกลกังวล มีความสำคัญอย่างมาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ หลังจากพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2493 ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับ ณ พระราชวังแห่งนี้ ในวันรุ่งขึ้น

หลังจากพระองค์เสด็จฯ กลับจากสวิตเซอร์แลนด์ ได้เสด็จฯ ประทับยังพระราชวังไกลกังวลอีกครั้ง เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2495 ครั้งนั้น มีกำหนดประทับนาน 6 เดือน และประการสำคัญ ได้ทรงนำสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์แรก ซึ่งเจริญพระชันษาได้ 10 เดือน มาประทับยังวังไกลกังวลด้วย

20161109-111942-%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%87%e0%b9%84%e0%b8%81%e0%b8%a5%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%87%e0%b8%a7%e0%b8%a51

การเสด็จฯ ในครั้งนี้ มิได้เป็นการเปลี่ยนอากาศ ดังเช่นเมื่อยังทรงพระเยาว์อีกต่อไป ทรงใช้เวลาศึกษาสภาพแวดล้อม และทรงสนพระทัยปัญหาเรื่องน้ำ อันเป็นปัญหาสำคัญที่อยู่คู่กับคนแถบนี้มายาวนาน

ดังเห็นได้จากบันทึกที่ แสวง ทิมทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี รายงานถึง การเสด็จฯ ทอดพระเนตรถ้ำเขาหลวง และเขามไหศวรรย์ (เขาวัง) เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2495 ทรงสนพระทัยว่า บนเขาวัง มีน้ำกินน้ำใช้หรือไม่? ประชาชนเมืองเพชร เดือดร้อนเรื่องน้ำหรือไม่? น้ำในเขื่อนมีพอหรือไม่? เหตุใดเขื่อนเพชรจึงพัง? และจะซ่อมแซมเขื่อนให้ใช้ได้ในปีนี้หรือไม่?

โดยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหลายโครงการ มีจุดเริ่มต้นในการเสด็จฯ หัวหินในครั้งนั้น เช่น โครงการสร้างถนนสายห้วยมงคล ที่เป็น โครงการพัฒนาชนบท ด้านคมนาคม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ แห่งแรก

ตามประวัติการสร้าง “วังไกลกังวล” สร้างในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชนิเวศน์ขึ้นแห่งหนึ่ง คือ วังไกลกังวล ณ ชายทะเล กล่าวกันว่า มีพระราชประสงค์ที่จะสร้างตำหนักแห่งนี้พระราชทานแด่ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ดังเห็นได้จากคำย่อพระปรมาภิไธย “ร.พ.” ที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในพระราชฐานนี้

การก่อสร้างวังไกลกังวล พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ หม่อมเจ้าอิทธิเทพสวรรค์กฤดากร ที่ศึกษาด้านสถาปัตยกรรมจากยุโรป ควบคุมการก่อสร้าง และถือเป็นกลุ่มสถาปนิกยุคบุกเบิกของสังคมไทยในสมัยนั้น ซึ่งได้รับการศึกษาสถาปัตยกรรมตามแนวสากลจากอังกฤษและฝรั่งเศส ภายหลังได้ร่วมก่อตั้งสมาคมสถาปนิกสยาม ผลงานด้านสถาปัตยกรรมของพระองค์ เช่น การซ่อมแซมพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท งานออกแบบพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ในพระราชวังสนามจันทร์

วัสดุสิ่งของที่ใช้ในการสร้าง วังไกลกังวล ส่วนหนึ่งมาจากการรื้อถอนโรงเรือนจากที่ต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้ใช้การแล้ว เช่น การรื้อพระตำหนัก เรือน 3 หลัง จากบริเวณพระตำหนักสมเด็จพระพันปีหลวง ที่หัวหิน และจากพระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม จำนวน 7 หลัง รวมถึงได้ขนย้ายกระเบื้องที่ยังไม่ได้ใช้งานจากพระราชวังบ้านปืน ซึ่งได้นำมามุงหลังคาพระตำหนัก

ภายในพระราชฐานวังไกลกังวล ประกอบด้วยตำหนักที่มีชื่อคล้องจองกัน 4 หลัง คือ เปี่ยมสุข, ปลุกเกษม, เอิบเปรม และเอมปรีดิ์ โดยเริ่มก่อสร้างพระตำหนักเปี่ยมสุข อันเป็นพระตำหนักที่ประทับขึ้นก่อน เมื่อปี พ.ศ.2469

gallery-20151013154901-4

ลักษณะองค์พระตำหนัก เป็นอาคารคอนกรีตสูงสองชั้น หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาเคลือบสีน้ำตาลเข้ม ส่วนฐานผนังประดับด้วยหินก้อนใหญ่สีน้ำตาล คล้ายบ้านพักตากอากาศในยุโรป เป็นบ้านที่มุ่งเน้นให้เห็นธรรมชาติ คล้ายปราสาท หรือบ้านในชนบทของฝรั่งยุคนั้น

ด้านข้าง พระตำหนักเปี่ยมสุข มีอาคารขนาดใหญ่หลังหนึ่งคือ ศาลาเริง เป็นศาลาโล่งสูงสองชั้น สำหรับทรงกีฬา และเป็นสถานที่พระราชทานเลี้ยงในโอกาสต่าง ๆ มี พระตำหนักน้อย อยู่ทางทิศใต้ของพระตำหนักเปี่ยมสุข

20161109-112510-%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%87%e0%b9%84%e0%b8%81%e0%b8%a5%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%87%e0%b8%a7%e0%b8%a53-1

พระตำหนักน้อย เป็นที่ประทับแปรพระราชฐานของ สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ และพระองค์เจ้าหญิงอาภาพรรณี พระบิดาและพระมารดาของ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี โปรดเสด็จฯ ประทับพักผ่อน เมื่อตามเสด็จไปยังหัวหิน

และเคยเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

พระตำหนักปลุกเกษม เป็นตำหนักโปร่ง ๆ แบบไทยปนสมัยใหม่ มีห้องนอนหลายห้องด้านหลัง ตั้งโต๊ะและเก้าอี้หมู่ ใกล้ ๆ กันมีห้องน้ำ ด้านล่างมีห้องอีกหลายห้อง สำหรับหม่อมเจ้าหญิงซึ่งใกล้ชิดในราชสำนัก โดยเสด็จพระราชดำเนินไปตากอากาศด้วย

และตำหนักหลังนี้ เป็นที่ประทับแปรพระราชฐานของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

พระตำหนักเอิบเปรม เอมปรีดิ์ เป็นที่ประทับแปรพระราชฐานของพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ซึ่งพระตำหนักมีลักษณะชั้นเดียวคู่ฝาแฝด การก่อสร้าง และการวางห้องเครื่องใช้ คล้ายคลึงกัน ตำหนักฝาแฝดนี้เตี้ยเกือบติดพื้นดิน สร้างเป็นแบบบังกะโล สำหรับตากอากาศชายทะเลอย่างแท้จริง

20161109-112008-%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%87%e0%b9%84%e0%b8%81%e0%b8%a5%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%87%e0%b8%a7%e0%b8%a52

ศาลาเริง เป็นศาลาอเนกประสงค์สำหรับเลี้ยงพระ พระราชทานเลี้ยง ทรงกีฬา ทรงดนตรีทั้งไทยเดิมและเทศ จัดฉายภาพยนตร์ที่ทรงถ่าย รวมไปถึงภาพยนตร์ต่างประเทศ การ์ตูนสำหรับเด็กในพระราชอุปการะ พร้อมจัดงานรื่นเริง และการแสดงต่าง ๆ

20161109-112539-%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%87%e0%b9%84%e0%b8%81%e0%b8%a5%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%87%e0%b8%a7%e0%b8%a54

ศาลาราชประชาสมาคม เดิมเรียกว่าอาคารอเนกประสงค์ ลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้น ใต้ถุนโล่ง ชั้นล่างใช้เป็นลานจัดกิจกรรม ชั้นบนเป็นห้องประชุมขนาดใหญ่ สำหรับให้ข้าราชการเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท โดยไม่ต้องเสด็จฯ กลับกรุงเทพมหานคร เช่น พิธีพระราชทานกระบี่ของนักเรียนนายร้อย ในปี พ.ศ.2556 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกนามว่า “ศาลาราชประชาสมาคม” ซึ่งหมายถึง พระมหากษัตริย์ และประชาชน เกื้อกูลระหว่างกัน เพื่อใช้ในการเสด็จออกมหาสมาคม

ศาลพระภูมิภายใน วังไกลกังวล มีผู้เรียกนามแตกต่างกันออกไป เช่น ศาลพระชัยมงคล ศาลเจ้าแม่ทับทิม ศาลเจ้าแม่กัลยาเทวี เป็นต้น ด้วยมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับ ณ วังไกลกังวล เป็นครั้งแรก พ.ศ.2471 ทรงพระสุบินว่า มีหญิงผู้หนึ่งชื่อ ทับทิม เป็นเจ้าที่รักษาพื้นที่วังไกลกังวล ขอพระราชทานปวารณาจะปกป้องคุ้มครองพระองค์ ให้ทรงพระเกษมสำราญตลอดไป

เรื่องนี้ถึงกับมีผู้พยายามผูกพันเข้ากับ “เจ้าแม่ทับทิม” ตามคติความเชื่อของจีนไหหลำ หรือต่อมาขยายความสื่อความหมายไปยังรูปเคารพจีนในแบบต่าง ๆ

…เหล่านี้เป็นบางส่วนเกี่ยวกับ วังไกลกังวล (ข้อมูลและภาพประกอบบางส่วนจาก… หนังสือประมวลภาพวังและตำหนัก, จดหมายเหตุวังไกลกังวล สมัยรัชกาลที่ 7)

…ทั้งนี้ ที่ผ่านมา การเสด็จพระราชดำเนิน พระราชวังไกลกังวล ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทุกครั้ง ยังความปลื้มปีติให้กับประชาชนชาวไทย… ด้วยสายพระเนตรแห่งการพัฒนา…

จากดินแล้ง…ก็ชุ่มฉ่ำ ก่อเกิดรากฐานให้กับอาชีพเกษตรกร…ได้หยั่งรากมั่นคงบนแผ่นดินไทย

 


ที่มา : http://www.dailynews.co.th/article/532524
.
Copyright © 2019. All rights reserved.
ข้ามไปยังทูลบาร์