แรงกรรมอดีต สืบเนื่อง เป็นมาอย่างไร


แรงกรรมอดีต สืบเนื่อง เป็นมาอย่างไร

แรงกรรม ก็คือ เราได้สร้างเหตุแห่งวิบากไว้ จึงถูกจองเวร ผูกด้วยความแค้น อาฆาต พยายาท ที่จะเอาคืนให้ได้

ทำไมเราถึงโดนจองเวร? นั่นเป็นเพราะว่า เราได้ไปเบียดเบียนเขา ทำร้ายเขา ให้เขาได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อน เขาจึงไม่พอใจ อยากจะเอาคืน

แรงกรรมนี้ ไม่ขึ้นอยู่กับอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต แต่ขึ้นอยู่กับเหตุและผล เหตุ-ผลนี้เป็นได้ทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคต เราสร้างเหตุปุ๊บ ก็จะเกิดผลปั้บเลย เพียงแต่ว่าผลนั้นจะมากจะน้อย จะให้เร็วหรือช้า ก็ขึ้นอยู่กับที่เราได้สร้างเหตุนั้นไว้อย่างไร ตามเหตุปัจจัย

ยกตัวอย่าง เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว นายสมชายไปกู้ยืมเงินจากนายสมพงษ์ มาปัจจุบันนี้นายสมชายนึกขึ้นได้ ได้นำเงินไปคืนนายสมพงษ์ นายสมพงษ์ก็ไม่เอาเรื่องนายสมชาย

ทั้งๆ เหตุการณ์นี้ผ่านไปตั้ง ๑๐ ปีผ่านมาแล้ว เป็นอดีต แต่ ณ ปัจจุบันนี้นายสมชายได้นำเงินมาคืนให้หมด จึงไม่เป็นหนี้สินกัน เพราะสัญญานี้ได้ยกเลิกไปแล้วด้วยนายสมพงษ์

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ฉันใด การแก้กรรมก็ฉันนัั้น เหมือนกัน

นายสมชาย ได้ด่าทอต่างๆ นานา ให้นายสมพงษ์เจ็บอกเจ็บใจ แต่กาลเวลาผ่านไป ๑ สัปดาห์ นายสมชายได้ไปฟังพระเทศน์เกิดจิตสำนึกว่าสิ่งที่ทำไปนั้นมันไม่ดี จึงไปขอขมาต่อนายสมพงษ์ นายสมพงษ์เห็นว่านายสมชายเกิดจิตสำนึกแล้ว และจะไม่ด่าทออีก นายสมพงษ์จึงยกโทษให้แก่นายสมชาย ซึ่งเราเรียกว่า อโหสิกรรม แปลว่า ไม่เอาเรื่องต่อกัน

ทั้งๆ เรื่องนั้นเป็นอดีตผ่านไปแล้วตั้ง ๑ สัปดาห์

จะเห็นได้ว่า อดีตเราไม่สามารถที่จะไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงมันได้ แต่เหตุวิบากของอดีตจะมาสืบเนื่องถึงปัจจุบันนี้ได้ ฉะนั้น เราต้องมาแก้ไขเหตุวิบาก ณ กาลปัจจุบัน สิ่งที่เป็นเหตุวิบากอดีตที่ส่งต่อมา ณ ปัจจุบันนี้ ก็จะไม่ส่งผล ด้วยการอโหสิกรรม คือ การไม่เอาเรื่องต่อกัน ให้แล้วต่อกันไป ไม่ถือสาหาความกัน

ฉะนั้น การแก้กรรม ไม่ใช่ไปแก้ไขที่อดีต แต่แก้ไขปัจจุบัน สิ่งที่เป็นเหตุในอดีตสืบเนื่องปัจจุบันก็จะไม่ส่งผลได้ แต่วิบากกรรมอดีตที่เราไปเคยก่อไว้ก็ยังคงบันทึกเก็บเหตุการณ์ไว้เสมอ คล้ายๆกับว่า บันทึกจดหมายเหตุไว้เป็นประวัติศาสตร์ของเราที่เคยมีเรื่องราวต่อกัน

ฉะนั้น "กรรม" เราแก้ไขได้ แก้ไขที่ "เหตุแห่งวิบาก" ไม่ใช่ไปแก้ไขที่ผลแห่งวิบาก

คำว่า "แก้ไขที่เหตุแห่งวิบาก" หมายความว่า เราเคยไปด่าเขา การด่านี่แหละเป็น "เหตุวิบาก" ณ กาลปัจจุบันนี้เราสำนึกต่อการด่าว่าเป็นสิ่งไม่ดี ไม่ควรทำ เราไปขอขมาต่อเจ้ากรรม และจะไม่ทำพฤติกรรมเช่นนี้อีกต่อไป ด้วยการพูดสิ่งที่เป็นปิยวาจาต่อกัน นี่แหละ เราแก้ไขที่ "เหตุแห่งวิบาก"

คำว่า "ไม่ใช่ไปแก้ไขที่ผลแห่งวิบาก" หมายความว่า เราเคยไปด่าเขาแล้ว แล้วขอสำนึกผิด ไปขอขมาเขา เขาก็ให้อโหสิกรรมต่อเราแล้ว ไม่เอาเรื่องเอาราวต่อเราแล้ว แต่เราจะบอกว่าเราไม่เคยไปด่าเขา อย่างนี้ไม่ได้ หรือจะบอกว่าอดีตเราไม่เคยด่าเขา ยังนี้ก็ไม่ได้ เพราะมันปรากฏเป็นผลออกมาแล้ว

แต่เราจะใช้คำว่า เราเคยด่าเขา แต่ปัจจุบันเขาไม่เอาเรื่องเราแล้ว อย่างนี้ได้ เรียกว่า "อโหสิกรรม"

7,542







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย