ยันต์หัวใจอริยะ นำพาไปสู่ภูมิที่สูงขึ้น

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์

<
ยันต์หัวใจอริยะ นำพาไปสู่ภูมิที่สูงขึ้น

อารมณ์ทั้ง ๗ ข้อนี้ ในชีวิตประจำวัน หากว่าใครสามารถบริหารจัดการได้ สามารถนำพาชีวิตของตนให้เจริญ พัฒนาภูมิของตนให้สูงขึ้นได้ เปรียบเสมือนยันต์เป็นเกราะป้องกันเภทภัยอันตรายและเสริมดวงชะตาให้แข็งแรงเจริญขึ้น มีดังนี้


๑. ขี้โทสะ โทสะ แปลว่า ความไม่ได้ดั่งใจ


หมายถึง ความคับข้องใจ อาฆาต แค้น พยาบาท โกรธ


หมายความว่า แรงปรารถนาที่ควบคุมไม่อยู่อย่างยิ่งยวด


เหตุที่ทำให้อารมณ์ใจร้อน คือ หมายมั่นตัวเองผิด เช่น ตัวเราทำตรงนี้ได้ ตัวเราก็จะหมายมั่นว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ สรุป คือ ตัวเองเก่ง หยิ่งทนง พอหยิ่งทนงบวกกับตัวผยอง ก็จะเข้าสู่ตัว "ไม่ยอม"


พอไม่ยอมก็จะแสดงให้ฝ่ายตรงข้ามรู้ จึงเกิดอารมณ์ใจร้อน เกิดโทสะ มุทะลุ


ต้นตอแห่งเหตุ หมายมั่นสำคัญตัวเองผิด ตัวนี้ทำให้เกิดเหตุตัวนั้น หมายมั่นในอัตตา ตัณหาของตัวเอง เลยต้องใช้กิเลสอยู่เรื่อย


หาความจริงแห่งเหตุ คือ เพราะเราหลงไปทนงหมายมั่นกับตนเอง "หลง" หลงผิดว่าตนเองเคยเก่ง เคยทำได้ดี อะไรอย่างนี้ เรียกว่า "หลงจมปลัก" หลงจมปลักที่เราเคยทำได้อย่างนั้นอย่างนี้




๒. ขี้เต๊ะ คือ จุ้ย, วางท่า, วางมาด, เต๊ะจุ๊ย, เต๊ะท่า, แอ๊ก คนที่มั่นใจในตนเองมากเกินไป เช่น เขาถามอะไรก็ไม่บอก เฉยๆ วางตัว วางท่าวางทาง ยกตัวอย่าง ต้องให้เขาพูดหวาน พูดดี ต้องให้ขอร้องถึงจะช่วยทำ ถามพูดธรรมดาก็ไม่อยากทำให้ ปฏิเสธ เพราะสำคัญว่ากูดี


รำคาญเพราะเราเกิดปฏิฆะ


ถ้าเรามีภูมิปัญญาเราก็จะมีวิธีการจัดการบริหาร แทนที่จะใช้วิธีปฏิฆะอย่างเดียว เราต้องมีปัญญาถึงจะใช้ได้


เราอยากจะแก้ตัวไม่อยากยุ่งกับเขามาก วิธีแก้ก็คือ "ให้มองว่าเขาขาด อย่ามองว่าเขาผิด" ถ้าเรามองว่าเขาขาดใจเราจะเกิดเมตตา แต่ถ้าเรามองว่าเขาผิด ใจเราจะเกิดโทสะ


ถ้าเราไปยุ่งกับเขาแล้วกลายเป็นว่าเราเสือก นั่นเป็นเพราะว่าเราไม่รู้จักพิจารณากรรม ๕ พิจารณาวิบาก ๗ เราจะรู้จังหวะ ควรไม่ควร รู้ว่าเวลาไหนควรเข้าหรือไม่ควรเข้า


"อย่ามองว่าเขาผิด แต่ให้มองว่าเขาขาด"


เพราะถ้าเรามองว่าเขาทำผิด เราก็จะมีจิตที่จะเอาคืนเขา ต่อว่าเขา ทำร้ายเขา แต่ถ้าเรามองว่าเขาขาด คือ เขาขาดการเรียนรู้ ขาดกัลยาณมิตร ครูบาอาจารย์ที่คอยตักเตือนชี้แนะแก่เขา ไม่มีใครสอน เขาจึงเป็นเช่นนี้ ฉะนั้น เราจะต้องชี้แนะเขา ให้เขาได้รู้ เข้าใจในสิ่งนั้นๆ อารมณ์แห่งจิตโทสะถึงจะลงได้


ถ้าเขามาขอให้เราเป็นกัลยาณมิตร ถ้าเราไม่ทำก็กลายเป็นว่าเราผิดใช่ไหม? พอเราไม่ทำเขาก็มาถามเราบ่อยๆ เราก็เกิดปฏิฆะ?


เราต้องมาดูว่า "เขาผิด หรือดูว่า เขาขาด"


ถ้าเขาขาด เราจะต้องมีเมตตา มีความอดทน มีตบะ เขาจะเป็นหลายครั้งก็ได้ แต่ถ้าเรามองว่าเขาทำผิด เราก็จะโมโห


ถ้าหากว่า เราดูเขาขาด เราจะต้องมีปัญญาจูงเขา ปัญญาที่จะจูงเขายังไง พูดกับเขายังไง คุณผิดตรงไหน


ถ้าเป็นกัลยาณมิตรเขาเตือนเรา เราฟัง แต่เราเตือนเขาเขาไม่ฟัง ทำยังไง?


เราต้องมีตัวว่า "ดูเขาขาด หรือว่าดูเขาผิด"


ถ้าดูว่าเขา "ผิด" แสดงว่าเรามีโทสะแล้ว ที่ถูกต้องต้องมองว่าเขาขาด เราถึงจะมีเมตตาได้ อดทนได้ จาคะได้


ถ้าเราจาคะบ่อยๆ แล้วมันเหลืออด ฐานจิตเราจะต้องเป็นยังไง?


คำว่า "จาคะ" ไม่มีเหลืออด นอกจากอดทนถึงจะมีเหลืออด เพราะชื่อก็บ่งบอกแล้วนี่ อดทน กับ จาคะ ก็เพราะว่า เราอดทนแล้ว มันเหลืออด แต่ถ้าคำว่าจาคะมันพ้นจากคำว่าอดทน แสดงว่าเราไปเอาตัวจาคะมาหลอกเฉยๆ ซึ่งไม่ใช่ตัวจาคะจริงๆ เราแค่อดทนไว้


ถ้าเรามีปัญหาแล้วไปถามครูบาอาจารย์ จะเป็นว่าเราฟ้องไหม?


ถ้าเราคิดอย่างนี้แสดงว่าเราถูกดูครูบาอาจารย์ เราต้องใช้คำว่าปรึกษาครูบาอาจารย์


ถ้าเราฟ้อง จะเป็นฐานจิตตัวไหน?


ทำไมเกิดปัญหา ทำไมไม่บอกเราตรงๆ ต้องไปบอกอากงแล้วให้อากงมาต่อว่าเรา ก็จะดูว่าจะกลายเป็นฟ้อง



ฐานจิตตัวไหนถึงคิดว่าเป็นการฟ้องครูบาอาจารย์?


ตัวนี้เป็นฐานจิตมิจฉา เพราะคุณไม่ยอมเป็นกลาง เป็นอคติ


หมายความว่า "ฟ้อง" แสดงว่า "เราดีแต่เขาไม่ดี" เพราะไม่ทันไรเราก็ยกตัวเองว่าดีแล้ว แสดงว่าเราไม่เป็นกลางแล้ว เพราะยังไม่รู้ว่าใครผิดใครถูก เราคิดไปก่อนแล้วว่าเราถูก เขาผิด


ฉะนั้น เราควรใช้คำว่า "บอกกล่าว" ถ้าใช้คำว่าปรึกษา แสดงว่าเราสูงกว่าครูบาอาจารย์


อย่างนี้ถ้าพิจารณาโดยทั่วไป เราจะคิดว่าฐานจิตของเราดี เพราะหวังดี ไม่ใช่ร้าย แต่ความร้ายซ่อนอยู่ข้างในคือ "อคติ" ก็จะเกิดการขัดขวางกุศล เพราะถ้าเราไม่บอกเขา เท่ากับเราก็จะเสียกุศล แต่ถ้าเราไปบอกเขาเราก็จะได้กุศล ได้ปัญญาไปด้วย


ถ้าเราไม่บอกเราก็ไม่ได้กุศล คุณไม่ได้บอก ไม่ได้รับฟังว่าคุณผิดยังไง แต่ถ้าหากว่าคุณบอก ครูบาอาจารย์ก็จะบอกว่าเขาผิดยังไง ถูกยังไง เราก็จะมีปัญญาขึ้น ก็จะได้กุศล และจะไปบอกเจ้าตัวไม่ได้ ต้องมาบอกครูบาอาจารย์ ก็จะทำให้เราเก่งขึ้นเรื่อยๆ


ถ้าหากคิดว่า จะบอกไปยังไง ตัวเราก็ผิดอยู่แล้ว แสดงว่าเป็นยังไง?


ถ้าหากคิดอย่างนี้ ก็อคติเหมือนกัน เพราะคุณเก่งเกินไป คุณอยู่ดีๆ สรุปว่าคุณผิดแล้ว ตัวเองผิดแล้ว แล้วคุณรู้ได้ยังไงว่าตัวเองผิด คุณก็อหังการ สรุปไปเองเหมือนกัน


มันมี "ดำ" (-) "ขาว" (+) และ "กลาง" ตัวกลางต้องตั้งด้วยสติสัมปชัญญะ


วิธีแก้ตัวขี้เต๊ะ เราต้องมีตัวอ่อนน้อมถ่อมตน เราจะถือว่าเราเก่งแล้วก็เต๊ะ


เราต้องอ่อนน้อมถ่อมตน เราต้องคิดว่า คนที่เก่งกว่าเราก็มีเยอะแยะ เราจะไปเก่งเหนือฟ้าได้ยังไง คนที่เก่งเขาไม่อวด ไม่คุย เขานิ่งๆ ก็เยอะนะ ฉะนั้น เราต้องอ่อนน้อมถ่อมตน


เราอ่อนน้อมถ่อมตนได้ประโยชน์ไหม? ก็ย่อมได้


มีความเห็นอกเห็นใจกัน เชื่อถือกัน เอ็นดูกัน มีโอกาสเรียนรู้วิชาซึ่งกันและกัน เผื่อเขามีอะไรดีก็มาสอนเรา เรามีอะไรดีก็สอนเขา ถ้าเราอวด ใครๆ ก็ปิดกั้นเรา


ถ้าเราคิดว่าเราเป็นคนอ่อนน้อมอยู่แล้วล่ะ?


ถ้าเราคิดเอาก็ผิด เพราะคิดเราคิดเอาจะเป็นอุปโลกน์ มั่วทั้งนั้น ตอแหล เราต้องให้คนอื่นบอก ถ้าจะคิดเอาเองไม่ได้ ถ้าเราคิดเอาเองแสดงว่าเรา หมายมั่นสำคัญตนเองผิดแล้ว คนเราเข้าข้างตัวเองทั้งนั้น




๓. ขี้อวด คือ เราอวดจะต้องดูฐานจิต เช่น เราทำดีมาแล้วเราอยากจะบอกกล่าวความดี สิ่งนี้เป็นความดี ไม่ใช่ไปอวดเขา แต่ใช้บอกกล่าวความดี ทำไมต้องไปใช้คำว่าอวด เช่น สิ่งนี้กินเกิน ๓ กระป๋องไม่ได้นะ นี่เป็นการบอกกล่าว แต่ถ้าอวดก็จะเป็นการบอกกล่าวอีกอย่างหนึ่ง เอ็งกิน ๓ กระป๋อง เดี๋ยวจะต้องตายอย่างนั้นอย่างนี้นะ




๔. เขาไม่ฟังมึงยัวะ


๕. มึงไม่ใหญ่ไม่ยอม


๖. กูต้องเหนือกว่าสิ คือ สำคัญตนผิด เราจะคิดว่า เราเชี่ยวชาญมาอย่างนี้ ต้องทำได้ดีกว่า เก่งกว่า คุณต้องให้ความเคารพ ต้องนับถือ นี่แหละ สำคัญตนผิด


บางครั้งเรารู้ แต่อีกคนหนึ่งเขาไม่เคยทำมาก่อน แต่เขามีภูมิรู้ก็ได้ ฉะนั้น เราอย่าไปมองข้ามทั้งหมด


ถ้าเราเห็นว่าเขาไม่รู้แล้วเราสอนเขาล่ะ?


เราต้องพิจารณาวิบาก ๗ ด้วย เช่น


๑) เขาขอให้เราสอนไหม ถ้าเขาไม่ได้ขอแล้วเราไปสอนก็กลายเป็นเสือก
๒) เราพิจารณาบุคคลไหม บางคนไม่อยากให้เราสอน


สมมติว่า เขาทำงานไม่เป็น เขาก็ไม่ขอให้เราสอนล่ะ?


ถ้าเขาไม่ขอเราต้องบอกเขา ต้องถามเขา ต้องใช้ปัญญา สมมติว่า ทำงานด้วย เราก็ถามว่า เราทำอย่างนี้เป็นไหม? เข้าใจไหม? ถ้าเขาบอกว่าเข้าใจ ก็ย้อนถามเขาว่า เข้าใจว่ายังไง เช่นใด แต่ถ้าหากว่าเขาพูดผิด เราก็บอกเขาว่าเป็นอย่างนี้ๆ นะ ถ้าเขาบอกว่าไม่ใช่และไม่เชื่อ อย่างนี้เข้าหาผู้ใหญ่ เพราะว่าถ้าเขาทำไปเดี๋ยวก็ทำเสีย ทำให้งานเสียหมด


นี่แหละ ต้องเรียนรู้วิธีการ ถ้าเราไม่มีศาสตร์ เราก็ทำพลาดอยู่เรื่อยๆ บางครั้งหวังดีแต่เราไม่มีศาสตร์ก็กลายเป็นหวังร้าย วุ่นวาย เช่น เราหวังดีต่อเขาแต่เราไม่มีศาสตร์ไปพูดให้เขา เขายัวะ ทะเลาะกัน กลายเป็นตีกัน


๗. กูสำคัญผิดก็เรื่องของกู


ถ้าหัวใจเราหมั่นแก้ไขทั้ง ๗ ข้อนี้ ให้เจริญขึ้น ภูมิเราไม่มีวันตก มีแต่เจริญขึ้น


จึงถามใจตัวเองว่า เราอยากจะเจริญขึ้น หรืออยากทรง



ถ้าอยากทรง รู้บ้างไม่รู้บ้าง
แต่ถ้าไม่ทำก็จะภูมิตก
แต่ถ้าทำภูมิจะขึ้น เจริญขึ้น ชีวิตดีขึ้น   




 6,422 

  ความคิดเห็น


RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย