Warning: file(../../ad468-2.txt): failed to open stream: No such file or directory in /home/dhammathai/domains/dhammathai.org/public_html/randomad468-2.php on line 4
 
 
พระพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดีย พุทธศาสนายุค พ.ศ.๑๑๐๐ - ๑๓๐๐
ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดีย
The History of Buddhism in India


 ๔.จดหมายเหตุพระอี้จิง (I-Tsing)

พระอี้จิงขึ้นฝั่งที่ตามรลิปติ

พระอี้จิงเกิดเมื่อราว พ.ศ. ๑๑๗๘ ที่ฟันหยางใกล้กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน หลังจากพระถังซัมจั๋งกลับเมืองจีนท่านมีอายุ ๑๐ ปี เมื่ออายุได้ ๑๔ ปีก็บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุครบ ๒๐ ท่านได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุหลังจากได้ศึกษาพระธรรมอย่างช่ำชองแล้ว จึงเกิดแนวคิดที่จะไปสืบพระศาสนาในอินเดีย
     ต่อมาท่านเดินทางเข้าสู่ประเทศอินเดียต่อจากพระถังซัมจั๋งไม่นานนัก เมื่ออายุ ๓๗ ปี ผ่านทางทะเล โดยแวะที่สุมาตราเป็นเวลา ๘ เดือน ผ่านอาณาจักรศรีวิชัย พัก ๖ เดือน พักที่มาลายู ๒ เดือนจนถึงฝั่งที่อินเดียที่ตามรลิปติ
     จากนั้นเดินทางเข้ามคธ ได้สักการะสังเวชนียสถาน และศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทา ๑๐ ปี และกลับเส้นทางเดิมโดยแวะศึกษาภาษาสันสกฤตที่อาณาจักรศรีวิชัย ๔ ปี ได้รับการต้อนรับจากราชสำนักเป็นอย่างดี ท่านได้กล่าวถึงอาณาจักรศรีวิชัย ไว้ว่า "อาณาจักรศรีวิชัยนั้นพุทธศาสนารุ่งเรืองเหมือนในอินเดีย มีพระสังฆราชชื่อว่าศากยเกียรติ (Sakyakirti) เป็นประมุขสงฆ์ เมืองชั้นใหญ่น้อยหลายร้อยเกาะ พระจีนที่จะไปอินเดียควรเตรียมตัวเรียนสันสกกฤตที่นี่ก่อน"  
     ท่านยังกล่าวอีกว่า "ที่ฟูหนำ (หรือ พนม) มีเมืองหลวงชื่อว่าอินทรปุระ (Indrapura) พระราชาแห่งเมืองนี้นามว่า พระเจ้าถรวรมัน (Tharvarman) ทรงนับถือศาสนาฮินดูอย่างเคร่งครัด และเริ่มทำลายพุทธศาสนาอย่างหนัก แต่เทิดทูนบูชาศิวลิงค์ทอง"

     พำนักอยู่ในอินเดียเป็นเวลา ๒๕ ปี ท่านพูดภาษาถิ่นในอินเดียได้อย่างคล่องแคล่ว ผลงานของท่านหลายเล่มได้ถูกพิมพ์เช่นเดียวกับพระถังซัมจั๋ง หนังสือที่เด่นคือ "บันทึกเรื่องพุทธศาสนาตามที่ปฏิบัติกันในอินเดีย และหมู่เกาะมาลายู" ในหนังสือเล่มนี้ท่านได้ไปกราบพระเจดีย์ที่พุทธคยา และเขียนรายงานเกี่ยวกับพุทธคยาว่า

"หลังจากนั้น พวกเราก็ได้เดินทางไปที่มหาโพธิมณฑล ใกล้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ และได้ก้มกราบแทบพระบาทแห่งพุทธปฏิมา ข้าพเจ้าได้นำผ้าหนาและเนื้อดีซึ่งพระและฆราวาสถวายที่ชาตุงมาทำเป็นผ้ากาสาวพัสดุ์บูชาและห่อห่มที่องค์พระพุทธปฏิมา ข้าพเจ้าได้ถวายฉัตรขนาดเล็กจำนวนมากที่ท่านอาจารย์ฝ่ายวินัยชื่อเหียนฝากมาในนามท่าน ท่านอาจารย์เซน (ธยาน) ชื่อว่า อันเต๋า มอบหมายหน้าที่ให้บูชาพระพุทธเจดีย์ และข้าพเจ้าได้ทำหน้าที่ในนามของท่านเช่นกัน ในขณะนั้นข้าพเจ้าได้หมอบตัวลงพื้นด้วยจิตใจที่แน่วแน่ ด้วยความตั้งใจและด้วยความเคารพอย่างสูง ครั้งแรกข้าพเจ้าได้ปรารถนา ต่อประเทศจีนว่าผลประโยชน์สี่ประการจงแผ่ขยายไปสู่สรรพสัตว์อย่างกว้างขวางในความรู้สึกในเขตแดนแห่งพระธรรมทูต และข้าพเจ้าได้เน้นย้ำถึงความปรารถนาของข้าพเจ้าที่จะรวมเป็นหนึ่งเดียว ภายใต้ต้นนาคะเพื่อให้เข้าถึงความรู้ที่จะไม่ทำให้เกิดใหม่อีกต่อมาข้าพเจ้าได้เดินประทักษิณรอบสานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้"

และอีกเล่มคือ "ภิกษุผู้ไปแสวงหาพระธรรมในประเทศตะวันตก" จากหนังสือเล่มนี้ทำให้เราทราบว่า มีนักแสวงบุญเป็นจำนวนมาก ได้เดินทางฝ่าอันตรายและความยากลำบากไปแสวงหาพระธรรมในประเทศอินเดีย แต่การเดินทางไปนั้นเป็นเรื่องแห่งความเศร้า เพราะแม้ว่าจะได้ผลคุ้มค่าแต่ความลำบากก็มีอยู่ทั่วไป สถานที่สำคัญ ๆ ก็อยู่ห่างไกลกัน มีคนเป็นจำนวนมากที่พยายามจาริกไปในสถานที่เหล่านั้น แต่ทำได้เพียงไม่กี่คนเพราะมีทะเลทรายขวางกั้นอยู่ ความร้อนในทะเลทรายแทบจะละลายทุกสิ่งทุกอย่างให้มอดไหม้ ทางทะเลก็เต็มไปด้วยคลื่นใหญ่เหมือนภูเขา มีปลาใหญ่พ้นน้ำสูงเท่าต้นตาล ส่วนทางบกที่ต้องผ่านเอเชียกลางผ่านเมืองสมารกันด์บากเตรีย ต้องผ่านภูเขาถึง ๑๐.๐๐๐ ลูก มีหุบเขาลึกและสูงชัน นี้คือเหตุผลว่าทำไมมีคนเดินทางไปกว่า ๕๐ คน แต่รอดมาได้พียงหยิบมือเดียวเท่านั้น ภิกษุเกาหลีเป็นจำนวนมากได้เดินทางไปอินเดียผ่านเอเชียกลาง แต่ท่านเหล่านั้นก็มรณภาพเป็นส่วนมาก ต่อมาการเดินทางผ่านเอเชียกลางยิ่งลำบากมากยิ่งขึ้นอีก เพราะเกิดการปฏิวัติในธิเบต และกองทัพมุสลิมยึดครองส่วนเหนือของอินเดียได้อย่างเด็ดขาด

ท่านอี้จิงยังได้แปลหนังสือราว ๕๖ เล่ม จาก ๔๐๐ เล่ม ที่ท่านนำมาจากอินเดียด้วย โดยได้รับความร่วมมือจากพระอินเดียหลายท่านคือ ท่านสิกขนันทะ ท่านอิศวระและรูปอื่น ๆ เมื่อท่านกลับจีนได้รับการแต่งตั้งจากพระจักรพรรดินีให้เป็น "มหารัฐคุรุ" ของประเทศจีน และเป็นที่เคารพของพระจักรพรรดินีปูเช็กเทียนเป็นอย่างยิ่ง ท่านจำพรรษาที่วัดได้เฮงเลี่ยงยี่ (มหาวัิฒนากุศลาราม) ซึ่งเป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น มรณภาพเมื่ออายุ ๘๐ ปี ท่านได้เขียนรายงานสถานการณ์พุทธศาสนาหลายแห่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังเป็นอย่างมาก

     และที่ภาคใต้ของอินเดีย ก็ได้มีพระสงฆ์ท่านหนึ่งที่มีชื่อเสียง และท่านได้ไปเผยแพร่พุทธศาสนาในจีน ตามอย่างพระสงฆ์อินเดียหลาย ๆ ท่านท่านคือพระโพธิรุจิ โดยมีประวัติย่อ ๆ คือ

 

๕.พระโพธิรุจิ (Bodhiruchi)

ท่านเกิดเมื่อราว พ.ศ.๑๒๐๐ เดิมชื่อว่าธรรมรุจิ เกิดในตระกูลพราหมณ์กาศยปโคตร ในอินเดียภาคใต้ เมื่อได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุจึงฝากตัวเป็นศิษย์ของท่านยศฆาะ ชั่วเวลา ๓ ปี ท่านก็เป็นผู้ชำนาญในพระไตรปิฎก นอกจากศึกษาทางด้านพุทธศาสนาแล้ว ท่านยังชำนาญในหลายสาขาเช่นดาราศาสตร์ แพทยศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และเทววิทยาเป็นต้นต่อมาเมื่อไปสู่จีนโดยทางเรือ เพราะตอนเหนือของอินเดียถูกกองทัพมุสลิมยึดครองแล้ว ย่อมเป็นการไม่สะดวกอย่างยิ่ง เมื่อถึงเมืองจีนแล้วจึงได้เปลี่ยนเป็นโพธิรุจิตามพระบัญชาของพระจักรพรรดินีวูเต้าเทียนแห่งราชวงศ์ถัง ท่านได้แปลหนังสือเป็นภาษาจีน ๕๓ เล่มออกสู่ภาษาจีน หนังสือที่สำคัญคือ รัตนเมฆสูตร ปรัชญาปารมิตาอรรถศติกา มหารัตนกูฏสูตร สมันตมุขปริวรรต วินัยวินิจฉัยอุปาลิปริปฤจฉา ไมเตรยปรปฤจฉา โพธิสัตวจรรยาวรรคสูตร รัตนเมฆสูตร สูตรแห่งมหายาน มัญชุศรีรัตนนครำภธาณีสูตร แต่หลายเล่มก็ได้สูญหายในเวลาต่อมา วาระสุดท้ายท่านก้มรณภาพอย่างสงบในแผ่นดินจีน รวมอายุยายนานถึง ๑๕๖ ปี

 

๖.พระทีปังกรศรีชญาณ (Dipankarasrijnana)


พระทีปังกรศรีชญาณ

พ.ศ. ๑๒๒๕ มีนักปราชญ์ ผู้โด่งดังท่านหนึ่งไปประกาศพุทธศาสนาในธิเบตจนมีชื่อเสียงโด่งดัง และมรณภาพที่นั้น ท่านคือพระทีปังกรศรชญาณหรือพระอตีศะ เกืดในวรรณกษัตริย์ โดยพระบิดาเป็นกษัตริย์นามว่ากัลยาณศรี (Kalyanasri) และมารดานามว่าศรีประภาวดี (Sriprabhavati) เกิดเมื่อ พ.ศ.๑๒๒๕ ในเมืองชาฮอร์ แคว้นภคัลปุระ (ปัจจุบันอยู่ในเขนเบงกอลตะวันตก) อินเดียภาคตะวันออก โดยพระบิดามีโอรส ๓ พระองค์คือเจ้าชายปัทมครรภ์ เจ้าชายจันทรครรภ์ (ต่อมาคือพระทีปังกรศรีชญาณ) และเจ้าชายศรีครรภ์
     ต่อมาได้เดินทางไปบวชเป็นสามเณรที่มหาวิทยาลัยนาลันทากับพระอาจารย์โพธิภัทร โดยไม่ได้บวชที่มหาวิทยาลัยวิกรมศิลา ทั้งที่ตั้งอยู่รัฐเบงกอลและไม่ไกลจากพระราชวังของพระองค์ ทั้งนี้เพราะต้องการลดความมานะถือตัวลง เมื่อบวชแล้วจึงได้ฉายาว่า พระทีปังกรศรีชญาณ
     ในสมัยนี้นิกายมนตรยานกำลังเจริญรุ่งเรือง ท่านจึงฝากตัวเป็นศิษย์ สิทธะคนหนึ่งชื่อว่า พระนโรปะ นักปราชญ์ชื่อังในสมัยนั้น ศิษย์ที่มีชื่อเสียงของสิทธะนโรปามีหลายท่านเช่น พระปรัชญารักษิต กนกศรี และมาณกศรี ต่อมาท่านจึงเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยวิกรมศิลาใกล้บ้าน ท่านเดินทางไปสุมาตราเพื่อศึกษาธรรมกับพระธรรมปาละพระเถระที่มีชื่อเสียงที่นั่น หลังจากอยู่ได้ ๑๒ ปีจึงเดินทางกลับสู่วิกรมศิลา และต่อมาได้รับการอาราธนาไปสู่ธิเบต ท่านเป็นผู้มีชื่อเสียงอย่างสูงสุด และมรณภาพที่นั่นรวมอายุ ๗๓ ปี

     ครั้นถึงสมัยพระเจ้าเทวปาละ ราวพ.ศ.๑๒๔๕ แห่งราชวงศ์ปาละได้ครองราชย์สมบัติต่อจากพระบิดา พระองค์เป็นพุทธมามกะที่เข้มแข็งเช่นเดียวกับพะรบิดา ต่อมาได้สร้างมหาวิทยาลัยวิกรมศิลาขึ้น (Vikramasila University) สมัยของพระองค์วัดและสถานศึกษาทางพุทธศาสนาได้รับการอุปถัมภ์จากพระราชวงศ์และพุทธบริษัทเป็นอย่างดี โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยสามแห่งในคือนาลันทา โอทันตบุรี วิกรมศิลา พระองค์สวรรคต เมื่อ พ.ศ. ๑๒๙๖ รวมเวลาที่ครองราชย์ที่ยาวนาน ๕๑ ปี

     พ.ศ.๑๒๔๗ พระเจ้าตริสองเดซัน กษัตริย์แห่งธิเบต ได้อาราธนาพระสงฆ์ชาวอินเดียหลายรูปไปฟื้นฟูพุทธศาสนาที่ธิเบต แต่ที่มีชื่อเสียงคือพระอาจารย์ศานตรักษิต แต่ท่านเป็นพระนักวิชาการไม่มีอิทธิฤทธิ์เวทย์มนต์คาถา เมื่อต้องมาเผชิญหน้ากับศาสนาบอน ศาสนาเจ้าถิ่นที่เต็มไปด้วยเวทย์มนต์ คาถาหมอผี ภูติผีปีศาจจึงเห็นว่าจะสู้ไม่ไหว ผู้ที่จะมาเผยแพร่ได้ต้องมีเวทย์มนต์คาถาเช่นกันจึงจะสู้ได้ จึงเสนอไปยังพระเจ้าตริสองเดซันให้อาราธนาพระปัทมสัมภวะ พระสงฆ์นิกายมนตรยานมาปราบ พระองค์เห็นด้วย จึงได้ส่งคนไปอาราธนาท่านปัทมสัมภวะมาเผยแพร่ธรรมที่ธิเบต ท่านรับคำอาราธนาแล้วเดินทางเข้าไปธิเบต งานของท่านประสบผลสำเร็จอย่างมาก เพราะท่านเป็นพระจอมขมังเวทย์ สามารถปราบปรามพวกพ่อมดหมอผี ศาสนาบอนลงได้ พวกเขาหันกลับมานับถือพุทธศาสนาจำนวนมาก ส่วนภูติผีปีศาจก็หันมาปกป้องพุทธศาสนาแทน ท่านปัทมสัมภวะ จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้วางรากฐานพุทธศาสนา ให้มั่นคงในธิเบตจนถึงปัจจุบัน แม้พุทธศาสนาจะเข้าไปธิเบตราว พ.ศ. ๑๑๖๓ สมัยพระเจ้าสองสันคัมโปแล้วก็ตาม

     ในยุค พ.ศ. ๑๒๕๕ กองทัพอิสลามนำโดยโมฮัมหมัด เบนกาซิม (Muhammad Bin Qazim) ได้เริ่มรุกสู่เอเชียตะวันออกยึดได้หลายเมืองในเอเชีย เช่น ซีเรีย อียิปต์ ต่อมาจึงยกทัพยึดอินเดียภาคเหนือทั้งปัญจาป สินธุ์ คันธาระแล้วปกครองอยู่ยาวนาน ๓๐๐ ปี เมื่อยึดได้แล้ว พุทธศาสนาก็ถูกทำลายลงอย่างมาก เพราะอินเดียตะวันตกมีอารามนับหมื่นและพระสงฆ์นับแสน แต่ทัพมุสลิมไม่อาจรุกเข้าภาคกลางได้ เพราะการด้านทางของกษัตริย์ราชบุตรของอินเดียในภาคกลาง กษัตริย์เหล่านี้ยังสามัคคีกันอย่างดีเพื่อด้านการรุกรานจากกองทัพมุสลิมอาหรับ ในขณะที่ตอนเหนือของอินเดียถูกกองทัพมุสลิมยึดได้อย่างเด็ดขาด และพุทธศาสนาก็ถูกกวาดล้างลง ต่อมากองทัพมุสลิมนำโดย มาหมุด ฆัสนี ได้ยกกองทัพรุกรานอินเดีย ภาคเหนือและภาคตะวันตก เช่น กันยากุพยะมถุรา พาราณสี และกรันชาร์ และยกทัพเข้าโจมตีโสมนาถวิหารของชาวฮินดู ขนทรัพย์สมบัติจากวัดไปเป็นจำนวนมหาศาลพร้อมกันนั้น รูปปั้นพระศิวะและโบสถ์ก็ถูกทำลายลง แม้จะได้รับคำวิงวอนจากนักบวชฮินดูแค่ไหนก็ตาม

 
ที่มา : หนังสือประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดีย โดย พระมหาดาวสยาม วชิรปัญโญ
[ จำนวนคนอ่าน 6165 คน ]
หน้าแรก พระพุทธศาสนา ประวัติพระพุทธสาวก หัวข้อธรรม ธรรมปฏิบัติ ศาสนพิธี วันสำคัญทางศาสนา ทศชาติชาดก วิทยุธรรมะไทย
พุทธศาสนสุภาษิต พจนานุกรมพุทธศาสน์ ทำเนียบวัดไทย คลังแสงแห่งธรรม พระพุทธศาสนาในเมืองไทย ข่าวธรรมะ กิจกรรมธรรมะ สมุดเยี่ยม
ธรรมะไทย - dhammathai.org Warning: include(../../useronline.php): failed to open stream: No such file or directory in /home/dhammathai/domains/dhammathai.org/public_html/buddhism/india/chapter07_3.php on line 469 Warning: include(../../useronline.php): failed to open stream: No such file or directory in /home/dhammathai/domains/dhammathai.org/public_html/buddhism/india/chapter07_3.php on line 469 Warning: include(): Failed opening '../../useronline.php' for inclusion (include_path='.:/usr/local/lib/php') in /home/dhammathai/domains/dhammathai.org/public_html/buddhism/india/chapter07_3.php on line 469