ปรินิพานสูตร ระหว่างทางการจากไปของพระพุทธ์องค์

ขุมทอง ต้นโพธิ์

<
นัยของพระธรรมเทศนา มหาปรินิพพานสูตร พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เป็นพระสูตรที่ ๓ ในมหาวรรค และมีเนื้อความยาว ที่เราได้สดับมาตามลำดับบันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับเส้นทางการเสด็จไปเพื่อปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นล้วนแล้วแต่เป็นเหตุการณ์ที่น่าสนใจ เป็นเหตุการณ์ที่ผู้รู้บันทึกจดจำไว้ฝากส่งทอดมาถึงพวกเราทั้งหลายให้ได้รำลึกถึง สมกับว่าเป็นบุคคลสำคัญที่เรายอมรับ ยอมรับนับถือเรียกว่าเอาเป็นที่พึ่งนะ เป็นที่พึ่ง มอบกายถวายชีวิตถึงขนาดนั้นละ มอบกายถวายชีวิต ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือถึงพระพุทธเจ้านี้ว่าเป็นที่พึ่งตราบเท่าเข้าสู่พระนิพพาน ผู้รู้ท่านแต่งไว้ถึงขนาดนั้นนะ ยาวะนิพพานัง ชีวิตัง ตลอดชีวิตตราบเท่าเข้าสู่พระนิพพาน เพื่อย้ำให้เห็นว่าเส้นทางของการเกิดของพวกเราทั้งหลาย ซึ่งเป็นผู้มีกิเลสตัณหาอุปาทานอยู่ ยังไม่สามารถที่จะสลัดสิ่งเหล่านี้ออกไปได้ เหมือนพระพุทธเจ้า เหมือนพระอริยสาวกสงฆ์ทั้งหลาย เราก็ขอพึ่งพระพุทธเจ้านิ พุทโธ เมนาโถ พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งของเรา ธัมโม เมนาโถ พระธรรมเจ้าเป็นที่พึ่งของเรา สังโฆ เมนาโถ พระสงฆ์เจ้าเป็นที่พึ่งของเรา หรือ พุทธัง ธัมมัง สังฆัง ที่เราถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะที่พึ่งอันประเสริฐ หาที่พึ่งอื่นเสมอเหมือนไม่มี หรือเหมือนที่เราปฏิญาณว่า นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง พุทโธ เม สะระณัง วะรัง ที่พึ่งอื่นของข้าพเจ้าไม่มีพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐ พระธรรมเป็นที่พึ่งอันประเสริฐ พระสงฆ์เป็นที่พึ่งอันประเสริฐ เป็นปฏิญาณบ่งบอกให้เห็นถึงความมุ่งมาดปรารถนา กับการที่จะตามเสด็จเบื้องพระยุคลบาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน พระพุทธเจ้าอยู่ที่ ที่ปรินิพพาน ปรินิพพานอยู่ตรงไหน (สถานที่) อันนั้นคือสถานที่ ที่ว่าพระพุทธเจ้าจะไปปรินิพพานคือสถานที่ ที่จะไปปรินิพพาน ผู้ปรินิพพานคือพระพุทธเจ้า แต่สถานที่นั้น เป็นที่ที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน พวกเราปฏิญาณตนถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ตลอดชีวิต ตราบเท่าเข้าสู่พระนิพพาน ก็หมายถึงตราบเท่าที่จะไปถึงตรงที่ที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน หรือคุณสมบัติ คุณสัมบัติของพระพุทธเจ้า คือผู้ปรินิพพาน ผู้ใช้คำว่าปรินิพพานก็หมายถึงผู้ดับรอบ หรือผู้เย็นรอบ ดับรอบ ดับอะไร ก็ดับกิเลสตัณหาอุปาทานนี่แหละ เย็นเพราะไม่ร้อน ไม่ได้ร้อนเพราะราคะ ไม่ได้ร้อนเพราะโทสะ ไม่ได้ร้อนเพราะโมหะ หรือ..ความโศกเศร้าเสียใจพิไรรำพันอื่น ๆ แต่ประการใด นั้นเรียกว่าเย็น พระนิพพานจึงเรียกว่าเย็น ดับซึ่งกิเลสตัณหาโดยสิ้นเชิง พระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงตรงนี้ ถือว่าเป็นจุดสุดท้าย จุดสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ ตั้งแต่ประสูติ ประสูติ มาจนถึงที่สุดท้ายนิ ชีวิตที่ก้าวมาตามลำดับ ตามลำดับตลอดระยะเวลา ๘๐ ปี
๘๐ ปีนี้ ถ้าพูดถึงว่าการเดินทาง เดินทางด้วยพระบาท เดินทางด้วยฤทธิ์ หมายถึงว่ามีทุกรูปแบบนั้นแหละของการเดิน เดินทางด้วยพระบาท เดินทางด้วยฤทธิ์ โน้นเดินทางเสด็จไปสวรรค์ เดินทางด้วยฤทธิ์ หรือเสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์ทั้งหลายตรงนั้นตรงนี้ หรือเหมือนอย่างที่เขาพูดกันว่าเสด็จมาถึงประเทศไทยนิ ประเทศไทยหรือสุวรรณภูมิ ทางเหนือเขาก็บอกว่าเสด็จไปถึงเมืองเชียงใหม่ ทางนครพนมก็ว่าเสด็จไปถึงพระธาตุพนมตั้งแต่ยังทรงพระชนม์อยู่นู้น...นั้น...! นั้นละคือการเสด็จไปของพระพุทธเจ้าไปด้วยฤทธิ์ ตลอดระยะเวลา ๘๐ ปี การเดินทางนี้ยืดยาวนานถ้านับตามวันเวลา แต่ถ้าเรามาศึกษาอ่านพระประวัติของพระองค์แล้วก็เหมือนกับว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เป็นเหตุการณ์ที่เราผู้เป็นผู้รักเคารพต่อพระพุทธเจ้า ก็แน่นอนแหละ ความสลดสังเวชใจ ความเศร้าโศกเสียใจย่อมเกิดขึ้นได้ หรือความรู้สึก ความรู้สึกว่ารักเคารพต่อพระพุทธเจ้านิ สะเทือนใจ สะเทือนใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ฉะนั้นในมหาปรินิพพานสูตรนี้ ถ้าเราไปคัดสำนวน คัดเนื้อหา เอาเฉพาะจุดสำคัญ ๆ ที่พระอรรถกถาจารย์ ธรรมสังคาหกาจารย์ ท่านบันทึกไว้นั้น จะเป็นพลังอันสำคัญให้กับการเข้าถึงพระพุทธเจ้า เข้าถึงธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างที่เราสวดกันอยู่ทุกวัน ๆ เรามีความแก่เป็นธรรมดา มีความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา มีความตายเป็นธรรมดา มีความพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นธรรมดา สิ่งที่ไม่รักก็อาจจะได้พบได้เห็นก็เป็นของธรรมดา อยากได้อย่างหนึ่งแต่มันได้อีกอย่างอันนี้ก็เป็นของธรรมดา ซึ่งเป็นข้อธรรมที่บรมครูสอน สอนด้วยพระวาจา เป็นศาสนา หรือว่าเป็นคำสอนที่ได้ยินได้ฟังแล้วก็นำไปประพฤติปฏิบัติ
ทีนี้...พอเรามาดูพระประวัติของพระพุทธเจ้า เราก็จะเห็นหลักธรรมะ หลักธรรมะหรือตัวธรรมะตัวธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนพวกเรา พระองค์ก็แสดงให้พวกเราดู ให้พวกเราได้เห็นว่า นี่...แม้พระองค์เอง ธรรมะที่ตรัสแสดงไว้ก็คือกระบวนการของธรรมดาธรรมชาติกระบวนการของชีวิตที่ดำเนินมาตามลำดับ ๆ ๆ จนมาถึงจุดสุดท้ายธรรมะที่ซึมซับหรือแทรกซ้อนอยู่ในพระประวัติของพระพุทธเจ้านี้ ดูให้ดี ๆ พิจารณาให้ดี ๆ นะ มันจะเกิดความเข้าใจถึงหลักธรรม หรือจะพูดว่านี่แหละคือตัวอย่างธรรมะ เราอาจจะมองคนอื่นพูดถึงคนอื่นอาจจะไม่สะเทือนใจ หรือไม่กระตุ้นความรู้สึกเท่าไหร่นัก แต่พอมองมาที่บทบาทแห่งบรมครูคือพระพุทธเจ้านี้ มันจะทำให้เกิดความชัดเจน ชัดเจนเรื่องธรรม โดยเฉพาะเราซึ่งเป็นปุถุชนเป็นคนมีกิเลสหนาปัญญาน้อย เห็นอะไรมันก็ไม่ค่อยสะเทือนเท่าไหร่ เห็นคนตายก็...นิดหน่อย เห็นคนเจ็บไปเยี่ยมกันไปดูกันก็นิดหน่อยนะ หรือว่าเห็นคนแก่คนพิการอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็รู้สึกว่านิดหน่อย มันไม่กระตุ้นความรู้สึกเหมือนกับอย่างที่พระพุทธเจ้า หรือเจ้าชายสิทธัตถะเห็น เทวทูต
เจ้าชายสิทธัตถะเมื่อครั้งยังเป็นพระราชกุมารเห็นเทวทูต เทวทูต ก็คือคนแก่ เห็นแล้วสะเทือนใจ คนเจ็บอย่างงี้เห็นแล้วสะเทือนใจ เห็นคนตายสะเทือนใจเลย
ทีนี้เราอ่านประวัติของพระองค์เราสะเทือนใจไหมละ ก็เฉย ๆ แหน่ะ... อ่านแล้วก็เฉย ๆ ไม่ได้เห็นสะเทือนใจเหมือนอย่างที่ท่านสะเทือนใจ ก็ยังเฉย ๆ ก็ยังแสวงหารูปเสียงกลิ่นรส หายศหาตำแหน่งหาความั่งมีศรีสุขร่ำรวยไป...บางทีบางครั้งบางคราวลืมหลักของศีลของธรรม ลืมหลักของความดี,ความชั่ว กระโดดโลดเต้นไปกับอำนาจของราคะ,โทสะ,โมหะกิเลสตัณหาจนเหมือนกับว่าไม่เคยได้ยินไม่เคยได้ฟังบทบาทแห่งบรมครู หรือคำสอนของบรมครูผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานนี้เลย มันแสดงให้เห็นถึงความหยาบทางจิตใจถึงขนาดนั้น ท่านจึงแนะนำพร่ำสอนว่าให้พิจารณาบ่อย ๆ ไตร่ตรองใคร่ครวญบ่อย ๆ แล้ว ๆ เล่า ๆ ถ้าพูดเป็นภาษาไทยก็ว่า แล้ว ๆ เล่า ๆ ขนาดไหน คำว่า แล้ว ๆ เล่า ๆ หรือคำว่าบ่อย ๆ ขนาดไหน ทำจนมันเกิดคุณเกิดผลนั้นแหละ นึกจนมันเกิดผล เหมือนกับเราพิจารณาธรรมกรรมฐาน พิจารณา เกศา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ พิจารณาจนมันเกิดผล เกิดผลคืออะไร เกิดผลคือรู้คือเข้าใจ รู้เข้าใจเห็นนั้นแหละ คำว่ารู้เข้าใจ คือรู้แจ้ง เห็นชัดเจนเลย มองไปนิเห็นชัดเจนเลย ว่าร่างกายสังขารมันประกอบไปด้วยอะไร เห็นชัดเจน แล้วมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปอย่างไร มันสกปรกมันเน่ามันเปื่อยมันเหม็นมันน่าเกลียดน่าสะอิดสะเอียนขนาดไหน ใหม่ ๆ มันก็จะไม่ยอมแหละ แต่พอเราพิจารณากลับไป กลับมา กลับไปกลับมาคือทำให้จนมันยอมนั้นแหละถ้ามันยังไม่ยอมก็ฝึกพูดฝึกคุยฝึกพิจารณาจนมันยอม นั้นแหละก็คือที่ท่านใช้คำว่า บ่อย ๆ บ่อย ๆ ถึงขนาดนั้น ท่านใช้คำว่า ภาวิตา พหุลีกตา ภาวิตาก็คือการทำให้มันเกิดขึ้น พหุลีกตา ก็คือทำบ่อย ๆ บ่อย ๆจนให้มันเกิดขึ้น ถ้ามันยังไม่เกิดขึ้นก็ทำ.. เพราะเป้าหมายอยู่ที่เกิดขึ้น เหมือนกับเราทำงานนี่แหละ เป้าหมายก็คือต้องได้ข้อแลกเปลี่ยน ข้อแลกเปลี่ยนก็คือเงิน ซึ่งเป็นศูนย์กลางของวัตถุของทั้งหลายทั้งปวง ทำงานเรียนมาศึกษามา ต่อปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ก็เพื่ออะไร ก็เพื่อที่จะเอาสิ่งเหล่านี้ไปแลกไปแลกเอาทรัพย์สินเงินทองข้าวของ ชื่อเสียงเกียรติยศเหล่านี้เพื่อไปแลกเอา เรียนไปแล้วไม่ใช่ว่าจบ ไม่เหมือนกับเรียนธรรมะนะ เรียนธรรมะนี้เรียนแล้วจบ แต่เรียนทางโลกเรียนไม่จบ ยิ่งมีความรู้มากความรู้สูง หรือเรียนรู้มากเท่าไหร่เขาก็ยิ่งใช้หรือเขาไม่ใช้ตัวเองก็เอาไปใช้นั้นแหละ ใช้ความรู้อันนั้น ถูกความรู้ของตนเองนี้บีบตัวเอง บีบคั้นตัวเองพลักดันตัวเองลักษณะอย่างนี้เพื่อให้ได้มาสิ่งนั้นสิ่งนี้ พอได้มาแล้วก็ไม่ได้ยุติก็ไปต่ออีกทำนองนี้ ซึ่งมันแตกต่างกันกับการพิจารณาไตร่ตรองใคร่ครวญ ในระดับของการประพฤติปฏิบัติสู่เป้าหมายอันสูงสุดเพราะเราศึกษาประวัติของบรมครูบทบาทที่พระองค์แสดงให้พวกเราได้เห็นนั้น เป็นบทบาทของผู้ที่หลุดพ้นแล้ว ผู้ที่จะก้าวไปสู่ความหลุดพ้นจงเอาอย่าง อันนั้นคือจุดเป้าหมายที่สำคัญ ส่วนองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เป็นเรื่องของโลกของการครองชีวิตอยู่ในโลกหรือเรื่องของภูมิ ของกามาวจรภูมิ เกี่ยวกับโลกโดยทั่วไปนั้น อันนั้นเราไม่ต้องไปศึกษาเรียนรู้เท่าไหร่หรอกเพราะว่ามันเป็นธรรมชาติที่มันเข้าใจที่จะต้องหา ที่จะต้องแสวงหาเพื่อให้ได้มาโดย โดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ข้อสำคัญนั้นก็คือท่านให้ใส่คำว่าศีล คำว่าธรรมนั้นเข้าไป ไม่ต้องไปสอนอย่างอื่น สอนว่าให้บรรจุศีลธรรมนั้นเข้าไป งานต่าง ๆ ที่เป็นบทบาทของชีวิต ในกระบวนการของโลก ธรรมะจึงจำเป็นที่จะแทรกเข้าไปเพื่อที่จะให้ความเป็นไปของชีวิตบนโลกนั้นมันดีขึ้น ระดับโลกโดยทั่วไป ก็คือระดับพื้น ๆ โดยทั่วไป พระพุทธเจ้าก็วางเป็นหลักคำสอนไว้ ถ้าต้องการจะเหนือกว่านั้นสูงกว่านั้น ก็บทบาทของบรมครูที่แสดงให้พวกเราดูนี่แหละ
ถ้าจะพูดว่าถ้าเอาอย่างพระพุทธเจ้าก็ไม่ต้องทำอะไรสิ นั่งภาวนา หลับตา ทิ้งโน้นทิ้งนี่ให้มันจบ ก็ใช่ถ้าจะเอาอย่างระดับนั้น ถ้าเอาอย่างระดับถอยไปละ คำว่า ถอยไป มันจะถอยไปสู่ภพสู่ชาติสู่ภูมิอื่น ๆ ละ ภูมิอื่น ๆ ก็หมายถึงถอยไปตั้งแต่ระดับปุถุชน อริยชนถอยลงไป ถอยไปจนถึงปุถุชนคนธรรมดาทั่วไป อันนั้นคือธรรมะมันก็มีแทรกอยู่ในนั้นทั้งหมดแหละเอาอย่างได้ท่านบันทึกไว้หมดแหละแต่ละชาติ แต่ละชาติที่พระองค์ประสบผลสำเร็จเป็นเศรษฐีเป็นคฤหบดี เป็นเจ้าฟ้าพระมหากษัตริย์ สูงสุดพระองค์ก็บอกว่าในโลกมนุษย์นี้สูงสุดก็คือจักรพรรดิราชนิ ซึ่งเป็นเรื่องที่พระพุทธองค์จะเล่าให้ฟังตอนอยู่สาลวโยทยานนี่แหละ จะเล่าให้ฟังซึ่งท่านก็กล่าวไว้อยู่ ๒-๓ นัย ใช่ไหม นัยที่ว่าพระองค์มาเสด็จดับขันธปรินิพพานนี่...มีจุดประสงค์ ๓ อย่าง อาจจะมีอย่างอื่นที่ลึกกว่านั้นที่ท่านไม่กล่าวถึงก็ได้ หรือท่านไม่ได้บันทึกไว้ แต่มี ๓ อย่างที่ยกเป็นประเด็นสำคัญ ตามเนื้อหาสาระที่มันเกิดขึ้นแล้ว นั้นก็คือ มีพระประสงค์เพื่อที่จะให้พระองค์หลังจากปรินิพพานแล้วนิ พระสรีระของพระองค์นิ ถือว่าเป็นวัตถุ เป็นวัตถุที่บุคคลต่าง ๆ ในชมพูทวีป ใคร ๆ ก็อยากได้ ถ้าไปปรินิพพานที่เมืองใหญ่ ๆ ผู้มีอำนาจก็จะครอบครอง ครอบครองสังขารร่างกายหรือสรีระสังขารของพระองค์นั้น แล้วบุคคลอื่น ๆ ก็จะไม่กล้าเข้าไปแตะต้องแหละ เพราะถือว่าพระพุทธเจ้ามาปรินิพพานในสถานที่ของตนเอง ตนเองก็มีสิทธิ์แหละ ถ้าพูดในปัจจุบันก็คืออินเดียในปัจจุบันใช่ไหม พระพุทธเจ้าปรินิพพานที่อินเดีย ถ้าไปปรินิพพานที่รัสเซีย หรือไปปรินิพพานที่อเมริกาอย่างงี้ละ เป็นเรื่องใหญ่ เพราะถูกยึดครอง ถูกครอบครอง ยึดเป็นของตัวเอง ท่านปรินิพพานที่อินเดีย อินเดียเขาก็ยึดเป็นของเขา พอยึดเป็นของเขาก็เป็นประโยชน์กับคนอินเดีย นั้น..! กุสินารานี้เป็นเมืองเล็ก ๆ ไม่มีอำนาจมากเท่าไหร่ พอปรินิพพานที่นั้น ถ้าพูดถึงว่าจะห่วงหรือคุ้มครองพระสรีระของพระพุทธเจ้าไว้ คนอื่นประเทศอื่น ๆ เมืองอื่น ๆ ซึ่งตอนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุถึงขั้นยกทัพมาเลยนะนั้น ยกทัพมาเรียกว่าถ้าขอไม่ได้ก็จะแย่งเอาหรือจะรบเอาขนาดนั้นนะ ถ้าไม่เช่นนั้นเกิดเหตุ เกิดเหตุใหญ่แหละ ก็โดยที่ว่าตรงนี้มีคนสำคัญอยู่คนหนึ่ง คือโทณพราหมณ์ คนนี้ถือว่าเป็นคนที่เหล่ากษัตริย์ทั้งหลายนี้ให้ความเคารพนับถือเชื่อฟัง เพราะว่าเป็นอาจารย์ใหญ่ ผู้ครองนครเมืองนั้นเมืองนี้ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่รู้จัก หรือเคยเป็นศิษย์ของโทณพราหมณ์ เป็นศิษย์ที่มีสถาบันได้รับการแนะนำจากโทณพราหมณ์ ก็เกรงใจโทณพราหมณ์ ไม่กล้าที่จะแสดงอำนาจบาตรใหญ่มาข่มขู่เอาแย่งพระบรมสารีริกธาตุ นี่สิ จึงเป็นพระประสงค์ของพระพุทธเจ้านั้นเอง เมื่อมีพระประสงค์อย่างนี้ พระองค์จึงมาเสด็จดับขันธปรินิพพานที่เมืองเล็ก ๆ นี้ และก็มีพระประสงค์จะทรงแสดง มหาสุทัสสนสูตร เป็นพระชาติของพระองค์เองเมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพระเจ้าจักรพรรดิชื่อว่ามหาสุทัสสนะ และก็ที่ ที่พระองค์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิก็คือที่ตรงนี้ ที่เมืองกุสินารานี้ ที่พระองค์บอกว่า...อานนท์อย่าไปคิดว่า (คือเรื่องของเรื่องพระอานนท์เป็นผู้อารธนา แต่ในพระธรรมเทศนาท่านไม่ได้กล่าวไว้ ท่านกล่าวเพียงแต่คำตอบ) แต่คำถามจริง ๆ พระอานนท์เป็นผู้ถามว่านิมนต์ไปปรินิพานโน้นเมืองสาวัตถี เมืองไพศาลี เมืองราชคฤห์ใหญ่ ๆ เมืองกว้าง ๆ เศรษฐีคฤหบดีเยอะแยะ เมืองกุสินารานี้เมืองเล็ก ๆ พระพุทธเจ้าว่า ..อย่าเข้าใจว่าเมืองนี้เป็นเมืองเล็ก ๆ พระพุทธองค์จึงตรัสแสดงถึง มหาสุทัสสนสูตร หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า จักกวัตติสูตรก็ได้ ซึ่งอยู่ในเทศนานี้ไม่รู้ว่าท่านยกขึ้นมาหรือเปล่า ถ้าไม่ได้ยกขึ้นมาก็คงจะมีพระสูตรอื่น ๆ ต่อไป อีกที่เราจะได้ฟังว่าพระเจ้าจักรพรรดินี้มีคุณสมบัติอย่างไร ก็คือคุณสมบัติของพระองค์เอง เพื่อชี้ให้เห็นว่า โลกีย์สมบัติสูงสุดคือจักรพรรดิสมบัติ สูงไปกว่านั้นก็เป็นเทวะเป็นทิพย์ ซึ่งเป็นประวัติของพระองค์เองจะได้มาเล่าประวัติของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ หรือเมืองกุสาวดี (กุสาวดีราชธานี) ชื่อเมืองดั้งเดิมชื่อเมืองกุสาวดี พระเจ้ามหาสุทัสสนะเป็นผู้ครอบครอง เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ และต้องยังมีอีกคนหนึ่งที่ต้องโปรดอีก ชื่อสุภัททะ คนนี้จะเป็นสาวกปัจฉิมสาวก นิพระประสงค์ของพระพุทธเจ้า จะเรียกว่าแม้พระองค์จะไม่ได้ตรัสให้ฟังแต่ผู้รวบรวมท่านกล่าวถึงเช่นนี้ ก็เพราะว่าเหตุการณ์มันไปลักษณะอย่างนั้น เหตุการณ์ไปลักษณะอย่างนั้น ผู้รวบรวมไปเอารวบรวมเอามาเป็นพระประสงค์ของพระพุทธเจ้า ว่าพระพุทธเจ้ามีพระประสงค์อย่างนี้ จึงมาอย่างนี้ จึงมาตรงนี้ แต่จริง ๆ พระพุทธเจ้ายังไม่พูดให้ฟังเลย เหตุการณ์ไปก่อน แล้วผู้รวบรวมก็มากล่าวอย่างนี้ว่ามีพระประสงค์อย่างนี้ พระประสงค์ของพระพุทธเจ้า ถ้าไม่มีคนถามพระองค์ก็ไม่ได้บอกแหละ นอกนั้นบทบาทแห่งบรมครู ที่เราได้ฟังมาตามลำดับ ๆ มันจึงเกิดความรู้สึกเกิดความรู้สะกิดจิตของเราบ้างไหม อันนี้น่าคิดนะ เราฟังมานี้ มันเกิดความสะเทือนใจหรือเกิดความมุมานะพยายามในการที่จะเข้าไปสัมผัสกับบทบาทของพระองค์ทางด้านจิตใจ นั้นเป็นสิ่งที่ควรจะเกิดมีขึ้นกับการได้ยินได้ฟัง
ฟังแล้วฟังอีกฟังบ่อย ๆ ประวัติของพระพุทธเจ้า ถ้าอยากจะรักพระพุทธเจ้าท่านก็บอกว่าให้ศึกษาประวัติของพระพุทธองค์นั้นแหละ เราจะเกิดความรักในพระพุทธเจ้ายิ่งขึ้น รักยิ่งขึ้นเป็นสิ่งที่ดี ก็พยายามศึกษาเรียนรู้จดจำและก็ไตร่ตรองใคร่ครวญ โยนิโสมนัสสิการ น้อมเข้ามาไม่ใช่ฟังแล้วก็แล้วไปผ่านไป หรือฟังแล้วก็ไม่ได้ตั้งใจฟังเท่าที่ควร ไม่รู้เนื้อหาสาระเป็นอย่างไร ถ้าฟังไม่รู้ไม่เข้าใจก็เอาไปทบทวนดูอีก เพราะตำรามี เราสามารถทบทวน ทบทวนได้ ถือว่ามีบุญแหละ ถ้าฟังเทศน์เมื่อก่อน ๆ นี้ ฟังเทศน์ครูบาอาจารย์ฟังแล้วผ่านไปเลย หรือเหมือนสมัยก่อนที่พระพุทธเจ้าเทศน์พอเทศน์แล้วก็ผ่านไปเลย ไม่ได้มีเครื่องบันทึกเสียงไม่ได้มีตำหรับตำราบันทึกไว้ ฟังแล้วก็ผ่านไป ต่างคนต่างก็จำมาแล้วก็มาเล่ามาสังคายนามารวบรวม สำหรับพวกเรานี้ถือว่าดีมากเลย มีทั้งต้นแบบ มีทั้งการบันทึกเสียง มีทั้งสามารถจะเอามาทบทวนได้เมื่อไหร่ก็ได้ ชอบใจกัณฑ์ไหนบันทึกไว้ฟังแล้วฟังอีกยิ่งดี นั้น..! เหมือนกับว่าเราเฝ้าพระพุทธเจ้า ฟังเรื่องของพระพุทธเจ้าอีก มาเฝ้าพระพุทธเจ้าก็ฟังเรื่องพระพุทธเจ้าอีกลักษณะอย่างนี้ ถือว่ามีบุญแหละ แต่ว่ามีบุญแล้วแต่ไม่ใช้ มันก็ไม่เกิดประโยชน์ใช่ไหม มีบุญมีเครื่องไม้เครื่องมืออะไรแต่ไม่ใช้ กลับไปใช้เพื่อสนองตอบกิเลสตัณหาราคะโทสะไปโน้น มันก็เป็นโทษเป็นโทษกับจิตเป็นโทษกับชีวิต เหมือนในโลกปัจจุบันที่มันอยู่กัน ณ ปัจจุบัน คนคิดที่จะเมตตา การุณ กับคนคิดที่จะเข่นฆ่าเอารัดเอาเปรียบมันคนละอย่างต่างกันมากคนละเรื่องเลยกับหลักการของพระพุทธเจ้า
ฉะนั้นพระพุทธศาสนา ถือว่าเป็นคำสอนอันสำคัญที่จรรโลงโลกให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ซึ่งพวกเราทั้งหลายนี่แหละจะช่วยกัน ช่วยกันเผยแผ่ ช่วยกันขยายออกไป เพื่อให้เป็นคุณเป็นประโยชน์กับโลก ฉะนั้นทำกิจไหว้พระสวดมนต์นั่งสมาธิภาวนา นอกเหนือจากได้ประโยชน์ส่วนตนแล้วเราก็แผ่เป็นประโยชน์กับชาวโลกที่ยังโง่เขล่าเบาปัญญาหูหนาตาบอด เยอะแยะแหละนะ ที่มีเหตุการณ์โน้นนั้นนั้นนี่เกิดขึ้นนั้น ล้วนแล้วแต่กำลังกิเลสตัณหามันพลักดันทั้งนั้นแหละ ตรงโน้นฆ่ากันตรงนี้ตีกันตรงโน้นทะเลาะกัน ตรงโน้นถล่มกันนั้นละคือกิเลสตัณหามันแสดงตัว เพราะไม่มีธรรมะ ถ้ามีธรรมะสิ่งเหล่านี้มันไม่มี เพราะขาดธรรมะสิ่งเหล่านี้มันถึงมี ธรรมะจึงเป็นเครื่องจรรโลงโลก ถ้าไม่มีธรรมะนิ ล้วนแล้วแต่หายนะ ท่านเชื่อว่าเรียกว่าหายนะ ภาษาบาลีว่า วิบัติถะติ เรียกว่าหายนะ วิบัติ เรามีธรรมมันก็วัฒนา วัตถะติ เจริญ เจริญทางกาย ทางวาจา ทางใจ
ก็เรียนรู้ศึกษาจดจำนำไปประพฤติปฏิบัติ เผยแผ่ช่วยกัน เราทำหน้าที่นะเรียนธรรมศึกษาธรรม ประพฤติธรรม ปฏิบัติธรรม เผยแผ่ธรรม เป็นการสนองตอบ สนองตอบพระคุณของพระพุทธเจ้า เราได้รับคุณของพระพุทธเจ้า เราก็สนองตอบพระคุณของพระองค์ด้วยวิธีเหล่านี้ตามความสามารถที่เราจะทำได้ ไปได้เวลาไปเดินจงกรมกัน
   


ที่มา : ธรรมะยามเย็น วันที่ 4 ต.ค. 66 หลวงพ่อพระมหาประกอบ ธัมมชีโว


 329 

  ความคิดเห็น


RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย