หมวด ๑๑ - อติเรกทสกะ


(๓๒๖) กรรม ๑๒ (การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนาดีก็ตาม ชั่วก็ตาม, ในที่นี้หมายถึงกรรมประเภทต่างๆ พร้อมทั้งหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ผลของกรรมเหล่านั้น — karna; kamma; action; volitional action)

หมวดที่ ๑ ว่าโดยปากกาล คือ จำแนกตามเวลาที่ให้ผล (classification according to the time of ripening or taking effect)

๑. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม (กรรมให้ผลในปัจจุบันคือในภพนี้ — karma to be experienced here and now; immediately effective kamma)

๒. อุปปัชชเวทนียกรรม (กรรมให้ผลในภพที่จะไปเกิดคือในภพหน้า — karma to be experienced on rebirth; kamma ripening in the next life)

๓. อปราปริยเวทนียกรรม (กรรมให้ผลในภพต่อๆไป — karma to be experienced in some subsequent becoming; indefinitely effective kamma)

๔. อโหสิกรรม (กรรมเลิกให้ผล ไม่มีผลอีก — lapsed or defunct kamma)

หมวดที่ ๒ ว่าโดยกิจ คือจำแนกการให้ผลตามหน้าที่ (classification according to function)

๕. ชนกกรรม (กรรมแต่งให้เกิด, กรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด — productive karma; reproductive kamma)

๖. อุปัตถัมภกกรรม (กรรมสนับสนุน, กรรมที่เข้าช่วยสนับสนุนหรือซ้ำเติมต่อจากชนกกรรม — supportive karma; consolidating kamma)

๗. อุปปีฬกรรรม (กรรมบีบคั้น, กรรมที่มาให้ผล บีบคั้นผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรมนั้น ให้แปรเปลี่ยนทุเลาลงไป บั่นทอนวิบากมิให้เป็นไปได้นาน obstructive karma; frustrating kamma)

๘. อุปฆาตกกรรม (กรรมตัดรอน, กรรมที่แรง ฝ่ายตรงข้ามกับชนกกรรม และอุปัตถัมภกกรรม เข้าตัดรอนการให้ผลของกรรม ๒ อย่างนั้น ให้ขาดไปเสียทีเดียว เช่น เกิดในตระกูลสูง มั่งคั่ง แต่อายุสั้น เป็นต้น — destructive karma; supplanting kamma)

หมวดที่ ๓ ว่าโดยปากทานปริยาย คือ จำแนกตามความยักเยื้องหรือลำดับความแรงในการให้ผล (classification according to the order of ripening)

๙. ครุกกรรม (กรรมหนัก ให้ผลก่อน ได้แก่ สมาบัติ ๘ หรือ อนันตริยกรรม — weighty kamma)

๑๐. พหุลกรรม หรือ อาจิณณกรรม (กรรมทำมากหรือกรรมชิน ให้ผลรองจากครุกกรรม — habitual kamma)

๑๑. อาสันนกรรม (กรรมจวนเจียน หรือกรรมใกล้ตาย คือกรรมทำเมือจวนจะตาย จับใจอยู่ใหม่ๆ ถ้าไม่มี ๒ ข้อก่อน ก็จะให้ผลก่อนอื่น — death threshold kamma; proximate kamma)

๑๒. กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม (กรรมสักว่าทำ, กรรมที่ทำไว้ด้วยเจตนาอันอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้นโดยตรง ต่อเมื่อไม่มีกรรมอื่นให้ผลแล้วกรรมนี้จึงจะให้ผล — reserve kamma; casual act)

กรรม ๑๒ หรือ กรรมสี่ ๓ หมวดนี้ มิได้มีมาในบาลีในรูปเช่นนี้โดยตรง พระอาจารย์สมัยต่อมา เช่น พระพุทธโฆษาจารย์ เป็นต้น ได้รวบรวมมาจัดเรียงเป็นแบบไว้ภายหลัง.

Vism.601; Comp.144.     วิสุทธิ.๓/๒๒๓; สังคห.๒๘



(๓๒๗) จักรวรรดิวัตร ๑๒ (วัตรของพระเจ้าจักรพรรดิ, พระจริยาที่พระจักรพรรดิพึงทรงบำเพ็ญสม่ำเสมอ, ธรรมเนียมการทางบำเพ็ญพระราชกรณีย์ของพระเจ้าจักรพรรดิ, หน้าที่ของนักปกครองผู้ยิ่งใหญ่ — duties of a universal king or a great ruler)

๑. ธรรมาธิปไตย (เคารพนับถือบูชายำเกรงธรรม ยึดธรรมเป็นหลัก เป็นธงชัย เป็นธรรมาธิปไตย — supremacy of the law of truth and righteousness) (๑) และ

ธรรมิการักขาวรณคุปติ (จัดการรักษาป้องกันและคุ้มครองอันชอบธรรมและเป็นธรรม — provision of the right watch, ward and protection)

ก. อันโตชน (แก่ชนภายใน ตั้งแต่พระมเหสี โอรส ธิดา จนถึงผู้ปฏิบัติราชการในพระองค์ทั้งหมด คือ คนในปกครองส่วนตัว ตั้งแต่บุตรธิดาเป็นต้นไป ด้วยให้การบำรุงเลี้ยงอบรมสั่งสอนเป็นต้น ให้อยู่โดยเรียบร้อยสงบสุข และมีความเคารพนับถือกัน — for one’s own folk) (๒)

ข. พลกาย (แก่กองทัพ คือ ปวงเสนาข้าทหาร, ข้าราชการฝ่ายทหาร — for the army; the arms-forces; military service (๓)

ค. ขัตติยะ (แก่กษัตริย์ทั้งหลายผู้อยู่ในพระบรมเดชานุภาพ, เจ้าเมืองขึ้น, ปัจจุบันสงเคราะห์ชนชั้นปกครองและนักบริหารชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลาย, ข้าราชการฝ่ายปกครอง — for colonial kings; administrative officers) (๔)

ง. อนุยนต์ (แก่ผู้ตามเสด็จ คือ ราชบริพารทั้งหลาย, ปัจจุบันควรสงเคราะห์ข้าราชการฝ่ายพลเรือนเข้าทั้งหมด — for the royal dependants; civil servants) (๕)

จ. พราหมณคฤหบดี (แก่ชนเจ้าพิธี เจ้าหน้าที่สั่งสอน พ่อค้า เจ้าไร่เจ้านา คือ ผู้ประกอบอาชีพวิชาการ หมอ พ่อค้า และเกษตรกร ด้วยช่วยจัดหาทุนและอุปกรณ์เป็นต้น — for brahmins and householders; the professional. traders and the agricultural) (๖)

ฉ. เนคมชานบท (แก่ชาวนิคมชนบท คือ ราษฎรทั้งปวงทุกท้องถิ่นตลอดถึงชายแดนทั่วไปไม่ทอดทิ้ง — for town and country dwellers; townsmen and villagers; upcountry people) (๗)

ช. สมณพราหมณ์ (แก่พระสงฆ์และบรรพชิตผู้ทรงศีลทรงคุณธรรม — for the religious) (๘)

ญ. มิคปักษี (แก่มฤคและปักษี คือ สัตว์อันควรสงวนทั้งหลาย — for beasts and birds) (๙)

๒. มา อธรรมการ (ห้ามกั้น มิให้มีการอันอธรรมเกิดขึ้นในพระราชอาณาเขต คือ จัดการป้องกัน แก้ไข มิให้มีการกระทำความผิดความชั่วร้ายเดือดร้อนเกิดขึ้นในบ้านเมือง — to let no wrongdoing prevail in the kingdom) (๑๐)

๓. ธนานุประทาน (ปันทรัพย์เฉลี่ยให้แก่ชนผู้ไร้ทรัพย์ มิให้มีคนขัดสนยากไร้ในแว่นแคว้น — to let wealth be given or distributed to the poor) (๑๑)

๔. สมณพราหมณปริปุจฉา (ปรึกษาสอบถามปัญหากับสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ผู้ไม่ประมาทมัวเมา อยู่เสมอตามกาลอันควร เพื่อให้รู้ชัดการอันดี ชั่วควรประกอบหรือไม่ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขหรือไม่ แล้วประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปโดยถูกต้อง ข้อนี้ปัจจุบันสงเคราะห์นักปราชญ์นักวิชาการผู้ทรงคุณธรรมเข้าด้วย — to go from time to time to see and ask for advice the men of religious life who maintain high moral standard; to have virtuous counselors and seek after greater virtue) (๑๒)

จักรวรรดิวัตรนี้ มาใน จักกวัตติสูตร ตามบาลีมีหัวข้อใหญ่ ๔ ข้อ แต่หัวข้อย่อยที่แยกออกไปจากข้อ ๒ แต่ละอย่าง ถือว่ามีความสำคัญมาก มีรายละเอียดวิธีปฏิบัติจำเพาะต่างกันออกไป จึงนับให้เป็นวัตรแต่ละข้อเท่ากันหมด ได้เป็น ๑๒ ข้อ ตามเลขในวงเล็บข้างหลัง

แต่ใน อรรถกถาแห่งพระสูตรนี้เอง (ที.อ.๓/๔๖) ท่านจัดต่างออกไปดังนี้

๑. อนฺโตชนสฺมึ พลกายสฺมึ (สงเคราะห์ชนภายใน และพลกายกองทหาร)

๒. ขตฺตเยสุ (สงเคราะห์กษัตริย์เมืองขึ้นทั้งหลาย)

๓. อนุยนฺเตสุ (สงเคราะห์เหล่าเชื้อพระวงศ์ ผู้ตามเสด็จเป็นราชบริพาร)

๔. พฺราหฺมณคหปติเกสุ (คุ้มครองพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย)

๕. เนคมชานปเทสุ (คุ้มครองชาวราษฎรพื้นเมืองทั้งหลาย)

๖. สมณพฺราหฺมเณสุ (คุ้มครองเหล่าพราหมณ์)

๗. มิคปกฺขีสุ (คุ้มครองเนื้อนกที่เอาไว้สืบพันธุ์)

๘. อธมฺมการปฏิกฺเขโป (ห้ามปรามมิให้มีการประพฤติการอันผิดธรรม)

๙. อธนานํ ธนานุปฺปทานํ (ทำนุบำรุงผู้ขัดสนไร้ทรัพย์)

๑๐. สมณพฺราหฺมเณ อุปสงฺกมิตฺวา ปญฺหาปุจฺฉนํ (เข้าไปหาและสอบถามปัญหากะสมณพราหมณ์)

๑๑. อธมฺมราคสฺส ปหานํ (เว้นความกำหนัดในกามโดยอาการไม่เป็นธรรม)

๑๒. วิสมโลภสฺส ปหานํ (เว้นโลภกล้า ไม่เลือกควรไม่ควร)

ที่จำกันมาส่วนมาก ก็ถือตามนัยอรรถกถานี้ อย่างไรก็ดี ตามนัยนี้ ท่านไม่นับข้อธรรมาธิปไตย เข้าในจำนวน ๑๒ ข้อ และเพิ่มข้อ ๑๑, ๑๒ เข้ามาใหม่ ซึ่งไม่มีมาในบาลีเดิม สำหรับข้อ ๑๑,๑๒ นี้ โดยเหตุผลน่าจะมีอยู่แล้วในหลักทศพิธราชธรรม

ดู (๓๑๔) ราชธรรม ๑๐ ด้วย

D.III.61.     ที.ปา.๑๑/๓๕/๖๕



(๓๒๘) ปฏิจจสมุปบาท มีองค์หรือหัวข้อ ๑๒ (การเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลาย เพราะอาศัยกัน, ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นพร้อม, การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันๆ จึงเกิดมีขึ้น — the Dependent Origination; conditioned arising)

๑/๒. อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เพราะอวิชชา เป็นปัจจัย สังขาร จึงมี (Dependent on lgnorance arise Karma-Formations)

๓. สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณ จึงมี (Dependent on Karma-Formations arise Consciousness)

๔. วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูป จึงมี (Dependent on Consciousness arise Mind and Matter)

๕. นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะ จึงมี (Dependent on Mind and Matter arise the Six Sense-Bases.)

๖. สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะ จึงมี (Dependent on the Six Sense-Bases arises Contact)

๗. ผสฺสปจฺจยา เวทนา เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนา จึงมี (Dependent on Contact arise Feeling)

๘. เวทนาปจฺจยา ตณฺหา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหา จึงมี (Dependent on Feeling arise Craving.)

๙. ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทาน จึงมี (Dependent on Craving arises Clinging.)

๑๐. อุปาทานปจฺจยา ภโว เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพ จึงมี (Dependent on Clinging arises Becoming.)

๑๑. ภวปจฺจยา ชาติ เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติ จึงมี (Dependent on Becoming arises Birth.)

๑๒. ชาติปจฺจยา ชรามรณํ เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ จึงมี (Dependent on Birth arise Decay and Death.)
โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา สมฺภวนฺติ
ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ ก็มีพร้อม (There also arise sorrow, lamentation, pain, grief and despair.)
เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย โหติ.
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมีด้วยประการฉะนี้
(Thus arises this whole mass of suffering.)

แสดงตามลำดับ จากต้นไปหาปลายอย่างนี้ เรียกว่า อนุโลมเทศนา (teaching in forward order) ถ้าแสดงย้อนกลับจากปลายมาหาต้น ว่า ชรามรณะเป็นต้น มีเพราะชาติเป็นปัจจัย ชาติมีเพราะภพเป็นปัจจัย ฯลฯ สังขาร มีเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย เรียกว่า ปฏิโลมเทศนา (teaching in backward order)

องค์ (factors) หรือหัวข้อ ๑๒ นั้น มีความหมายโดยสังเขป ดังนี

๑. อวิชชา ความไม่รู้ คือไม่รู้ในอริยสัจ ๔ หรือตามนัยอภิธรรม ว่า อวิชชา ๘ (ดู) (๒๐๐) อวิชชา ๔; (๒๐๑) อวิชชา ๘

๒. สังขาร (Karma-formations) สภาพที่ปรุงแต่ง ได้แก่ (๑๑๙) สังขาร ๓ หรือ (๑๒๘) อภิสังขาร ๓

๓. วิญญาณ (consciousness) ความรู้แจ้งอารมณ์ ได้แก่ (๒๕๕) วิญญาณ ๖

๔. นามรูป (mind and matter) นามและรูป ได้แก่ เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ หรือตามนัยอภิธรรมว่า นามขันธ์ ๓+รูป ดู (๒๐๘) ขันธ์ ๕ (ข้อ ๒-๓-๔) (๓๘-๔๑) รูป ๒-๒๘

๕. สฬายตนะ (six sense-bases) อายตนะ ๖ ได้แก่ (๒๖๒) อายตนะภายใน ๖

๖. ผัสสะ (contact) ความกระทบ, ความประจวบ ได้แก่ (๒๕๘) สัมผัส ๖

๗. เวทนา (feeling) ความเสวยอารมณ์ ได้แก่ (๑๑๒) เวทนา ๖

๘. ตัณหา (craving) ความทะยานอยาก ได้แก่ ตัณหา ๖ มีรูปตัณหา เป็นต้น (ตัณหาในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสทางกาย และในธัมมารมณ์ ดู (๗๓) ตัณหา ๓ ด้วย

๙. อุปาทาน (clinging; attachment) ความยึดมั่น ได้แก่ (๒๐๖) อุปาทาน ๔

๑๐. ภพ (becoming) ภาวะชีวิต ได้แก่ (๙๗) ภพ ๓ อีกนัยหนึ่งว่า ได้แก่ กรรมภพ (ภพคือกรรม — active process of becoming ตรงกับ (๑๒๘) อภิสังขาร ๓) กับ อุปปัตติภพ (ภพคือที่อุบัติ — rebirth-process of becoming ตรงกับ (๙๗) ภพ ๓)

๑๑. ชาติ (birth) ความเกิด ได้แก่ ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย การได้อายตนะ

๑๒. ชรามรณะ (decay and death) ความแก่และความตาย ได้แก่ ชรา (ความเสื่อมอายุ, ความหง่อมอินทรีย์) กับ มรณะ (ความสลายแห่งขันธ์, ความขาดชีวิตินทรีย์)

ทั้ง ๑๒ ข้อ เป็นปัจจัยต่อเนื่องกันไป หมุนเวียนเป็นวงจร ไม่มีต้นไม่มีปลาย เรียกว่า ภวจักร (วงล้อหรือวงจรแห่งภพ — wheel of existence) และ มีข้อควรทราบเกี่ยวกับภวจักรอีกดังนี้

ก. อัทธา (periods; times) คือ กาล ๓ ได้แก่

๑) อดีต = อวิชชา สังขาร

๒) ปัจจุบัน = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ

๓) อนาคต = ชาติ ชรา มรณะ (+ โสกะ ฯลฯ)

ข. สังเขป หรือ สังคหะ ๔ (sections; divisions) คือ ช่วง หมวด หรือ กลุ่ม ๔ ได้แก่

๑) อดีตเหตุ = อวิชชา สังขาร

๒) ปัจจุบันผล = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา

๓) ปัจจุบันเหตุ = ตัณหา อุปาทาน ภพ

๔) อนาคตผล = ชาติ ชรา มรณะ (+ โสกะ ฯลฯ)

ค. สนธิ ๓ (links; connection) คือ ขั้วต่อ ระหว่างสังเขปหรือช่วงทั้ง ๔ ได้แก่

๑) ระหว่าง อดีตเหตุ กับปัจจุบันผล

๒) ระหว่าง ปัจจุบันผล กับปัจจุบันเหตุ

๓) ระหว่าง ปัจจุบันเหุต กับอนาคตผล

ง. วัฏฏะ ๓   ดู (๑๐๔) วัฏฏะ ๓

จ. อาการ ๒๐ (modes; spokes; qualities) คือองค์ประกอบแต่ละอย่าง อันเป็นดุจกำของล้อ จำแนกตามส่วนเหตุ (causes) และส่วนผล (effects) ได้แก่

๑) อดีตเหตุ ๕ = อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ภพ

๒) ปัจจุบันผล ๕ = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา

๓) ปัจจุบันเหตุ ๕ = อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ภพ

๔) อนาคตผล ๕ = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา

อาการ ๒๐ นี้ ก็คือ หัวข้อที่กระจายให้เต็ม ในทุกช่วงของสังเขป ๔ นั่นเอง

ฉ. มูล ๒ (roots) คือ กิเลสที่เป็นตัวมูลเหตุ ซึ่งกำหนดเป็นจุดเริ่มต้นในวงจรแต่ละช่วง ได้แก่

๑) อวิชชา เป็นจุดเริ่มต้นในช่วงอดีต ส่งผลถึงเวทนาในช่วงปัจจุบัน

๒) ตัณหา เป็นจุดเริ่มต้นในช่วงปัจจุบัน ส่งผลถึงชรามรณะในช่วงอนาคต

พึงสังเกตด้วยว่า การกล่าวถึงส่วนประกอบของภวจักรตามข้อ ก. ถึง ฉ. นี้ เป็นคำอธิบายในคัมภีร์รุ่นหลัง เช่น อภิธัมมัตถสังคหะ เป็นต้น

การแสดงหลักปฏิจจสมุปบาท ให้เห็นความเกิดขึ้นแห่งธรรมต่างๆ โดยอาศัยปัจจัยสืบทอดกันไปอย่างนี้ เป็น สมุทยวาร คือฝ่ายสมุทัย ใช้เป็นคำอธิบายอริยสัจข้อที่ ๒ (สมุทัยสัจ) คือ แสดงให้เห็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ปฏิจจสมุปบาท ที่แสดงแบบนี้ เรียกว่า อนุโลมปฏิจจสมุปบาท — direct Dependent Origination)

การแสดงหลักปฎิจจสมุปบาท ให้เห็นความเกิดขึ้นแห่งธรรมต่างๆ โดยอาศัยปัจจัยสืบทอดกันไปอย่างนี้ เป็น สมุทยวาร คือฝ่ายสมุทัย ใช้เป็นคำอธิบายอริยสัจข้อที่ ๒ (สมุทัยสัจ) คือ แสดงให้เห็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ปฏิจจสมุปบาท ที่แสดงแบบนี้ เรียกว่า อนุโลมปฏิจจสมุปบาท — direct Dependent Origination)

การแสดงในทางตรงข้ามกับข้างต้นนี้ เป็น นิโรธวาร คือฝ่ายนิโรธ ใช้อธิบายอริยสัจ ข้อที่ ๓ (นิโรธสัจ) เรียกว่า ปฏิโลมปฏิจจสมุปบาท (reverse Dependent Origination ซึ่งความจริงก็คือ Dependent Extinction นั่นเอง) แสดงให้เห็นความดับไปแห่งทุกข์ ด้วยอาศัยความดับไปแห่งปัจจัยทั้งหลายสืบทอดกันไป ตัวบทของปฏิจจสมุปบาทแบบปฏิโลมนี้ พึงเทียบจากแบบอนุโลมนั่นเอง เช่น

๑/๒. อวิชฺชาย เตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ (Through the total fading away and cessation of lgnorance, cease Karma-Formations.)

๓. สงฺขารนิโรธา วิญฺญาณนิโรโธ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ (Through the cessation of Karma-Formations. ceases Consciousness.)

ฯลฯ

๑๒. ชาตินิโรธา ชรามรณํ เพราะชาติดับ ชรามรณะ (จึงดับ) (Through the cessation go Birth, cease Decay and Death.)
โสกปริเทวทุกฺขโมทนสฺสุปายาสา นิรุชฺฌนฺติ
ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส ความคับแค้นใจ ก็ดับ
(Also cease sorrow, lamentation, pain, grief and despair.)
เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกกฺขนฺธสฺส นิโรโธ โหติ.
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้
(Thus comes about the cessation of this whole mass of suffering.)

นี้เป็นอนุโลมเทศนาของปฏิโลมปฏิจจสมุปบาท ส่วนปฏิโลมเทศนา ก็พึงแสดงย้อนว่า ชรามรณะ เป็นต้น ดับ เพราะชาติดับ ชาติดับเพราะภพดับ ฯลฯ สังขารด้วยเพราะอวิชชาดับ อย่างเดียวกับในอนุโลมปฏิจจสมุปบาท

ปฏิจจสมุปบาทนี้ มีชื่อเรียกอย่างอื่นอีก ที่สำคัญคือ อิทัปปัจจยตา (ภาวะที่มีอันนี้ๆ เป็นปัจจัย — specific conditionality) ธรรมนิยาม (ความเป็นไปอันแน่นอนแห่งธรรมดา, กฎธรรมชาติ — orderliness of nature; natural law) และ ปัจจยาการ (อาการที่สิ่งทั้งหลายเป็นปัจจัยแก่กัน — mode of conditionality; structure of conditions) เฉพาะชื่อหลังนี้เป็นคำที่นิยมใช้ในคัมภีร์อภิธรรม และคัมภีร์รุ่นอรรถกถา.

Vin.I.1; S.II.1; Vbh.235; Comp.188.     วินย.๔/๑/๑; สํ.น.๑๖/๑/๑/; อภิ.วิ.๓๕/๒๗๔/๑๘๕; วิสุทธิ.๓/๑๐๗; สังคห.๔๕. (***) ปัจจยาการ ๒   ดู (๓๒๘) ปฏิจจสมุปบาท (***) สันโดษ ๑๒   ดู (๑๒๑) สันโดษ ๓, ๑๒


(๓๒๙) อายตนะ ๑๒  (สิ่งที่เชื่อมต่อกันให้เกิดความรู้, แดนต่อหรือแดนเกิดแห่งความรู้ — sense-fields; sense-spheres)

๑. อายตนะภายใน ๖   ดู (๒๖๒) อายตนะภายใน ๖.

๒. อายตนะภายนอก   ดู (๒๖๓) อายตนะภายนอก ๖.

Vbh.70.     อภิ.วิ.๓๕/๙๙/๘๕



(๓๓๐) ธุดงค์ ๑๓ (องค์คุณเครื่องสลัดหรือกำจัดกิเลส, ข้อปฏิบัติประเภทวัตรที่ผู้สมัครใจจะพึงสมาทานประพฤติได้ เพื่อเป็นอุบายขัดเกลากิเลส ช่วยส่งเสริมด้วยมักน้อยและสันโดษเป็นต้น — means of shaking off or removing defilements; austere practices; ascetic practices)

หมวดที่ ๑ จีวรปฏิสังยุต (เกี่ยวกับจีวร — connected with robes)

๑. ปังสุกูลิกังคะ (องค์แห่งผู้ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร คำสมาทานโดยอธิษฐานใจหรือเปล่งวาจาว่า "คหปติจีวรํ ปฏิกฺขิปามิ, ปํสุกูลิกงฺคํ สมาทิยามิ" แปลว่า "เรางดคฤหบดีจีวร สมาทานองค์แห่งผู้— " refuse-rag-wearer’s practice)

๒. เตจีวริกังคะ (องค์แห่งผู้ถือทรงเพียงไตรจีวรเป็นวัตร คำสมาทานว่า "จตุตฺถ จีวรํ ปฏิกฺขิปามิ, เตจีวริกงฺคํ สมาทิยามิ" แปลว่า "ข้าพเจ้างดจีวรผืนที่ ๔ สมาทานองค์แห่งผู้—" — triple-robe-wearer’s practice)

หมวดที่ ๒ ปิณฑปาตปฏิสังยุต (เกี่ยวกับบิณฑบาต — connected with almsfood)

๓. ปิณฑปาติกังคะ (องค์แห่งผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร คำสมาทานว่า "อติเรกลาภํ ปฏิกฺขิปามิ ปิณฺฑปาติกงฺคํ สมาทิยามิ" แปลว่า "ข้าพเจ้างดอติเรกลาภ สมาทานองค์แห่งผู้—" alms-food-eater’s practice)

๔. สปทานจาริกังคะ (องค์แห่งผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับเป็นวัตร คำสมาทานว่า "โลลุปฺปจารํ ปฏิกฺขิปามิ, สปทานจาริกงฺคํ สมาทิยามิ" แปลว่า "ข้าพเจ้างดการเที่ยวตามใจอยาก สมาทานองค์แห่งผู้ —" — house-to-house-seeker’s practice)

๕. เอกาสนิกังคะ (องค์แห่งผู้ถือนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร คือฉันวันละมื้อเดียว ลุกจากที่แล้วไม่ฉันอีก คำสมาทานว่า "นานาสนโภชนํ ปฏิกฺขิปามิ, เอกาสนิกงฺคํ สมาทิยามิ" แปลว่า "ข้าพเจ้างดเว้นการฉัน ณ ต่างอาสนะ สมาทานองค์แห่งผู้— " —one-sessioner’s practice)

๖. ปัตตปิณฑิกังคะ (องค์แห่งผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร คือ ไม่ใช้ภาชนะใส่อาหารเกิน ๑ อย่างคือบาตร คำสมาทานว่า "ทุติยภาชนํ ปฏิกฺขิปามิ, ปตฺตปิณฺฑิกงฺคํ สมาทิยามิ" แปลว่า "ข้าพเจ้างดภาชนะที่สอง สมาทานองค์แห่งผู้—" — bowl-food-eater’s practice)

๗. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ (องค์แห่งผู้ถือห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร คือเมื่อได้ปลงใจกำหนดอาหารที่เป็นส่วนของตน ซึ่งเรียกว่าห้ามภัต ด้วยการลงมือฉัน เป็นต้นแล้ว ไม่รับอาหารที่เขานำมาถวายอีก แม้จะเป็นของประณีต คำสมาทานว่า "อติริตฺตโภชนํ ปฏิกฺขิปามิ, ขลุปจฺฉาภตฺติกงฺคํ สมาทิยามิ" แปลว่า "ข้าพเจ้างดโภชนะอันเหลือเฟือ สมาทานองค์แห่งผู้— " — later-food-refuser’s practice)

หมวดที่ ๓ เสนาสนปฏิสังยุต (เกี่ยวกับเสนาสนะ — connected with the resting place)

๘. อารัญญิกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร อยู่ห่างบ้านคนอย่างน้อย ๕๐๐ ชั่วธนู คือ ๒๕ เส้น คำสมาทานว่า "คามนฺตเสนาสนํ ปฏิกฺขิปามิ, อารญฺญิกงฺคํ สมาทิยามิ" แปลว่า "ข้าพเจ้างดเสนาสนะชายบ้าน สมาทานองค์แห่งผู้—"—forest-dweller’s practice)

๙. รุกขมูลิกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร คำสมาทานว่า "ฉนฺนํ ปฏิกฺขิปามิ, รุกฺขมูลิกงฺคํ สมาทิยามิ" แปลว่า "ข้าพเจ้างดที่มุงบัง สมาทานองค์แห่งผู้—" —tree-root-dweller’s practice)

๑๐. อัพโภกาลิกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่ที่แจ้งเป็นวัตร คำสมาทานว่า "ฉนฺนญฺจ รุกฺขมูลญฺจ ปฏิกฺขิปามิ, อพฺโภกาสิกงฺคํ สมาทิยามิ" แปลว่า "ข้าพเจ้างดที่มุงบังและโคนไม้ สมาทานองค์แห่งผู้—" —open-air-dweller’s practice)

๑๑. โสสานิกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร คำสมาทานว่า "อสุสานํ ปฏิกฺขิปามิ, โสสานิกงฺคํ สมาทิยามิ" แปลว่า "ข้าพเจ้างดที่มิใช่ป่าช้า สมาทานองค์แห่งผู้— " —charnel-ground-dweller’s practice)

๑๒. ยถาสันถติกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่ในเสนาสนะแล้วแต่เขาจัดให้ คำสมาทานว่า "เสนาสนโลลุปฺปํ ปฏิกฺขิปามิ, ยถาสนฺถติกงฺคํ สมาทิยามิ" แปลว่า "ข้าพเจ้างดความอยากเอาแต่ใจในเสนาสนะ สมาทานองค์แห่งผู้—" —any-bed. user’s practice)

หมวดที่ ๔ วิริยปฏิสังยุต (เกี่ยวกับความเพียร — connected with energy)

๑๓. เนสัชชิกังคะ (องค์แห่งผู้ถือการนั่งเป็นวัตร คือเว้นนอน อยู่ด้วยเพียง ๓ อิริยาบถ คำสมาทานว่า "เสยฺยํ ปฏิกฺขิปามิ, เนสชฺชิกงฺคํ สมาทิยามิ" แปลว่า "ข้าพเจ้างดการนอน สมาทานองค์แห่งผู้—" —sitter’s practice)

ข้อควรทราบเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุดงค์ ๑๓

ก. โดยย่อธุดงค์มี ๘ ข้อ เท่านั้น คือ

๑) องค์หลัก ๓ (สีสังคะ — principal practices) คือ สปทานจาริกังคะ (เท่ากับได้รักษาปิณฑปาติกังคะด้วย) เอกาสนิกังคะ (เท่ากับได้รักษาปัตตปิณฑิกังคะ และขลุปัจฉาภัตติกังคะด้วย) และอัพโภกาสิกังคะ (ทำให้รุกขมูลิกังคะ กับ ยถาสันติกังคะ หมดความจำเป็น)

๒) องค์เดี่ยวไม่คาบเกี่ยวข้ออื่น ๕ (อสัมภินนังคะ — individual practices) คือ อารัญญิกังคะ ปังสุกุลิกังคะ เตจีวริกังคะ เนสัชชิกังคะ และโสสานิกังคะ

ข. โดยนิสสัยคือที่อาศัย (dependence) มี ๒ คือ ปัจจัยนิสิต ๑๒ (อาศัยปัจจัย — dependent on requisites) กับ วิริยนิสิต ๑ (อาศัยความเพียร — dependent on energy)

ค. โดยบุคคลผู้ถือ

๑) ภิกษุ ถือได้ทั้ง ๑๓ ข้อ

๒) ภิกษุณี ถือได้ ๘ ข้อ (คือ ข้อ ๑-๒-๓-๔-๕-๖-๑๒-๑๓)

๓) สามเณร ถือได้ ๑๒ ข้อ (คือ เว้นข้อ ๒ เตจีวรกังคะ)

๔) สิกขมานาและสามเณรี ถือได้ ๗ ข้อ (คือ ลดข้อ ๒ ออกจากที่ภิกษุณีถือได้)

๕) อุบาสกอุบาสิกา ถือได้ ๒ ข้อ (คือ ข้อ ๕ และ ๖)

ง. โดยระดับการถือ แต่ละข้อถือได้ ๓ ระดับ คือ

๑) อย่างอุกฤษฏ์ หรืออย่างเคร่ง เช่น ผู้ถืออยู่ป่า ต้องให้ได้อรุณในป่าตลอดไป

๒) อย่างมัธยม หรืออย่างกลาง เช่น ผู้ถืออยู่ป่า อยู่ในเสนาสนะชายบ้าน ตลอดฤดูฝน ๔ เดือน ที่เหลืออยู่ป่า

๓) อย่างอ่อน หรืออย่างเพลา เช่น ผู้ถืออยู่ป่า อยู่ในเสนาสนะชายบ้านตลอดฤดูฝนและหนาวรวม ๘ เดือน

จ. ข้อ ๙ และ ๑๐ คือ รุกขมูลิกังคะ และอัพโภกาสิกังคะ ถือได้เฉพาะนอกพรรษา เพราะวินัยกำหนดให้ต้องถือเสนาสนะในพรรษา

ฉ. ธุดงค์ไม่ใช่บทบัญญัติทางวินัย ขึ้นกับความสมัครใจ มีหลักทั่วไปในการถือว่า ถ้าถือแล้วช่วยให้กรรมฐานเจริญ หรือช่วยให้กุศลธรรมเจริญ อกุศลธรรมเสื่อมควรถือ ถ้าถือแล้วทำให้กรรมฐานเสื่อม หรือทำให้กุศลธรรมเสื่อม อกุศลธรรมเจริญ ไม่ควรถือ ส่วนผู้ที่ถือหรือไม่ถือ ก็ไม่ทำให้กรรมฐานเจริญหรือเสื่อม เช่น เป็นพระอรหันต์แล้วอย่างพระมหากัสสปะ เป็นต้น หรือคนอื่นๆ ก็ตาม ควรถือได้ ฝ่ายแรกควรถือในเมื่อคิดจะอนุเคราะห์ชุมชนในภายหลัง ฝ่ายหลังเพื่อเป็นวาสนาต่อไป

ช. ธุดงค์ที่มาในบาลีเดิม ไม่พบครบจำนวนในที่เดียว (ที่พบจำนวนมาก คือ ม.อุ.๑๔/๑๘๖/๑๓๘; M.III.40  มีข้อ ๑-๓-๕-๘-๙-๑๐-๑๑-๑๒-๑๓; องฺ.ทสก.๒๔/๑๘๑/๒๔๕; A.V.219  มีข้อ ๑-๕-๖-๗-๘-๙-๑๐-๑๑-๑๒-๑๓; ขุ.ม.๒๙/๙๑๘/๕๘๔; Nd.188  มีข้อ ๑-๒-๓-๔-๗-๘-๑๒-๑๓) นอกจากคัมภีร์บริวาร (วินย.๘/๙๘๒/๓๓๐; ๑๑๙๒/๔๗๕; Vin.V.131, 198) ซึ่งมีหัวข้อครบ ถ้วน ส่วนคำอธิบายทั้งหมดพึงดูในคัมภีร์วิสุทธิมรรค.

Vism.59-83.     วิสุทฺธิ.๑/๗๓-๑๐๔.



(๓๓๑) กิจ หรือ วิญญาณกิจ ๑๔  (กิจของวิญญาณ, หน้าที่ของจิต — functions of consciousness; psychic functions)

๑. ปฏิสนธิ (หน้าที่สืบต่อภพใหม่ ได้แก่จิต ๑๙ คือ อุเบกขาสันติรณะ ๒ มหาวิบาก ๘ รูปวิบาก ๕ อรูปวิบาก ๔ — re-linking; rebirth-linking)

๒. ภวังค (หน้าที่เป็นองค์ของภพ ได้แก่จิต ๑๙ อย่างเดียวกับปฏิสนธิ — life-continuum; factor for being)

๓. อาวัชชนะ (หน้าที่คำนึงอารมณ์ใหม่ ได้แก่ จิต ๒ คือ ปัญจทวาราวัชชนะ และมโนทวาราวัชชนะ — apprehending; adverting)

๔. ทัสสนะ (หน้าที่เห็นรูป ได้แก่ จักขุวิญญาณ ๒ — seeing)

๕. สวนะ (หน้าที่ได้ยินเสียง ได้แก่ โสตวิญญาณ ๒ — hearing)

๖. ฆายนะ (หน้าที่รู้กลิ่น ได้แก่ ฆานวิญญาณ ๒ — smelling)

๗. สายนะ (หน้าที่ลิ้มรส ได้แก่ ชิวหาวิญญาณ ๒ — tasting)

๘. ผุสนะ (หน้าที่ถูกต้องโผฏฐัพพะ ได้แก่ กายวิญญาณ ๒ — contacting; touching)

๙. สัมปฏิจฉนะ (หน้าที่รับอารมณ์ ได้แก่ สัมปฏิจฉนะ ๒ — receiving)

๑๐. สันตีรณะ (หน้าที่พิจารณาอารมณ์ ได้แก่ สันตีรณะ ๓ — investigating)

๑๑. โวฏฐัพพนะ หรือ โวฏฐปนะ (หน้าที่ตัดสินอารมณ์ ได้แก่ มโนทวาราวัชชนะ ๑ — determining)

๑๒. ชวนะ (หน้าที่แล่นเสพอารมณ์ อันเป็นช่วงที่ทำกรรม ได้แก่ จิต ๕๕ คือ กุศลจิต ๒๑ อกุศลจิต ๑๒ กิริยาจิต๑๘ คือเว้นอาวัชชนะทั้งสอง โลกุตตรผลจิต ๔ — apperception; impulsion)

๑๓. ตทาลัมพนะ (หน้าที่อารมณ์ต่อจากชวนะก่อนตกภวังค์ ได้แก่ จิต ๑๑ คือ มหาวิบาก ๘ สันตีรณะ ๓ — retention; registration)

๑๔. จุติ (หน้าที่เคลื่อนจากภพปัจจุบัน ได้แก่ จิต ๑๙ อย่างเดียวกับในปฏิสนธิ — decease; death; shifting)

จัดโดยฐานที่จิตทำกิจ ๑๔ นี้ มี ๑๐ คือ รวมข้อ ๔-๕-๖-๗-๘ เป็นข้อเดียว คือ ปัญจวิญญาณฐาน (fivefold sense-impressions) นอกนั้นคงชื่อเดิม

กิจ ๑๔ นี้ ในวิสุทธิมรรคเรียกว่า วิญญาณปวัตติ หรือ วิญญาณปวัตติอาการ (อาการที่วิญญาณเป็นไป — modes of occurrence of consciousness)

ดู (๓๔๒) จิต ๘๙.

Vism.457; Comp 114.     วิสุทฺธิ.๓/๒๙; สงฺคห. ๑๕



(๓๓๒) จรณะ ๑๕ (ความประพฤติ, ปฏิปทา, ข้อปฏิบัติอันเป็นทางบรรลุวิชชาหรือนิพพาน — conduct; course of practice)

๑. สีลสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศีล คือ ประพฤติถูกต้องดีงาม สำรวมในพระปาฏิโมกข์ มีมารยาทเรียบร้อย ประพฤติเคร่งครัดในสิกขาบททั้งหลาย — accomplishment of morals)

๒. อปัณณกปฏิปทา ๓   ดู (๑๒๗) อปัณณกปฏิปทา ๓

๓. สัทธรรม ๗   ดู (๒๘๙) สัปปุริสธรรม ๘ ข้อ ๑.

๔. ฌาน ๔   ดู (๙) ฌาน ๔

ในบาลีที่มา ท่านเรียกว่า เป็น เสขปฏิปทา คือข้อปฏิบัติอันเป็นทางดำเนินของพระเสขะ (a learner’s course of practice)

M.1.354     ม.ม.๑๓/๒๖/๒๖



(๓๓๓) ญาณ ๑๖ หรือ โสฬสญาณ (ความหยั่งรู้ ในที่นี้หมายถึงญาณที่เกิดขึ้นแก่ผู้เจริญวิปัสสนาตามลำดับ ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด — insight; knowledge)

๑. นามรูปปริจเฉทญาณ (ญาณกำหนดจำแนกรู้นามและรูป คือ รู้ว่าสิ่งทั้งหลายมีแต่รูปเป็นธรรมและนามธรรม และกำหนดแยกได้ว่า อะไรเป็นรูปธรรม อะไรเป็นนามธรรม — knowledge of the delimitation of mentality-materiality)

๒. ปัจจยปริคคหญาณ (ญาณกำหนดรู้ปัจจัยของนามและรูป คือรู้ว่า รูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุปัจจัยและเป็นปัจจัยแก่กัน อาศัยกัน โดยรู้ตามแนวปฏิจจสมุปบาท ก็ดี ตามแนวกฏแห่งกรรม ก็ดี ตามแนววัฏฏะ ๓ ก็ดี เป็นต้น — knowledge of discerning the conditions of mentality-materiality)

๓. สัมมสนญาณ (ญาณกำหนดรู้ด้วยพิจารณาเห็นนามและรูปโดยไตรลักษณ์ คือ ยกรูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายขึ้นพิจารณาโดยเห็นตามลักษณะที่เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มิใช่ตัวตน — knowledge of comprehending mentality-materiality as impermanent, unsatisfactory and not-self)

๔-๑๒. ได้แก่ วิปัสสนาญาณ ๙  ดู (๒๙๙)

๑๓. โคตรภูญาณ (ญาณครอบโคตร คือ ความหยั่งรู้ที่เป็นหัวต่อแห่งการข้ามพ้นจากภาวะปุถุชนเข้าสู่ภาวะอริยบุคคล — knowledge at the moment of the Change-of-lineage’)

๑๔. มัคคญาณ (ญาณในอริยมรรค คือ ความหยั่งรู้ที่ให้สำเร็จภาวะอริยบุคคลแต่ละขั้น —knowledge of the Path)

๑๕. ผลญาณ (ญาณในอริยผล คือ ความหยั่งรู้ที่เป็นผลสำเร็จของพระอริยบุคคลชั้นนั้นๆ — knowledge of Fruition)

๑๖. ปัจจเวกขณญาณ (ญาณหยั่งรู้ด้วยการพิจารณาทบทวน คือ สำรวจรู้มรรค ผล กิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่เหลืออยู่ และนิพพาน เว้นแต่ว่าพระอรหันต์ไม่มีการพิจารณากิเลสที่ยังเหลืออยู่ — knowledge of reviewing)

ในญาณ ๑๖ นี้ ๑๔ อย่าง (ข้อ ๑-๑๓ และ ๑๖) เป็น โลกียญาณ, ๒ อย่าง (ข้อ ๑๔ และ ๑๕) เป็น โลกุตตรญาณ

ญาณ ๑๖ (บางทีเรียกว่า โสฬสญาณ ซึ่งก็แปลว่าญาณ ๑๖ นั่นเอง) ที่จัดลำดับเป็นชุดและเรียกชื่อเฉพาะอย่างนี้ มิใช่มาในพระบาลีเดิมโดยตรง พระอาจารย์ในสายวงการวิปัสสนาธุระได้สอนสืบกันมา โดยประมวลจากคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค และวิสุทธิมรรค ในกาลต่อมา

(พึงดู ขุ.ปฏิ.๓๑/มาติกา/๑-๒ = Ps.1  และ วิสุทธิ.๓/๒๐๖-๓๒๘ = Vism. 587-678)



(๓๓๔) อุปกิเลส หรือ จิตตอุปกิเลส ๑๖ (ธรรมเครื่องเศร้าหมอง, สิ่งทีทำให้จิตขุ่นมัว รับคุณธรรมได้ยาก ดุจผ้าเปรอะเปื้อนสกปรก ย้อมไม่ได้ดี — mental defilements)

๑. อภิชฌาวิสมโลภะ (คิดเพ่งเล็งอยากได้ โลภไม่สมควร, โลภกล้า จ้องจะเอาไม่เลือกควรไม่ควร — greed and covetousness; covetousness and unrighteous greed)

๒. พยาบาท (คิดร้ายเขา — malevolence; illwill)

๓. โกธะ (ความโกรธ — anger)

๔. อุปนาหะ (ความผูกโกรธ — grudge; spite)

๕. มักขะ (ความลบหลู่คุณท่าน, ความหลู่ความดีของผู้อื่น, การลบล้างปิดซ่อนคุณค่าความดีของผู้อื่น — detraction; depreciation; denigration)

๖. ปลาสะ (ความตีเสมอ, ยกตัวเทียมท่าน, เอาตัวขึ้นตั้งขวางไว้ ไม่ยอมยกให้ใครดีกว่าตน — domineering; rivalry; envious rivalry)

๗. อิสสา (ความริษยา — envy; jealousy)

๘. มัจฉริยะ (ความตระหนี่ — stinginess; meanness)

๙. มายา (มารยา — deceit)

๑๐. สาเถยยะ (ความโอ้อวดหลอกเขา, หลอกด้วยคำโอ้อวด — hypocrisy)

๑๑. ถัมภะ (ความหัวดื้อ, กระด้าง — obstinacy; rigidity)

๑๒. สารัมภะ (ความแข่งดี, ไม่ยอมลดละ มุ่งแต่จะเอาชนะกัน — presumption; competing contention; contentiousness; contentious rivalry; vying; strife)

๑๓. มานะ (ความถือตัว, ทะนงตน — conceit)

๑๔. อติมานะ (ความถือตัวว่ายิ่งกว่าเขา, ดูหมิ่นเขา — excessive conceit; contempt)

๑๕. มทะ (ความมัวเมา — vanity)

๑๖. ปมาทะ (ความประมาท, ละเลย, เลินเล่อ — heedlessness; negligence; indolence)

ข้อ ๒ มีต่างออกไป คือ ในธัมมทายาทสูตร เป็น โทสะ (ความคิดประทุษร้ายเขา — hatred) (ม.มู.๑๒/๒๖/๒๖)

M.I.36     ม.มู.๑๒/๙๓/๖๕.



(๓๓๕) ธาตุ ๑๘ (สิ่งที่ทรงสภาวะของตนอยู่เอง ตามที่เหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้น เป็นไปตามธรรมนิยามคือกำหนดแห่งธรรมดา ไม่มีผู้สร้างผู้บันดาล และมีรูปลักษณะกิจอาการเป็นแบบจำเพาะตัว อนพึงกำหนดเอาเป็นหลักได้แต่ละอย่างๆ — elements)

๑. จักขุธาตุ (ธาตุคือจักขุปสาท — eye element)

๒. รูปธาตุ (ธาตุคือรูปารมณ์ — visible-data element)

๓. จักขุวิญญาณธาตุ (ธาตุคือจักขุวิญญาณ — eye-consciousness element)

๔. โสตธาตุ (ธาตุคือโสตปสาท — ear element)

๕. สัททธาตุ (ธาตุคือสัททารมณ์ — sound element)

๖. โสตวิญญาณธาตุ (ธาตุคือโสตวิญญาณ — ear-consciousness element)

๗. ฆานธาตุ (ธาตุคือฆานปสาท — nose element)

๘. คันธธาตุ (ธาตุคือคันธารมณ์ — odor element)

๙. ฆานวิญญาณธาตุ (ธาตุคือฆานวิญญาณ — nose-conscious-ness element)

๑๐. ชิวหาธาตุ (ธาตุคือชิวหาปสาท — tongue element)

๑๑. รสธาตุ (ธาตุคือรสารมณ์ — flavor element)

๑๒. ชิวหาวิญญาณธาตุ (ธาตุคือชิวหาวิญญาณ — tongue-consciousness element)

๑๓. กายธาตุ (ธาตุคือกายปสาท — body element)

๑๔. โผฏฐัพพธาตุ (ธาตุคือโผฏฐัพพารมณ์ — tangible-data element)

๑๕. กายวิญญาณธาตุ (ธาตุคือกายวิญญาณ — body-consciousness element)

๑๖. มโนธาตุ (ธาตุคือมโน — mind element)

๑๗. ธรรมธาตุ (ธาตุคือธรรมารมณ์ — mental-data element)

๑๘. มโนวิญญาณธาตุ (ธาตุคือมโนวิญญาณ — mind-consciousness element)

ข้อควรสังเกต

ก. ข้อ ๓-๖-๙-๑๒-๑๕ ได้แก่ ทวิปัญจวิญญาณ รวมเป็นจิต = ๑๐

ข. ข้อ ๑๖ มโนธาตุ ได้แก่ สัมปฏิจฉนะ ๒ กับปัญจทวาราวัชชนะ ๑  รวมเป็นจิต = ๓

ค. ข้อ ๑๘ มโนวิญญาณธาตุ ได้แก่ จิตนอกเหนือจากนั้นอีก ๗๖

รวมเป็นจิตทั้งสิ้น = ๘๙

ดู (๓๔๒) จิต ๘๙ หรือ ๑๒๑.

Vbh.87; Vism.484; Comp.183.     อภิ.วิ.๓๕/๑๒๔/๑๐๘; วิสุทธิ.๓/๖๕; สังคห.๔๔.



(๓๓๖) อินทรีย์ ๒๒ (สิ่งที่เป็นใหญ่ในการทำกิจของตน คือ ทำให้ธรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นไปตามตน ในกิจนั้นๆ ในขณะที่เป็นไปอยู่นั้น — faculties)

หมวดที่ ๑

๑. จักขุนทรีย์ (อินทรีย์ คือ จักขุปสาท — eye-faculty)

๒. โสตินทรีย์ (อินทรีย์ คือ โสตปสาท — ear-faculty)

๓. ฆานินทรีย์ (อินทรีย์ คือ ฆานปสาท — nose-faculty)

๔. ชิวหินทรีย์ (อินทรีย์ คือ ชิวหาปสาท — tongue-faculty)

๕. กายินทรีย์ (อินทรีย์ คือ กายปสาท — body-faculty)

๖. มนินทรีย์ (อินทรีย์ คือ ใจ ได้แก่ จิต ที่จำแนกเป็น ๘๙ หรือ ๑๒๑ ก็ตาม mind-faculty)

หมวดที่ ๒

๗. อิตถินทรีย์ (อินทรีย์ คือ อิตถีภาวะ — femininity faculty)

๘. ปุริสินทรีย์ (อินทรีย์ คือ ปุริสภาวะ — masculinity faculty; virility)

๙. ชีวิตินทรีย์ (อินทรีย์ คือ ชีวิต — life faculty; vitality)

หมวดที่ ๓

๑๐. สุขินทรีย์ (อินทรีย์ คือ สุขเวทนา — bodily-pleasure faculty)

๑๑. ทุกขินทรีย์ (อินทรีย์ คือ ทุกขเวทนา — bodily-pain faculty)

๑๒. โสมนัสสินทรีย์ (อินทรีย์ คือ โสมนัสสเวทนา — joy faculty)

๑๓. โทมนัสสินทรีย์ (อินทรีย์ คือ โทมนัสสเวทนา — grief faculty)

๑๔. อุเปกขินทรีย์ (อินทรีย์ คือ อุเบกขาเวทนา — indifference faculty)

หมวดที่ ๔

๑๕. สัทธินทรีย์ (อินทรีย์ คือ ศรัทธา — faith faculty)

๑๖. วิริยินทรีย์ (อินทรีย์ คือ วิริยะ — energy faculty)

๑๗. สตินทรีย์ (อินทรีย์ คือ สติ — mindfulness faculty)

๑๘. สมาธินทรีย์ (อินทรีย์ คือ สมาธิ ได้แก่ เอกัคคตา — concentration faculty)

๑๙. ปัญญินทรีย์ (อินทรีย์ คือ ปัญญา — wisdom faculty)

หมวดที่ ๕

๒๐. อนัญญตัญญัตญัสสามีตินทรีย์ (อินทรีย์แห่งผู้ปฏิบัติด้วยมุ่งว่าเราจักรู้สัจจธรรม ที่ยังมิได้รู้ ได้แก่ โสตาปัตติมัคคญาณ — ‘I shall come to know the unknown’ faculty, i.e. knowledge of the stream-entry path.)

๒๑. อัญญินทรีย์ (อินทรีย์ คือ อัญญา หรือปัญญาอันรู้ทั่วถึง ได้แก่ ญาณ ๖ ในท่ามกลาง คือ โสตาปัตติผลญาณ ถึงอรหัตตมัคคญาณ — perfect-knowledge faculty, i.e. knowledge of the six intermediate Paths and Fruitions)

๒๒. อัญญาตาวินทรีย์ (อินทรีย์แห่งท่านผู้รู้ทั่วถึงแล้ว กล่าวคือ ปัญญาของพระอรหันต์ ได้แก่ อรหัตตผลญาณ — perfect-knower faculty, i.e. knowledge of the Fruition of Arahantship)

อินทรีย์ ๒๒ นี้ ที่มาในพระสูตร มีกระจายอยู่เป็นหมวดๆ ในที่หลายแห่งไม่ครบทั้ง ๒๒ ในที่เดียวกัน เฉพาะที่มาสำคัญได้แก่ อินทรียสังยุต (สํ.ม.๑๙/๘๔๓-๑๐๘๙/๒๕๖-๓๑๘; S.V.๑๙๓-๒๔๓) ส่วนที่มาใจพระอภิธรรม และปกรณพิเศษภายหลังมีวิสุทธิมรรค และอภิธัมมัตถสังคหะ เป็นต้น มีคำอธิบายโดยพิสดาร

Vbh.122; Vism.491; Comp. 175     อภิ.วิ.๓๕/๒๓๖/๑๖๑; วิสุทธิ.๓/๗๒; สังคห..๔๑ (***) รูป ๒๘   ดู (๓๘) รูป ๒๘; (๓๙) มหาภูต ๔; (๔๐) อุปาทานรูป ๒๔



(๓๓๗) ภูมิ ๔ หรือ ๓๑ (ชั้นแห่งจิต, ระดับจิตใจ, ระดับชีวิต — planes of existence; planes of life)

๑. อบายภูมิ ๔ (ภูมิที่ปราศจากความเจริญ — planes of loss and woe; unhappy planes)

๑) นิรยะ (นรก — woeful state; hell)

๒) ติรัจฉานโยนิ (กำเนิดดิรัจฉาน — animal kingdom)

๓) ปิตติวิสัย (แดนเปรต — ghost-sphere)

๔) อสุรกาย (พวกอสูร — host of demons)

๒. กามสุคติภูมิ ๗ (กามาวจรภูมิที่เป็นสุคติ, ภูมิที่เป็นสุคติซึ่งยังเกี่ยวข้องกับกาม — sensuous blissful planes)

๑) มนุษย์ (ชาวมนุษย์ — human realm)

๒) จาตุมมหาราชิกา (สวรรค์ชั้นที่ท้าวมหาราช ๔ ปกครอง — realm of the Four Great Kings)

๓) ดาวดึงส์ (แดนแห่งเทพ ๓๓ มีท้าวสักกะเป็นใหญ่ — realm of the Thirty-three Gods)

๔) ยามา (แดนแห่งเทพผู้ปราศจากความทุกข์ — realm of the Yama gods)

๕) ดุสิต (แดนแห่งเทพผู้เอิบอิ่มด้วยสิริสมบัติของตน — realm of satisfied fods)

๖) นิมมานรดี (แดนแห่งเทพผู้ยินดีในการเนรมิต — realm of the gods who rejoice in their own creations)

๗) ปรนิมมิตวสวัตตี (แดนแห่งเทพผู้ยังอำนาจให้เป็นไปในสมบัติที่ผู้อื่นนิรมิตให้ — realm of gods who lord over the creation of others)

ภูมิทั้ง ๑๑ ใน ๒ หมวดนี้ รวมเป็น กามาวจรภูมิ ๑๑ (ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในกาม — sensuous planes)

๓. รูปาวจรภูมิ ๑๖ (ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูป, ชั้นรูปพรหม — form-planes)

ก. ปฐมฌานภูมิ ๓ (ระดับปฐมฌาน — first-Jhana planes)

  ๑) พรหมปาริสัชชา (พวกบริษัทบริวารมหาพรหม — realm of great Brahmas ’ attendants)

  ๒) พรหมปุโรหิตา (พวกปุโรหิตมหาพรหม — realm of great Brahmas’ ministers)

  ๓) มหาพรหม (พวกท้าวมหาพรหม — realm of great Brahmas)

ข. ทุติยฌานภูมิ ๓ (ระดับทุติยฌาน — second-Jhana planes)

  ๔) ปริตตาภา (พวกมีรัศมีน้อย — realm of Brahmas with limited lustre)

  ๕) อัปปมาณาภา (พวกมีรัศมีประมาณไม่ได้ — realm of Brahmas with infinite lustre)

  ๖) อาภัสสรา (พวกมีรัศมีสุกปลั่งซ่านไป — realm of Brahmas with radiant lustre)

ค. ตติยฌานภูมิ ๓ (ระดับตติยฌาน — third-Jhana planes)

  ๗) ปริตตสุภา(พวกมีลำรัศมีงามน้อย — realm of Brahmas with limited aura)

  ๘) อัปปมาณสุภา (พวกมีลำรัศมีงามประมาณหามิได้ — realm of Brahmas with infinite aura)

  ๙) สุภกิณหา (พวกมีลำรัศมีงามกระจ่างจ้า — realm of Brahmas with steady aura)

ง. จตุตถฌานภูมิ ๓—๗ (ระดับจตุตถฌาน — fourth-Jhana planes)

  ๑๐) เวหัปผลา (พวกมีผลไพบูลย์ — realm of Brahmas with abundant reward)

  ๑๑) อสัญญีสัตว์ (พวกสัตว์ไม่มีสัญญา — realm of non-percipient beings)

(*) สุทธาวาส ๕ (พวกมีที่อยู่อันบริสุทธิ์ หรือ ที่อยู่ของท่านผู้บริสุทธิ์ คือ ที่เกิดของพระอนาคามี — pure abodes) คือ

  ๑๒) อวิหา (เหล่าท่านผู้ไม่เสื่อมจากสมบัติของตน หรือผู้ไม่ละไปเร็ว, ผู้คงอยู่นาน — realm of Brahmas who do not fall from prosperity)

  ๑๓) อตัปปา (เหล่าท่านผู้ไม่ทำความเดือดร้อนแก่ใคร หรือผู้ไม่เดือดร้อนกับใคร — realm of Brahmas who are serene)

  ๑๔) สุทัสสา (เหล่าท่านผู้งดงามน่าทัศนา — realm of Brahmas who are beautiful)

  ๑๕) สุทัสสี (เหล่าท่านผู้มองเห็นชัดเจนดี หรือผู้มีทัศนาแจ่มชัด — realm of Brahmas who are clear-sighted)

  ๑๖) อกนิฏฐา (เหล่าท่านผู้ไม่มีความด้อยหรือเล็กน้อยกว่าใคร, ผู้สูงสุด — realm of the highest or supreme Brahmas)

๔. อรูปาวจรภูมิ ๔ (ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในอรูป, ชั้นอรูปพรหม — formless planes)

๑) อากาสานัญจายตนภูมิ (ชั้นที่เข้าถึงภาวะมีอากาศไม่มีที่สุด — realm of infinite space)

๒) วิญญาณัญจายตนภูมิ (ชั้นที่เข้าถึงภาวะมีวิญญาณไม่มีที่สุด — realm of infinite consciousness)

๓) อากิญจัญญายตนภูมิ (ชั้นที่เข้าถึงภาวะไม่มีอะไร — realm of mothingness)

๔) เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ (ชั้นที่เข้าถึงภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ — realm of neither perception nor non-perception)

ปุถุชน พระโสดาบัน และพระสกทาคามี ย่อมไม่เกิดในสุทธาวาสภูมิ; พระอริยะไม่เกิดในอสัญญีภพ และในอบายภูมิ; ในภูมินอกจากนี้ ย่อมมีทั้งพระอริยะ และมิใช่อริยะไปเกิด.

ในบาลีแห่งทีฆนิกาย เป็นต้น แสดง คติ (ที่ไปเกิดของสัตว์, แบบการดำเนินชีวิต — destiny; course of existence) ว่ามี ๕ คือ นิรยะ ติรัจฉานโยนิ เปตติวิสัย มนุษย์ และเทพ (พวกเทพ — heavenly world ได้แก่ภูมิ ๒๖ ตั้งแต่จาตุมหาราชิกาขึ้นไปทั้งหมด) จะเห็นว่าภูมิ ๓๑ สงเคราะห์ลงได้ในคติ ๕ ทั้งหมด ขาดแต่อสุรกาย อย่างไรก็ดีในอรรถกถาแห่งอิติวุตตกะ ท่านกล่าวว่า อสูร สงเคราะห์ลงในเปตตวิสัยด้วย จึงเป็นอันสงเคราะห์ลงได้บริบูรณ์ และในคติ ๕ นั้น ๓ คติแรกจัดเป็นทุคติ (woeful courses) ๒ คติหลังเป็นสุคติ (happy courses).

อนึ่ง พึงเทียบภูมิ ๔ หรือ ภูมิ ๓๑ ข้อนี้ กับ (๑๖๑) ภูมิ ๔ ที่มาในพระบาลีด้วย กล่าวคือ ภูมิ ๔ หรือ ๓๑ ชุดนี้ จัดเข้าในภูมิ ๓ ข้อต้นใน (๑๖๑) ภูมิ ๔ ดังนี้ อบายภูมิ ๔ และกามสุคติภูมิ ๗ รวมเข้าเป็นกามาวจรภูมิ (๑๑) ส่วนรูปาวจรภูมิ (๑๖) และ อรูปาวจรภูมิ (๔) ตรงกัน รวมภูมิทั้งหมด ๓๑ นี้ เป็นโลกิยภูมิ พ้นจากนี้ไปเป็นโลกุตตรภูมิ

ดู (๑๖๑) ภูมิ ๔; (๑๙๒) อบาย ๔; (๑๙๙) อรูป ๔; (๒๕๖) สวรรค์ ๖.

Comp.137.     สังคห.๒๕



(๓๓๘) โพธิปักขิยธรรม ๓๗ (ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ คือ เกื้อกูลแก่การตรัสรู้, ธรรมเกื้อหนุนแก่อริยมรรค — virtues partaking of enlightenment; qualities contributing to or constituting enlightenment; enlightenment states)

๑. สติปัฏฐาน ๔  ดู (๑๗๙)

๒. สัมมัปปธาน ๔  ดู (๑๕๕)

๓. อิทธิบาท ๔  ดู (๒๐๕)

๔. อินทรีย์ ๕  ดู (๒๔๖)

๕. พละ ๕  ดู (๒๒๐)

๖. โพชฌงค์ ๗  ดู (๒๖๖)

๗. มรรคมีองค์ ๘  ดู (๒๗๘)

Vbh.249     อภิ.วิ.๓๕/๖๑๑/๓๓๖.



(๓๓๙) มงคล ๓๘ (สิ่งที่ทำให้มีโชคดี, ธรรมอันนำมาซึ่งความสุขความเจริญ — blessings; เรียกเต็มว่า อุดมมงคล คือมงคลอันสูงสุด — highest blessings)

คาถาที่ ๑

๑. อเสวนา จ พาลานํ (ไม่คบคนพาล — not to associate with fools; to dissociate from the wicked)

๒. ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา (คบบัณฑิต — to associate with the wise)

๓. ปูชา จ ปูชนียานํ (บูชาคนที่ควรบูชา — to honor those who are worthy of honor)

คาถาที่ ๒

๔. ปฏิรูปเทสวาโส จ (อยู่ในปฏิรูปเทศ, อยู่ในถิ่นมีสิ่งแวดล้อมดี — living in a suitable region; good environment)

๕. ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา (ได้ทำความดีให้พร้อมไว้ก่อน, ทำความดีเตรียมพร้อมไว้แต่ต้น — having formerly done meritorious deeds)

๖. อตฺตสมฺมาปณิธิ จ (ตั้งตนไว้ชอบ — setting oneself in the right course; right direction in self-guidance; perfect self-adjustment)

คาถาที่ ๓

๗. พาหุสจฺจญฺจ (เล่าเรียนศึกษามาก, ทรงความรู้กว้างขวาง, ใส่ใจสดับตรับฟัง ค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ — great learning; extensive learning)

๘. สิปฺปญฺจ (มีศิลปวิทยา, ชำนาญในวิชาชีพของตน — skill; knowledge of the arts and sciences)

๙. วินโย จ สุสิกฺขิโต (มีระเบียบวินัย, ได้ฝึกอบรมตนไว้ดี — highly trained discipline)

๑๐. สุภาสิตา จ ยา วาจา (วาจาสุภาษิต, รู้จักใช้วาจาพูดให้เป็นผลดี — well-spoken speech)

คาถาที่ ๔

๑๑. มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ (บำรุงมารดาบิดา — support of mother and father)

๑๒/๑๓. ปุตฺตทารสฺส สงฺคโห = ปุตฺตสงฺคห (สงเคราะห์บุตร — cherishing of children) และ ทารสงฺคห (สงเคราะห์ภรรยา — cherishing of wife)

๑๔. อนากุลา จ กมฺมนฺตา (การงานไม่อากูล — a livelihood which is free from complications)

คาถาที่ ๕

๑๕. ทานญฺจ (รู้จักให้, เผื่อแผ่แบ่งปัน, บริจาคสงเคราะห์และบำเพ็ญประโยชน์ — charity; liberality; generosity)

๑๖. ธมฺมจริยา จ (ประพฤติธรรม, ดำรงอยู่ในศีลธรรม — righteous conduct)

๑๗. ญาตกานญฺจ สงฺคโห (สงเคราะห์ญาติ — rendering aid to relations)

๑๘. อนวชฺชานิ กมฺมานิ (การงานที่ไม่มีโทษ, กิจกรรมที่ดีงาม เป็นประโยชน์ ซึ่งไม่เป็นทางเสียหาย — blameless actions; unexceptionable or beneficial activities)

คาถาที่ ๖

๑๙. อารตี วิรตี ปาปา (เว้นจากความชั่ว — abstaining from evils and avoiding them)

๒๐. มชฺชปานา จ สญฺญโม (เว้นจากการดื่มน้ำเมา — abstinence from intoxicants)

๒๑. อปฺปมาโท จ ธมฺเมสุ (ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย — diligence in virtue; perseverance in virtuous acts)

คาถาที่ ๗

๒๒. คารโว จ (ความเคารพ, การแสดงออกที่แสดงถึงความเป็นผู้รู้จักคุณค่าของบุคคล สิ่งของ หรือกิจการนั้นๆ และรู้จักให้ความสำคัญและความใส่ใจเอื้อเฟื้อโดยเหมาะสม — reverence; respect; appreciative action)

๒๓. นิวาโต จ (ความสุภาพอ่อนน้อม, ถ่อมตน — humility; courtesy; politeness)

๒๔. สนฺตุฏฺฐี จ (ความสันโดษ, ความเอิบอิ่มพึงพอใจในผลสำเร็จที่ได้สร้างขึ้น หรือในปัจจัยลาภที่แสวงหามาได้ ด้วยเรี่ยวแรงความเพียรพยายามของตนเองโดยทางชอบธรรม — contentment)

๒๕. กตญฺญุตา (มีความกตัญญู — gratitude)

๒๖. กาเลน ธมฺมสฺสวนํ (ฟังธรรมตามกาล, หาโอกาสแสวงหาความรู้เกี่ยวกับหลักความจริง ความดีงาม และเรื่องที่เป็นประโยชน์ — the opportune hearing of the Doctrine; listening to good advice and the teaching of Truth on due occasions)

คาถาที่ ๘

๒๗. ขนฺตี จ (มีความอดทน — patience; forbearance; tolerance)

๒๘. โสวจสฺสตา (เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย, พูดกันง่าย ฟังเหตุผล — amenability to correction; obedience)

๒๙. สมณานญฺจ ทสฺสนํ (พบเห็นสมณะ, เยี่ยมเยียนเข้าหาท่านผู้สงบกิเลส — seeing the holy men)

๓๐. กาเลน ธมฺมสากจฺฉา (สนทนาธรรมตามกาล, หาโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นกันเกี่ยวกับหลักความจริงความดีงามและเรื่องที่เป็นประโยชน์ — religious discussion at due seasons; regular or opportune discussion of Truth)

คาถาที่ ๙

๓๑. ตโป จ (มีความเพียรเผากิเลส, รู้จักบังคับควบคุมตน ไม่ปรนเปรอตามใจอยาก — self-control; simple life)

๓๒. พฺรหฺมจริยญฺจ (ประพฤติพรหมจรรย์, ดำเนินตามอริยมรรค, การรู้จักควบคุมตนในทางเพศ หรือถือเมถุนวิรัตตามควร — a holy life)

๓๓. อริยสจฺจาน ทสฺสนํ (เห็นอริยสัจ, เข้าใจความจริงของชีวิต — discernment of the Noble Truths)

๓๔. นิพฺพานสจฺฉิกิริยา จ (ทำพระนิพพานให้แจ้ง, บรรลุนิพพาน — realization of Nibbana)

คาถาที่ ๑๐

๓๕. ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ (ถูกโลกธรรม จิตไม่หวั่นไหว — to have a mind which is not shaken when touched by worldly vicissitudes)

๓๖. อโสกํ (จิตไร้เศร้า — to have the mind which is free from sorrow)

๓๗. วิรชํ (จิตปราศจากธุลี — to have the mind which is undefiled)

๓๘. เขมํ (จิตเกษม — to have the mind which is secure)

แต่ละคาถามีบทสรุปว่า "เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ" (นี้เป็นมงคลอันอุดม — this is the highest blessing)

มีคาถาสรุปท้ายมงคลทั้ง ๓๘ นี้ว่า

    "เอตาทิสานิ กตฺวาน        สพฺพตฺถมปราชิตา

    สพฺพตฺถ โสตฺถี คจฺฉนฺติ    ตนฺเตสํ มงฺคลมุตฺตมนฺติ."

แปลว่า "เทวะมนุษย์ทั้งหลายกระทำมงคลเช่นนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่ปราชัยในที่ทุกสถาน ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทั้งปวง นี้คืออุดมมงคลของเทวะมนุษย์เหล่านั้น." (Those who have done these things see no defeat and go in safety everywhere. To them these are the highest blessings.)

Kh.V.3; Sn.259-268.     ข.ขุ.๒๕/๕/๓; ขุ.สุ.๒๕/๓๑๗/๓๗๖.



(๓๔๐) กรรมฐาน ๔๐ (ที่ตั้งแห่งการทำงานของจิต, สิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์ในการเจริญภาวนา, อุปกรณ์ในการฝึกอบรมจิต — mental exercises; subjects of meditation)

๑. กสิณ ๑๐   ดู (๓๐๓)

๒. อสุภะ ๑๐   ดู (๓๒๔)

๓. อนุสติ ๑๐   ดู (๓๒๓)

๔. อัปปมัญญา ๔   ดู (๑๖๐)

๕. อาหาเร ปฏิกูลสัญญา (กำหนดพิจารณาความเป็นปฏิกูลในอาหาร — perception of the loathsomeness of food)

๖. จตุธาตุวัฏฐาน (กำหนดพิจารณาธาตุ ๔, พิจารณาเห็นร่างกายของจนโดยสักว่าเป็นธาตุ ๔ แต่ละอย่างๆ; ธาตุมนสิการ ก็เรียก — analysis of the four elements)

๗. อรูป ๔   ดู (๑๙๙)

กรรมฐานใดให้ได้สมาธิถึงขั้นใด  ดู (๙๘) ภาวนา ๓;  กรรมฐานใดเหมาะกับจริตใด ดู (๒๕๐) จริต ๖.

Vism. 110; Comp.204.     วิสุทธิ.๑/๑๓๙; สังคห.๕๑



(๓๔๑) เจตสิก ๕๒ (ธรรมที่ประกอบกับจิต, สภาวธรรมที่เกิดดับพร้อมกับจิต มีอารมณ์และวัตถุที่อาศัยเดียวกันกับจิต, อาการและคุณสมบัติต่างๆ ของจิต — mental factors; mental concomitants)

ก. อัญญาสมานาเจตสิก ๑๓ (เจตสิกที่มีเสมอกันแก่จิตพวกอื่น คือ ประกอบเข้าได้กับจิตทุกฝ่ายทั้งกุศลและอกุศล มิใช่เข้าได้แต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพวกเดียว — the Common-to-Each-Other; general mental factors)

๑) สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ (เจตสิกที่เกิดทั่วไปกับจิตทุกดวง — universal mental factors; the Primary)

๑. ผัสสะ (ความกระทบอารมณ์ — contact; sense-impression)

๒. เวทนา(ความเสวยอารมณ์ — feeling)

๓. สัญญา (ความหมายรู้อารมณ์ — perception)

๔. เจตนา (ความจงใจต่ออารมณ์ — volition)

๕. เอกัคคตา (ความมีอารมณ์เป็นอันเดียว — one-pointedness; concentration)

๖. ชีวิตินทรีย์ (อินทรีย์คือชีวิต, สภาวะที่เป็นใหญ่ในการรักษานามธรรมทั้งปวง — vitality; life-faculty)

๗. มนสิการ (ความกระทำอารมณ์ไว้ในใจ, ใส่ใจ — attention)

๒) ปกิณณกเจตสิก ๖ (เจตสิกที่เรี่ยรายแพร่กระจายทั่วไป คือ เกิดกับจิตได้ทั้งฝ่ายกุศล และอกุศล แต่ไม่แน่ นอนเสมอไปทุกดวง — particular mental factors; the Secondary)

๘. วิตก (ความตรึกอารมณ์ — initial application; thought conception; applied thought)

๙. วิจาร (ความตรองหรือพิจารณาอารมณ์ — sustained application; discursive thinking; sustained thought)

๑๐. อธิโมกข์ (ความปลงใจหรือปักใจในอารมณ์ — determination; resolution)

๑๑. วิริยะ (ความเพียร — effort; energy)

๑๒. ปีติ (ความปลาบปลื้มในอารมณ์, อิ่มใจ — joy; interest)

๑๓. ฉันทะ (ความพอใจในอารมณ์ — conation; zeal)

ข. อกุศลเจตสิก ๑๔ (เจตสิกฝ่ายอกุศล — immoral or unwholesome mental factors; unprofitable mental factors)

๑) สัพพากุสลสาธารณเจตสิก ๔ (เจตสิกที่เกิดทั่วไปกับอกุศลจิตทุกดวง — universal immorals; the Primary)

๑๔. โมหะ (ความหลง — delusion) ๑๕. อหิริกะ (ความไม่ละอายต่อบาป — shamelessness; lack of moral shame)

๑๖. อโนตตัปปะ (ความไม่สะดุ้งกลัวต่อบาป — fearlessness; lack of moral dread)

๑๗. อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน — restlessness; unrest)

๒) ปกิณณกอกุศลเจตสิก ๑๐ (อกุศลเจตสิกที่เกิดเรี่ยรายแก่อกุศลจิต — particular immorals; the Secondary)

๑๘. โลภะ (ความอยากได้อารมณ์ — greed) ๑๙. ทิฏฐิ (ความเห็นผิด — wrong view)

๒๐. มานะ (ความถือตัว — conceit)

๒๑. โทสะ (ความคิดประทุษร้าย — hatred)

๒๒. อิสสา (ความริษยา — envy; jealousy)

๒๓. มัจฉริยะ (ความตระหนี่ — stinginess; meanness)

๒๔. กุกกุจจะ (ความเดือดร้อนใจ — worry; remorse)

๒๕. ถีนะ (ความหดหู่ — sloth)

๒๖. มิทธะ (ความง่วงเหงา — torpor)

๒๗. วิจิกิจฉา (ความคลางแคลงสงสัย — doubt; uncertainty; scepsis)

ค. โสภณเจตสิก ๒๕ (เจตสิกฝ่ายดีงาม — beautiful mental factors; lofty mental factors)

๑) โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ (เจตสิกที่เกิดทั่วไปกับจิตดีงามทุกดวง — universal beautiful mental factors; the Primary)

๒๘. สัทธา (ความเชื่อ — confidence; faith)

๒๙. สติ (ความระลึกได้, ความสำนึกพร้อมอยู่ — mindfulness)

๓๐. หิริ (ความละอายต่อบาป — moral shame; conscience)

๓๑. โอตตัปปะ (ความสะดุ้งกลัวต่อบาป — moral dread)

๓๒. อโลภะ (ความไม่อยากได้อารมณ์ — non-greed)

๓๓. อโทสะ (ความไม่คิดประทุษร้าย — non-hatred)

๓๔. ตัตรมัชฌัตตตา (ความเป็นกลางในอารมณ์นั้นๆ — equanimity; specific neutrality)

๓๕. กายปัสสัทธิ (ความสงบแห่งกองเจตสิก — tranquillity of mental body)

๓๖. จิตตปัสสัทธิ (ความสงบแห่งจิต — tranquillity of mind)

๓๗. กายลหุตา (ความเบาแห่งกองเจตสิก — lightness of mental body; agility of ~ )

๓๘. จิตตลหุตา (ความเบาแห่งจิต — lightness of mind; agility of ~ )

๓๙. กายมุทุตา (ความอ่อนหรือนุ่มนวลแหงกองเจตสิก — pliancy of mental body; elasticity of ~ )

๔๐. จิตตมุทุตา (ความอ่อนหรือนุ่มนวลแห่งจิต — pliancy of mind; elasticity of ~ )

๔๑. กายกัมมัญญตา (ความควรแก่การงานแห่งกองเจตสิก — adaptability of mind; wieldiness of ~ )

๔๒. จิตตกัมมัญญตา (ความควรแก่การงานแห่งจิต — adaptability of mind; wieldiness of ~ )

๔๓. กายปาคุญญตา (ความคล่องแคล่วแห่งกองเจตสิก — proficiency of mental body)

๔๔. จิตตปาคุญญตา (ความคล่องแคล่วแห่งจิต — proficiency of mind)

๔๕. กายุชุกตา (ความซื่อตรงแห่งกองเจตสิก — rectitude of mental body; uprightness of ~ )

๔๖. จิตตุชุกตา (ความซื่อตรงแห่งจิต — rectitude of mind; uprightness of ~ )

๒) วิรตีเจตสิก ๓ (เจตสิกที่เป็นตัวความงดเว้น — abstinences)

๔๗. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ — right speech)

๔๘. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ — right action)

๔๙. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ — right livelihood)

๓) อัปปมัญญาเจตสิก ๒ (เจตสิกคืออัปปมัญญา — boundless states)

๕๐. กรุณา (ความสงสารสัตว์ผู้ถึงทุกข์ — compassion)

๕๑. มุทิตา (ความยินดีต่อสัตว์ผู้ได้สุข — sympathetic joy)

๔) ปัญญินทรีย์เจตสิก ๑ (เจตสิกคือปัญญินทรีย์ — faculty of wisdom)

๕๒. ปัญญินทรีย์ หรือ อโมหะ (ความรู้เข้าใจ ไม่หลง — undeludedness; wisdom)

Comp. 94     สังคห.๗.



(๓๔๒) จิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ (ธรรมชาติที่รู้อารมณ์, สภาพที่นึกคิด, ความคิด, ใจ, วิญญาณ — mind; thought; consciousness; a state of consciousness)

"จิต"มีไวพจน์ คือ คำที่ต่างเพียงรูป แต่มีความหมายเหมือนกันหรือคล้ายกัน ใช้แทนกันได้หลายคำ เช่น มโน มานัส หทัย บัณฑร มนายตนะ มนินทรีย์ และ วิญญาณ เป็นต้น (อภิ.สํ.๓๔/๒๑/๑๐; ฯลฯ) คำเหล่านี้มีความหมายเกยกัน มิใช่ตรงกันโดยสมบูรณ์ ใช้แทนกันได้ในบางโอกาส มิใช่เสมอไป

เมื่อจัดแบ่งสภาวธรรมทั้งหลายเป็นประเภทๆ ที่เรียกว่า ขันธ์ ๕ จิตได้แก่ วิญญาณขันธ์ แต่ในคัมภีร์อภิธรรมยุคต่อมา นิยมประมวลสภาวธรรมเข้าเป็น ๔ อย่าง เรียกว่า ปรมัตถธรรม ๔ จิต เป็นปรมัตถธรรมอย่างที่ ๑; ดู (๑๕๖) ปรมัตถธรรม ๔; (๒๐๘) ขันธ์ ๕.

คัมภีร์อภิธรรมรุ่นอรรถกถา ประมวลเรื่องจิตที่แสดงไว้ในพระอภิธรรมปิฎกแล้ว แจ้งนับสภาพจิตทั้งหลายไว้ว่ามีจำนวน ๘๙ หรือโดยพิสดารมี ๑๒๑ เรียกว่า จิต ๘๙ หรือ ๑๒๑

เบื้องต้นนี้ จะประมวลจิตทั้งหมดไว้เป็นหมวดหมู่ใหญ่ๆ ก่อน เพื่อสะดวกในการศึกษากำหนดจดจำและทบทวนต่อไป ในที่นี้ พึงทราบวิธีจำแนกประเภท ๒ แบบ เปรียบเทียบกัน ดังนี้

ก. โดยชาติประเภท

๑. อกุศลจิต ๑๒

- โลภมูลจิต ๘

- โทสมูลจิต ๒

- โมหมูลจิต ๒

๒. กุศลจิต ๒๑ (๓๗)

- มหากุศลจิต ๘

- รูปาวจรกุศลจิต ๕

- อรูปาวจรกุศลจิต ๔

- โลกุตตรกุศลจิต ๔ (๒๐)

๓. วิปากจิต ๓๖ (๕๒)

- อกุศลวิบากจิต ๗

- กุศลวิบากอเหตุกจิต ๘

- มหาวิบากจิต ๘

- รูปาวจรวิบากจิต ๕

- อรูปาวจรวิบากจิต ๔

- โลกุตตรวิบากจิต ๔ (๒๐)

๔. กิริยาจิต ๒๐

- อเหตุกกิริยาจิต ๓

- มหากิริยาจิต ๘

- รูปาวจรกิริยาจิต ๕

- อรูปาวจรกิริยาจิต ๔

ข. โดยภูมิประเภท

๑. กามาวจรจิต ๕๔

๑) อกุศลจิต ๑๒

- โลภมูลจิต ๘

- โทสมูลจิต ๒

- โมหมูลจิต ๒

๒) อเหตุกจิต ๑๘

- อกุศลวิบากจิต ๗

- กุศลวิบากอเหตุกจิต ๘

- อเหตุกกิริยาจิต ๓

๓) กามาวจรโสภณจิต ๒๔

- มหากุศลจิต ๘

- มหาวิบากจิต ๘

- มหากิริยาจิต ๘

๒. รูปาวจรจิต ๑๕

๑) รูปาวจรกุศลจิต ๕

๒) รูปาวจรวิบากจิต ๕

๓) รูปาวจรกิริยาจิต ๕

๓. อรูปาวจรจิต ๑๒

๑) อรูปาวจรกุศลจิต ๔

๒) อรูปาวจรวิบากจิต ๔

๓) อรูปาวจรกิริยาจิต ๔

๔. โลกุตตรจิต ๘ (x ฌาน ๕ = ๔๐)

๑) โลกุตตรกุศลจิต ๔ (๒๐)

๒) โลกุตตรวิบากจิต ๔ (๒๐)

หมายเหตุ : ตัวเลขในวงเล็บ ( ) หมายถึงจำนวนอย่างพิสดาร เมื่อนับจิตเป็น ๑๒๑ (พึงสังเกตว่าจำนวนจะเพิ่มเฉพาะ โลกุตตรจิต อย่างเดียว คือ โลกุตตรจิต อย่างย่อมี ๘ อย่างพิสดารจำแนกออกไปตามฌานทั้ง ๕ เป็น ๔๐)

ต่อไปจะแสดง จิต ๘๙ (๑๒๑) ตามแบบภูมิประเภท (แบบชาติประเภทพึงกำหนดเอาจากแบบภูมิประเภทนี้ ตามหัวข้อที่แสดงไว้แล้ว)

๑. กามาวจรจิต ๕๔ (จิตที่เป็นไปในกามภูมิ — consciousness of the Sense-Sphere)

๑) อกุศลจิต ๑๒ (จิตอันเป็นกุศล — immoral consciousness)  อกุศลจิตมีแต่ที่เป็นกามาวจรนี้เท่านั้น คือ

- โลภมูลจิต ๘(จิตมีโลภะเป็นมูล — consc rooted in greed)

๑. โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

๒.             "                     "            สสงฺขาริกํ

๓.             "        ทิฏฺิคตวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

๔.             "             "                   สสงฺขาริกํ

๕. อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

๖.             "             "                    สสงฺขาริกํ

๗.            "         ทิฏฺิคตวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

๘.            "             "                    สสงฺขาริกํ

๑. จิตที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา  ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ      ไม่มีการชักนำ

๒.                         "                                     "                              มีการชักนำ

๓.                          "                           ไม่ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีการชักนำ

๔.                         "                                     "                              มีการชักนำ

๕. จิตที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ        ไม่มีการชักนำ

๖.                           "                                     "                             มีการชักนำ

๗.                           "                         ไม่ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ   ไม่มีการชักนำ

๘.                          "                                     "                              มีการชักนำ

๑. One consc, acc by joy, ass with wrong view, unprompted.*

๒.     ~         ,          ~      ,                 ~             , prompted.

๓.     ~         ,          ~     , diss from wrong view, unprompted.

๔.     ~         ,          ~      ,                 ~             , prompted.

๕.     ~         , acc by indif, ass with wrong view, unprompted.

๖.     ~         ,           ~      ,                 ~             , prompted.

๗.     ~         ,          ~     , diss from wrong view, unprompted.

๘.     ~         ,          ~      ,                 ~             , prompted.

- โทสมูลจิต ๒ (จิตมีโทสะเป็นมูล — consc rooted in hatred)

๑. โทมนสฺสสหคตํ  ปฏิฆสมฺปยุตฺตํ  อสงฺขาริกํ

๒.         "                       "             สสงฺขาริกํ

๑. จิตที่เกิดพร้อมด้วยโทมนัสสเวทนา ประกอบด้วยปฏิฆะ ไม่มีการชักนำ

๒.                              "                                    "              มีการชักนำ

๑. One consc, acc by grief, ass with resentment, unprompted.

๒.         ~       ,        ~         ,               ~              , prompted.

- โมหมูลจิต หรือ โมมูหจิต ๒ (จิตมีโมหะเป็นมูล — consc rooted in delusion)

๑. อุเปกฺขาสหคตํ  วิจิกิจฺฉาสมฺปยุตฺตํ

๒.            "          อุทฺธจฺจสมฺปยุตฺตํ

๑. จิตที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา  ประกอบด้วยวิจิกิจฉา

๒.                         "                           ประกอบด้วยอุทธัจจะ

๑. One consc, acc by indif, ass with uncertainty.

๒.         ~      ,          ~       , ass with restlessness.

๒) อเหตุกจิต ๑๘ (จิตอันไม่มีสัมปยุตตเหตุ คือ ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๖ ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ — rootless consc)

- กุศลวิบากจิต ๗ (จิตที่เป็นผลของอกุศล — rootless resultant-of-immorality consc)

๑. อุเปกฺขาสหคตํ  จกฺขุวิญฺญาณํ

๒.          "            โสตวิญฺญาณํ

๓.          "            ฆานวิญฺญาณํ

๔.          "            ชิวฺหาวิญฺญาณํ

๕. ทุกฺขสหคตํ       กายวิญฺญาณํ

๖. อุเปกฺขาสหคตํ  สมฺปฏิจฺฉนฺนํ

๗.          "            สนฺตีรณํ

๑. จักขุวิญญาณจิตที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา

๒. โสตวิญญาณจิต                      "

๓. ฆานวิญญาณจิต                     "

๔. ชิวหาวิญญาณจิต                   "

๕. กายวิญญาณจิต ที่เกิดพร้อมด้วยทุกขเวทนา

๖. สัมปฏิจฉันนจิต ที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา

๗. สันตีรณจิต                             "

๑. Eye-consc,               acc by indif.

๒. Ear-consc,                      ~

๓. Nose-consc,                   ~

๔. Tongue-consc,               ~

๕. Body-consc,            acc by pain.

๖. Receiving-consc,     acc by indif.

๗. Investigating-consc,       ~

- กุศลวิบากอเหตุกจิต ๘ (จิตที่เป็นผลของกุศล ไม่มีสัมปยุตตเหตุ — rootless resultant-of-morality consc)

๑. อุเปกฺขาสหคตํ  จกฺขุวิญฺญาณํ

๒.           "           โสตวิญฺญาณํ

๓.           "           ฆานวิญฺญาณํ

๔.           "           ชิวฺหาวิญฺญาณํ

๕. สุขสหคตํ  กายวิญฺญาณํ

๖. อุเปกฺขาสหคตํ  สมฺปฏิจฺฉนฺนํ

๗. โสมนสฺสสหคตํ  สนฺตีรณํ

๘. อุเปกฺขาสหคตํ  สนฺตีรณํ

๑. จักขุวิญญาณจิต ที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา

๒. โสตวิญญาณจิต                 "

๓. ฆานวิญญาณจิต                "

๔. ชิวหาวิญญาณจิต              "

๕. กายวิญญาณจิต ที่เกิดพร้อมด้วยสุขเวทนา

๖. สัมปฏิจฉันนจิต ที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา

๗. สันตีรณจิต ที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา

๘. สันตีรณจิต ที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา

๑~๔. Eye~, Ear~, Nose~, Tongue~ consc, acc by indif.

๕.          Body~consc                                    , acc by pleasure.

๖. Receiving~consc, acc by indif.

๗. Investigating~consc acc by joy.

๘. Investigating~consc, acc by indif.

~ อเหตุกกริยาจิต ๓ (จิตที่เป็นเพียงกิริยา ไม่มีสัมปยุตตเหุต — rootless functional consc)

๑. อุเปกฺขาสหคตํ ปญฺจทฺวาราวชฺชนํ

๒. " มโนทฺวาราวชฺชนํ

๓. โสมนสฺสสหคตํ หสิตุปฺปาทจิตฺตํ

๑. ปัญจทวาราวัชชนจิต ที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา

๒. มโนทวาราวัชชนจิต "

๓. หสิตุปปาทจิต ที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา

๑. Five~sense~door adverting consc, acc by indif.

๒. Mind~door adverting consc, acc by indif.

๓. Smile~producing consc, acc by joy.

๓) กามาวจรโสภณจิต ๒๔ (จิตดีงามที่เป็นไปในกามภูมิ — Sense-Sphere beautiful consc)

- มหากุศลจิต หรือ สเหตุกกามาวจรกุศลจิต ๘ (จิตที่เป็นกุศลยิ่งใหญ่ หรือ กุศลจิตที่เป็นไปในกามภูมิ มีสัมปยุตตเหตุ — moral consc)

๑. โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

๒. " " สสงฺขาริกํ

๓. " ญาณวิปฺยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

๔. " " สสงฺขาริกํ

๕. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

๖. " " สสงฺขาริกํ

๗. " ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

๘. " " สสงฺขาริกํ

๑. จิตที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา ประกอบด้วยปัญญา ไม่มีการชักนำ

๒. " " มีการชักนำ

๓. " ไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่มีการชักนำ

๔. " " มีการชักนำ

๕. จิตที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ประกอบด้วยปัญญา ไม่มีการชักนำ

๖. " " มีการชักนำ

๗. " ไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่มีการชักนำ

๘. " " มีการชักนำ

๑. One consc, acc by joy, ass with knowledge, unprompted.

๒. ~ , ~ , ~ , prompted.

๓. ~ , ~ , diss from knowledge, unprompted.

๔. ~ , ~ , ~ , prompted.

๕. One consc, acc by indif, ass with knowledge, unprompted.

๖. ~ , ~ , ~ , prompted.

๗. ~ , ~ , diss from knowledge, unprompted.

๘. ~ , ~ , ~ , prompted.

- มหาวิบากจิต หรือ สเหตุกกามาวจรวิบากจิต ๘ (จิตอันเป็นผลของมหากุศล หรือวิบากจิตที่เป็นไปในกามภูมิ มีสัมปยุตตเหตุ — resultant consc)

(เหมือนกับมหากุศลจิตทุกข้อ)

- มหากิริยาจิต หรือ สเหตุกกามาวจรกริยาจิต ๘ (จิตอันเป็นกริยาอย่างที่ทำมหากุศล แต่ไม่มีวิบาก ได้แก่การกระทำมหากุศลของพระอรหันต์ หรือกิริยาจิตในกามภูมิ มีสัมปยุตตเหตุ — functional consc) (เหมือนกับมหากุศลจิตทุกข้อ)

๒. รูปาวจรจิต ๕ (จิตอันเป็นไปในภูมิ — Form-Sphere consciousness)

๑) รูปาวจรกุศลจิต ๕ (กุศลจิตที่เป็นไปในภูมิ ได้แก่จิตของผู้เข้าถึงรูปฌาน — Form-Sphere moral consc)

๑. วิตกฺกวิจารปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ปมชุฌานกุสลจิตฺตํ

๒. วิจารปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ทุติยชฺฌานกุสลจิตฺตํ

๓. ปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ตติยชฺฌานกุสลจิตฺตํ

๔. สุเขกคฺคตาสหิตํ จตุตฺถชฺฌานกุสลจิตฺตํ

๕. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ ปญฺจมชฺฌานกุสลจิตฺตํ

๑. ปฐมฌานกุศลจิต ที่ประกอบด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

๒. ทุติยฌานกุศลจิต ที่ประกอบด้วย วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

๓. ตติยฌานกุศลจิต ที่ประกอบด้วย ปีติ สุข เอกัคคตา

๔. จตุตถฌานกุศลจิต ที่ประกอบด้วย สุข เอกัคคตา

๕. ปัญจมฌานกุศลจิต ที่ประกอบด้วย อุเบกขา เอกัคคตา

๑. First Jhana consc with initial application, sustained application, rapture, happiness and one-pointedness.

๒. Second Jhana consc with sustained application, rapture, happiness and one-pointedness.

๓. Third Jhana consc with rapture, happiness and one-pointedness.

๔. Fourth Jhana consc with happiness and one-pointedness.

๕. Fifth Jhana consc with equanimity and one-pointedness.

๒) รูปาวจรวิบากจิต ๕ (วิบากจิตที่เป็นไปในรูปภูมิ คือ จิตที่เป็นผลของรูปาวจรกุศล — Form-Sphere resultant consc)

(เหมือนกับรูปาวจรกุศลจิตทุกข้อ เปลี่ยนแต่คำท้ายเป็น วิปากจิตฺตํ)

๓) รูปาวจรกิริยาจิต ๕ (กิริยาจิตที่เป็นไปในรูปภูมิ คือ จิตของพระอรหันต์ผู้กระทำรูปาวจรกุศล — Form-Sphere resultant consc)

(เหมือนกับรูปาวจรกุศลจิตทุกข้อ เปลี่ยนแต่คำท้ายเป็น กฺริยาจิตฺตํ)

๓. อรูปาวจรจิต ๑๒ (จิตที่เป็นไปในอรูปภูมิ — Formless-Sphere consc)

๑) อรูปาวจรกุศลจิต ๔ (กุศลจิตที่เป็นไปในอรูปภูมิ ได้แก่ จิตของผู้เข้าถึงอรูปฌาน — Formless-Sphere moral consc)

๑. อากาสานญฺจายตนกุสลจิตฺตํ

๒. วิญฺญาณญฺจายตนกุสลจิตฺตํ

๓. อากิญฺจญฺญายตนกุสลจิตฺตํ

๔. เนวสญฺญานาสญฺญายตนกุสลจิตฺตํ

๑. กุศลจิตประกอบด้วยอากาสานัญจายตนฌาน

๒. กุศลจิตประกอบด้วยวิญญาณัญจายตนฌาน

๓. กุศลจิตประกอบด้วยอากิญจัญญายตนฌาน

๔. กุศลจิตประกอบด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน

๑. Moral Jhana consc dwelling on the infinity of space.

๒. Moral Jhana consc dwelling on the infinity of consciousness.

๓. Moral Jhana consc dwelling on nothingness.

๔. Moral Jhana consc wherein perception neither is nor is not.

๒) อรูปาวจรวิบากจิต (วิบากจิตที่เป็นไปในอรูปภูมิ คือ จิตที่เป็นผลของอรูปาวจรกุศล — Formless-Sphere resultant consc)

(เหมือนกับอรูปาวจรกุศลจิตทุกข้อ เปลี่ยนแต่คำท้ายเป็น วิปากจิตฺตํ)

๓) อรูปาวจรกิริยาจิต (กิริยาจิตที่เป็นไปในอรูปภูมิ คือ จิตของพระอรหันต์ ผู้กระทำอรูปาวจรกุศล — Formless-Sphere functional consc)

(เหมือนกับอรูปาวจรกุศลจิตทุกข้อ เปลี่ยนแต่คำท้ายเป็น กฺริยาจิตฺตํ)

๔. โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ (จิตที่เป็นโลกุตตระ — supermundane consc)

๑) โลกุตตรกุศลจิต ๔ หรือ ๒๐ (กุศลจิตที่เป็นโลกุตตระ คือ กุศลจิตที่ทำให้ข้ามพ้นอยู่เหนือโลก — moral supermundane consc)

๑. โสตาปตฺติมคฺคจิตฺตํ

๒. สกทาคามิมคฺคจิตฺตํ

๓. อนาคามิมคฺคจิตฺตํ

๔. อรหตฺตมคฺคจิตฺตํ

๑. จิตที่ประกอบด้วยโสตาปัตติมัคคญาณ คือ กุศลจิตที่เป็นทางให้ถึงกระแสอันไหลไปสู่นิพพานธาตุ

๒. จิตที่ประกอบด้วยสกทาคามิมัคคญาณ คือ กุศลจิตที่เป็นทางให้ถึงความเป็นพระสกทาคามี

๓. จิตที่ประกอบด้วยอนาคามิมัคคญาณ คือ กุศลจิตที่เป็นทางให้ถึงความเป็นพระอนาคามี

๔. จิตที่ประกอบด้วยอรหัตตมัคคญาณ คือ กุศลจิตที่เป็นทางให้ถึงความเป็นพระอรหันต์

๑. Consc belonging to the Path of Stream-Entry.

๒. Consc belonging to the Path of Once-Returning.

๓. Consc belonging to the Path of Non-Returning.

๔. Consc belonging to the Path of Arahantship.

อย่างพิสดาร ให้แจกมัคคจิต ๔ นี้ ด้วยฌาน ๕ ตามลำดับ ก็จะได้จำนวน ๒๐ ตามตัวอย่างดังนี้

วิตกฺกวิจารปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ปมชฺฌานโสตาปตฺติมคฺคจิตฺตํ ฯลฯ

๒) โลกุตตรวิบากจิต ๔ หรือ ๒๐ (วิบากจิตที่เป็นโลกุตตระ คือ จิตที่เป็นผลของโลกุตตรกุศล — resultant supermundane consc)

๑. โสตาปตฺติผลจิตฺตํ

๒. สกทาคามิผลจิตฺตํ

๓. อนาคามิผลจิตฺตํ

๔. อรหตฺตผลจิตฺตํ

๑. จิตที่ประกอบด้วยโสตาปัตติผลญาณ

๒. จิตที่ประกอบด้วยสกทาคามิผลญาณ

๓. จิตที่ประกอบด้วยอนาคามิผลญาณ

๔. จิตที่ประกอบด้วยอรหัตตผลญาณ

๑. Consc belonging to the Fruition of Stream-Entry.

๒. Consc belonging to the Fruition of Once-Returning.

๓. Consc belonging to the Fruition of Non-Returning.

๔. Consc belonging to the Fruition of Arahantship.

อย่างพิสดาร ให้แจกผลจิต ๔ นี้ ด้วยฌาน ๕ ตามลำดับ ก็จะได้จำนวน ๒๐ ตามตัวอย่างดังนี้

วิตกฺกวิจารปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ปมชฺฌานโสตาปตฺติผลจิตฺตํ ฯลฯ

(343) กิเลส 1500 (สภาพที่ทำให้จิตเศร้าหมอง — defilements)

(344) ตัณหา 108 (ความทะยานอยาก, ความร่านรน — craving)

(345) เวทนา 108 (การเสวยอารมณ์, ความรู้สึกรสของอารมณ์ — feeling)

กิเลส ๑๕๐๐ ที่จัดเป็นชุดจำนวนอย่างนี้ ไม่มีในพระบาลี แม้จะมีกล่าวถึงในอรรกกถาบางแห่งก็แสดงเพียงตัวอย่าง ไม่ครบถ้วน ระบุไว้อย่างมากที่สุดเพียง ๓๓๖ อย่าง (ดู อุ.อ.๑๗๒,๔๒๔; อิติ.อ.๑๖๖) เช่น โลภะ โทสะ โมหะ วิปริตมนสิการ อหิริกะ อโนตตัปปะ ถีนะ มิทธะ โกธะ อุปนาหะ ฯลฯ อกุศลกรรมบถ ๑๐ ... ตัณหา ๑๐๘

ในหนังสือสมัยหลัง มีการแสดงจำนวนและวิธีนับไว้บางแห่ง เช่น ไตรภูมิพระร่วง (ฉบับกรมศิลปากร พ.ศ. ๒๕๒๕ หน้า ๑๕๐) และหนังสืออธิบายพระอภิธรรม ของนายสาย สายเกษม เป็นต้น แต่ไม่อาจถือเป็นยุติ จึงไม่แสดงในที่นี้

ตัณหา ๑๐๘ ในพระบาลีเดิมเรียก ตัณหาวิจริต (ความเป็นไป หรือการออกเที่ยวแสดงตัวของตัณหา) (องฺ. จตุกฺก.๒๑/๑๙๙/๒๙๐; อภิ. วิ. ๓๕/๑๐๓๓/๕๓๐ = A.II.๒๑๒; Vbh.๓๙๓) จัดดังนี้

ตัณหาวิจริต ๑๘ อันอาศัยเบญจขันธ์ภายใน = เมื่อมีความถือว่า "เรามี" จึงมีความถือว่า : เราเป็นอย่างนี้ เราเป็นอย่างนั้น เราเป็นอย่างอื่น เราไม่เป็นอยู่ เราพงเป็นอย่างนี้ เราพึงเป็นอย่างนั้น เราพึงเป็นอย่างอื่น ฯลฯ

ตัณหาวิจริต ๑๘ อันอาศัยเบญจขันธ์ภายนอก = เมื่อมีความถือว่า "เรามีด้วยเบญจขันธ์นี้" จึงมีความถือว่า : เราเป็นอย่างนี้ด้วยเบญจขันธ์นี้ เราเป็นอย่างนั้น ด้วยเบญจขันธ์นี้ เราเป็นอย่างอื่นด้วยเบญจขันธ์นี้ ฯลฯ

ตัณหาวิจริต ๑๘ สองชุดนี้ รวมเป็น ๓๖xกาล ๓ (ปัจจุบัน อดีต อนาคต) = ๑๐๘

อีกอย่างหนึ่ง ตัณหา ๓ (กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา) x ตัณหา ๖ (ตัณหาในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรมารมณ์) = ๑๘ x ภายในและภายนอก = ๓๖ x กาล ๓ = ๑๐๘ (วิสุทธิ.๓/๑๘๐ = Vism.๕๖๘)

ส่วน เวทนา ๑๐๘ มีกล่าวถึงในพระสูตรบางแห่งเฉพาะจำนวน (ม.ม.๑๓/๙๙/๙๖; สํ.สฬ.๑๘/๔๑๒/๒๗๘; ๔๒๕/๒๘๓ = M.I.๓๙๘; S.IV.๒๒๕,๒๒๘) และตรัสแจกแจงไว้ใน อัฏฐสตปริยายสูตร (สํ.สฬ.๑๘/๔๓๗/๒๘๘ = S.IV.๒๓๒) อธิบายโดยย่อดังนี้

เวทนา ๖ (เวทนาเกิดจากสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ; ดู (๑๑๒) x ๓ (ที่เป็นโสมนัส โทมนัส และอุเบกขา) x ๒ (เป็นเคหสิต คือ อิงเรือน หรือเป็นความรู้สึกแบบชาวบ้านฝ่ายหนึ่ง และเป็นเนกขัมมสิต คือ อิงเนกขัมม์ หรือเป็นความรู้สึกอิงความสละสงบ ฝ่ายหนึ่ง) = ๓๘ x กาล ๓ (อดีต อนาคต ปัจจุบัน) = ๑๐๘





จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย