Warning: file(../../ad468-2.txt): failed to open stream: No such file or directory in /home/dhammathai/domains/dhammathai.org/public_html/randomad468-2.php on line 4
 
 
พระพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดีย พุทธศาสนายุค พ.ศ.๘๐๐ - ๑๑๐๐
ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดีย
The History of Buddhism in India

<พุทธศาสนายุค พ.ศ.๘๐๐-๑๑๐๐
   (Buddhism in B.E.800-1100)


     เมื่อพุทธศาสนาล่วงได้ ๘๕๐ ปี ชาติฮั่นหรือมงโกลก็เข้ารุกรานอินเดียและยึดครองอินเดียเป็นเวลา ๕๐ ปี และได้ทำลายพุทธศาสนาลงอย่างมาก ประชาชนก็ถูกทำทารุณกรรมมีแต่ความทุกข์ระทมทั่วอินเดีย ยุคนี้ถือได้ว่าเป็นยุคมืดของอินเดีย ต่อมาได้มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งพยายามต่อสู้กับพวกฮั่นและรวบรวมอาณาจักรของมคธให้เป็นปึกแผ่นแล้วตั้ง ราชวงศ์คุปตะ (Gupta Dynasty) ขึ้น ราชวงศ์นี้สถาปนาขึ้นโดยพระเจ้าจันทรคุปตะที่ ๑ (Chandragupta) ดังมีประวัติย่อ ๆ ดังนี้

 ๑. พระเจ้าจันทรคุปตะที่ ๑ (Chandragupta 1st)

     พ.ศ.๘๖๓ พระเจ้าจันทรคุปตะที่ ๑ แห่งราชวงศ์คุปตะก็ได้ขึ้นครองราชสมบัติ ณ เมืองปาฎลีบุตร แคว้นมคธ นักประวัติศาสตร์หลายคนยังสับสนเกี่ยวกับนามกษัตริย์พระองค์นี้ เพราะชื่อไปพ้องกับพระเจ้าจันทรคุปต์ผู้สถาปนาราชวงศ์โมรยะ ผู้เป็นพระเจ้าตาของพระเจ้าอโศกมหาราชราว พ.ศ.๒๐๐ แต่นักประวัติศาสตร์ส่วนมากยอมรับว่าเป็นคนละองค์กัน เพราะเวลาที่แตกต่างกันมาก นอกจากนั้นพระเจ้าจันทรคุปตะยังมี ๒ ประองค์ในราชวงศ์นี้ จึงสร้างความสับสนได้มากทีเดียว เรามีข้อมูลไม่มากนักเกี่ยวกับกษัตริย์ราชวงศ์คุปตะ เนื้อหาจึงขาดตอนพอสมควร พระเจ้าจันทรคุปตะที่ ๑ เป็นกษัตริย์ที่เข้มแข็ง สามารถรวบรวมอาณาจักรมคธให้เป็นปึกแผ่นอีกครั้ง พระองค์แต่งงานกับเจ้าหญิงกุมารเทวีแห่งเมืองลิจฉวี จนทำให้อาณาจักรลิจฉวีถูกผนวกเข้ากับคุปตะด้วย นักประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบันได้ขนานนามพระองค์ว่า "มหาราชาธิราช" เพราะเป็นกษัตริย์ที่มีความสามารถหลายด้าน ทำให้ชมพูทวีปรวมกันเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง ทรงดำเนินนโยบายตามแบบพระเจ้าอโศกมหาราช ผูกสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศเพื่อนบ้าน ในราชสำนักมีช่างฝีมือดีเป็นจำนวนมาก งานปฏิมากรรมทางศาสนาทั้งพุทธฮินดู เชน เจริญรุ่งเรืองขึ้น ก็เกิดสมัยนี้ พระองค์มีพระโอรสเท่าที่ปรากฎมี ๑ พระองค์คือเจ้าชายสมุทรคุปตะ และสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๘๗๘ รวมการครองราชย์ ๑๖ พรรษา ในยุคพระเจ้าจันทรคุปตะที่ ๑ นี้ได้มีนักปราชญ์คนสำคัญเกิดขึ้นในพุทธศาสนา ท่านคือ พระกุมารชีพ

 ๒. พระกุมารชีพ (Kumarjiva)

     ท่านเกิดเมื่อราว พ.ศ.๘๗๐ มีบิดาเป็นชาวอินเดียนามว่า กุมารายนะ ส่วนมารดาเป็นพระธิดาของเมืองกุจิ นามว่า เจ้าหญิงชีวะ ท่านเกิดที่เมืองการห์ร ต่อมาเมื่อพระมารดากลับมานับถือพุทธศาสนา ก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุณีและนำบุตรชายไปสู่แคว้นกัศมีร์ เพื่อศึกษาพุทธศาสนา และเป็นศิษย์ของท่านพันธุทัตตะ สังกัดนิกายมหายาน ต่อมาก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุและเผยแพร่พุทธศาสนาสู่เอเชียกลาง พุทธบริษัทที่โขตาน (ปัจจุบันอยู่มณฑลซินเกียงของจีน) กาษคาร์ ยารคานด์ และที่อื่น ๆ ต่างเคารพท่านอย่างสูง เมื่อกองทัพจีนนำโดยหลีักวงเข้าโจมตีกุจิ ท่านกุมารชีพก็ถูกนำตัวไปสู่จีนในฐานะเชลยศึก ก่อนที่ท่านถูกจับตัวชื่อเสียงของท่านก็เป็นที่เลื่องลือเป็นอย่างมากในจีน จึงมีผู้มาเคารพและเยี่ยมเยียนท่านเป็นอย่างมาก ต่อมาจึงมีพระราชโองการให้ปล่อยท่านและเข้าเฝ้าพระจักรพรรดิ์แห่งราชวงศ์จิ้น ท่านได้ก่อตั้งองค์การแปลหนังสือตำราของอินเดียสู่ภาษาจีน โดยรวบรวมราชบัณฑิตนักปราชญ์ทั้งสองฝ่ายจีนและอินเดียได้ ๘๐๐ ท่าน ผลงานของคณะท่านได้แปลหนังสือได้มากกว่า ๓๐๐ เล่ม ที่เด่น ๆ เช่น มหาปรัชญาปารมิตาศาสตร์ศตศาสตร์ สุขาวดีอมฤตวยูหสูตร สัทธรรมปุณฑริกสูตร วัชรเฉทิกา ปรัชญาปารมิตาสูตร ชาวจีนที่นับถือศาสนาขงจื้อและเต๋าได้กลับในมานับถือพุทธศาสนาอย่างมาก วัดในพุทธศาสนาได้รับการสร้างขึ้นอย่างมากในประเทศจีน ทั้งหมดนี้ก็ด้วยเพราะความพยายาม ความอุตสาหะต่อการเผยแพร่อย่างเอาจริงเอาจังของท่านจนพุทธศาสนามันคงในจีน ท่านเป็นอาจารย์คนแรกที่สอนลัทธิมาธยมิกในประเทศจีน วาระสุดท้ายท่านก็มรณภาพอย่างสงบในแผ่นดินจีน

 ๓. พระเจ้าสมุทร์คุปตะ (Samudragupta)

     พ.ศ. ๘๗๘ พระโอรสของพระเจ้าจันทรคุปตะที่ ๑ ทรงพระนามว่าสมุทร์คุปตะ (Samudra gupta) ได้ปกครองอาณาจักรคุปตะต่อมา ยุคนี้อาณาจักรกว้างขวางมากขึ้น โดยยึดได้แคว้นปัญจาป ทรงให้การสนับสนุนนักปราชญ์ ราชบัณฑิต นักกวี ศิลปกรรม พระองค์บับถือศาสนาฮินดู แต่ก็ไม่ได้ทำลายศาสนาอื่น พุทธศาสนา และเชนก็ยังคงรุ่งเรือง การแกะสลักพระพุทธรูปด้วยหินทรายแบบคุปตะก็ได้รับพัฒนาให้ดีขึ้น ในยุคนี้ได้รื้อฟื้นพิธีอัศวเมฆที่ได้ซบเซามานาน ต่อมาพระเจ้าเมฆวรรณกษัตริย์แห่งสิงหลได้ส่งทูตมาที่อินเดียและขอสร้างวัดที่พุทธคยา แคว้นมคธขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ชาวลักกาที่จะมาจาริกแสวงบุญ พระองค์ทรงอนุญาตตามความประสงค์ วัดลังกาจึงได้รับการก่อสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกที่อินเดีย พระเจ้าสมุทร์คุปตะปกครองอินเดียมาจนถึง พ.ศ.๙๑๙ จึงสวรรคต รวมเวลา ๔๑ ปี

 ๔. พระเจ้าจันทรคุปตะที่ ๒ (Chandragupta 2nd)

     พ.ศ.๙๑๙ พระโอรสของพระเจ้าสมุทรคุปตะคือพระเจ้าจันทรคุปตะที่ ๒ (Chandragupta 2nd) ก็ได้ขึ้นครองราชสมบัติต่อมา ในยุคนี้อินเดียก็ถูกรวบรวมเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง เหตุการณ์สำคัญอันหนึ่งคือพระองค์ยกกองทัพต่อสู้กับสกะและสุดท้ายพระองค์มีชัยต่อกองทัพพวกสกะ จึงทำให้พระองค์มีอาณาเขตกว้างขวางมากขึ้น ต่อมาก็ทรงส่งกองทหารเข้าปราบปรามแคว้นเบงกอลจนราบคาบ พุทธศาสนาในยุคนี้ก็มีความเจริญขึ้น พระเจ้าจันทรคุปตะที่ ๒ สวรรคต เมื่อ พ.ศ.๙๕๘ รวมเวลาที่ครองราชย์ ๓๙ ปี กษัตริย์บางองค์ราชวงศ์นี้แม้จะนับถือศาสนาฮินดูแต่อุปถัมภ์พุทธศาสนาด้วย

 ๕. จดหมายเหตุพระฟาเหียน (Fa Hien)

พระฟาเหียนเริ่มข้ามแม่น้ำสินธุกับเพื่อน

พระอาจารย์ฟาเหียน นามเดิมว่า กัง เป็นชาววูยัง จังหวัดปิยัง มณฑลชานสี ประเทศจีน เกิดเมื่อ พ.ศ.๙๒๔ มีพี่น้อง ๓ คน บิดานำไปบรรพชาเป็นสามเณรที่วัด หลังจากบิดาถึงแก่กรรมแล้ว จึงได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุ ได้รับการยอมรับจากเพื่อนว่าเป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาดเฉียบแหลม ต่อมาเห็นความบกพร่องของคำสอนทางพุทธศาสนาในจีนจึงคิดเดินทางไปศึกษาเพิ่มเติมที่ อินเดีย พ.ศ. ๙๔๒ เพื่อสืบต่อพระศาสนาและนำพระไตรปิฎกสู่จีน การเดินทางของท่านตอนไปเดินทางบกด้วยเท้า ส่วนขากลับมาทางน้ำผ่านเกาะสุมาตราจนขึ้นฝั่งที่นานกิง ท่านได้รายงานถึงสถานการณ์ของพุทธศาสนาในยุคนั้นว่า

     ที่แคว้นโขตาน ปัจจุบัน อยู่ในเขตซินเกียงของจีน มีพระสงฆ์ราวหมื่นรูปล้วนเป็นฝ่ายมหายาน พระราชาเคารพในหมู่สงฆ์เป็นอย่างดี และมีการแห่พระพุทธปฏิมาทุกๆ ปี โดยมีพระราชาเป็นเจ้าภาพ ท่านฟาเหียนก็ยังได้ชมการแห่นี้ด้วย

     แคว้นตโอลายห์ (หรือทรทะรัฐตอนเหนือของอินเดีย) มีพระสงฆ์เป็นจำนวนมาก ทั้งหมดเป็นนิกายหินยาน ที่นี่ยังมีรูปปั้นพระโพธิสัตว์ศรีอริยเมตไตรย์ สูง ๘๐ ศอก ทำด้วยไม้แก่น ในวันอุโบสถรูปปั้นจะเปล่งรัศมีอย่างงดงามพระราชาประเทศนี้เคารพพระรัตนตรัยเป็นอย่างดี ต่างประกวดประชันกันเพื่อนำมาสักการะบูชารูปปั้นนี้

     แคว้นอุทยาน มีสังฆาราม ๕๐๐ แห่งพระสงฆ์เป็นนิกายหินยานทั้งหมด ที่นี่มีรอยพระพุทธบาทอยู่แห่งหนึ่งและยังมีสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่เชื่อกันว่าพระพุทธองค์ทรงตากผ้า เป็นศิลาสูง ๔๐ ศอกและกว้าง ๔๐ ศอก

     เมืองปุรุษปุระ (ปัจจุบันเรียกว่าเปชวาร์ อยู่ในเขตปากีสถาน) เมืองหลวงของพระเจ้ากนิษกะ มีพระสงฆ์อยู่มากมาย และมีวัดใหญ่วัดหนึ่งมีพระสงฆ์ถึง ๗๐๐ รูป พระเจ้ากนิษกะได้สร้างสถูปหลายแห่งไว้เป็นที่สักการะบูชา นอกนั้นยังมีบาตรของพระพุทธองค์ปรากฎอยู่ที่เมืองนี้อีกด้วย

     แคว้นนคาระ มีพระสถูปที่บรรจุพระทันตธาตุของพระพุทธองค์ มีการสักการะทุกปี ห่างไป ๑ โยชน์ เป็นเนินเขาที่บรรจุไม้ทานพระกรของพระพุทธองค์ที่ทำจากไม้โคศรีษะจันทนะถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี ห่างไปครึ่งโยชน์มีถ้ำพระพุทธฉายที่พระพุทธองค์ฉายพระฉายไว้ ห่างออกไปยังมีอารามที่มีพระสงฆ์อยู่ถึง ๗๐๐ รูป

     เมืองมถุรา พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ประชาชนให้ความเคารพต่อพระศาสนาอย่างสูง ที่นี่มีพุทธรูปที่สวยงามอยู่มากมาย พระสงฆ์ส่วนมากสังกัดนิกายหินยาน

     เมืองกันยากุพชะ (ปัจจุบันเรียกว่า ลัคเนาว์ เมืองหลวงของรัฐอุตตรประเทศ) มีอาราม ๒ แห่ง พระภิกษุในนครนี้ศึกษานิกายหินยาน นอกนั้นยังสถูปอีกหลายองค์ใกล้ตัวเมือง

     เมืองสาวัตถี มีซากโบราณสถานหลายแห่ง เช่น พระเชตวันมหาวิหาร วิหารของพระนางมหาปชาบดี ซากบ้านเศรษฐีอนาถปิณฑิกะ หรือสุทัตตะ นอกนั้นยังมีเสาหินสองต้น เสาแรกมีล้อบนยอด อีกเสามีรูปโคบนยอดเสา ณ พระเชตวัน ท่านได้พบพระสงฆ์อินเดียที่ดูแลพระเชตวัน เมื่อทราบว่ามาจากประเทศฮั่น (จีน) อันไกลโพ้น ทุกรูปแปลกใจและตะลึงถึงความอุตสาหะและความพยายามอันแรงกล้าของท่าน

     เมืองกบิลพัสดุ์ มีแต่ความรกร้างว่างมีพระสงฆ์บ้างเล็กน้อย มีชาวบ้าน ๒๒ ครอบครัว นอกนั้นยังพบสถูปอีกหลายแห่ง พื้นที่โดยทั่วไปรกร้างปราศจากผู้คน

     เมืองเวสาลี มีวิหารสูง ๒ ชั้นหลังหนึ่ง สถูปบรรจุอัฐิพระอานนท์ วิหารของอัมพปาลี และสถูปอีกหลายแห่ง

     จดหมายของท่านฟาเหียน ทำให้เราทราบความเป็นไปของพุทธศาสนาใน พ.ศ. ๒๔๒ ค่อนข้างละเอียด ท่านอยู่อินเดียได้ปีก็กลับโดยทางเรือผ่านเกาะสิงหลถึงชวา ที่นี่ศาสนาฮินดูกำลังเจริญรุ่งเรือง ส่วนพุทธศาสนานั้นกำลังอับแสง จากนั้น ฟาเหียนก็เดินทางต่อไปในทะเล ผ่านเหตุการณ์ที่น่ากลัวอันตรายหลายอย่างจนถึงเมืองจีนโดยสวัสดิภาพ
     หลังจากพระอาจารย์ฟาเหียนเดินทางกลับจากอินเดียแล้ว ก็เป็นแรงบันดาลใจให้พระสงฆ์จีนรุ่นหนุ่มหลายรูปพยายามเดินทางเข้าสู่อินเดียหลายรูปที่ทำสำเร็จ พระสงฆ์หลายรูปก็ต้องมารณาภาพเสียกลางทาง แต่ก็ไม่ทำให้คนรุ่นหลังย่อท้อที่จะมาสืบพระศาสนาและกราบสังเวชนียสถานที่อินเดีย

ที่มา : หนังสือประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดีย โดย พระมหาดาวสยาม วชิรปัญโญ
[ จำนวนคนอ่าน คน ]
หน้าแรก พระพุทธศาสนา ประวัติพระพุทธสาวก หัวข้อธรรม ธรรมปฏิบัติ ศาสนพิธี วันสำคัญทางศาสนา ทศชาติชาดก วิทยุธรรมะไทย
พุทธศาสนสุภาษิต พจนานุกรมพุทธศาสน์ ทำเนียบวัดไทย คลังแสงแห่งธรรม พระพุทธศาสนาในเมืองไทย ข่าวธรรมะ กิจกรรมธรรมะ สมุดเยี่ยม
ธรรมะไทย - dhammathai.org Warning: include(../../useronline.php): failed to open stream: No such file or directory in /home/dhammathai/domains/dhammathai.org/public_html/buddhism/india/chapter06_1.php on line 504 Warning: include(../../useronline.php): failed to open stream: No such file or directory in /home/dhammathai/domains/dhammathai.org/public_html/buddhism/india/chapter06_1.php on line 504 Warning: include(): Failed opening '../../useronline.php' for inclusion (include_path='.:/usr/local/lib/php') in /home/dhammathai/domains/dhammathai.org/public_html/buddhism/india/chapter06_1.php on line 504