"ขันธ์ ๕" เส้นทางศึกษาจากตัวเรา ไปสู่ความเป็นอรหันต์ได้


<
"ขันธ์ ๕" เส้นทางศึกษาจากตัวเรา ไปสู่ความเป็นอรหันต์ได้

ขันธ์ แปลว่า กอง หมายถึง ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ มาประชุมรวมกันเป็นกอง แบ่งออกเป็น ๕ กอง (the Five Groups of Existence; Five Aggregates) ทุกสิ่งที่เป็นขันธ์ ถือว่าขันธ์เป็นเช่นนี้ พระพุทธเจ้าพยายามจะแสดงให้เห็นว่าเราจะยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ ไม่ได้


๑. รูป คือ ร่างกาย (corporeality) สิ่งที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ เป็นสสาร เป็นพลังงาน

ขันธ์ ๕ นี้ไม่ใช่ว่าไม่มี แต่ว่ามี แต่ว่าเราจะยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นเช่นนั้นตลอดไม่ได้ ต้องแปรเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัย นี่คือหัวใจ

สมัยพุทธกาล ขาดตัวหัวใจข้างหลัง คือ "ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้" ต้องแปรเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัย

คนสมัยนั้นจึงพยายามยึดมั่นถือมั่น จึงต้องทำพิธีนี้ทำพิธีนั้น หรือแม้แต่ต้องบวงสรวงบูชานั้นบูชานี้ เพื่อให้มั่น

แต่คน ณ ปัจจุบัน ก็ไม่ได้ยึดมั่นอะไรมาก แต่อาการยึดมั่นนี้ แสดงออกยังไง?

เราไม่ยึดมั่นถือมั่นได้ยังไง แล้วทำไมเราต้องมีการเสียหน้าด้วยล่ะ

การเสียหน้า ก็คือการยึดมั่นอย่างหนึ่ง เราไม่มีตัวยึดแล้วเราจะมีทิฏฐิไหม? นี่แหละ เราไม่เข้าใจขันธ์ทั้ง ๕ เรามีทิฏฐิ เลยไปคิดว่าเราไม่ได้ไปยึดมั่นถือมั่น ตัวยึด....นั่นแหละ ก็คือทิฏฐิ คือ ความคิดของตัว นี่แหละเส้นผมบังภูเขาไหม?

ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ร้องอ๋อ..!! เข้าใจขึ้นมาก็เพราะว่า ได้ชักเส้นผมบังภูเขาออก จึงเห็นข้อเท็จจริง ถ้าไม่อย่างนั้นก็ถูกเส้นผมบังภูเขานิดเดียว

ตัวเองถือทิฏฐิก็คิดว่าตัวเองไม่ได้ยึดอะไร เพราะว่าไปถือทิฏฐิว่าไม่ได้ยึดอะไร จึงเป็นทิฏฐิ นี่แหละ เส้นผมบังภูเขาไหม?

อันนี้ฟังดูเหมือนง่าย แต่ผู้ที่จะถึงตรงนี้ จะต้องมีภูมิ ปัญญา ประสบการณ์ หรืออุทธาหรณ์ จึงจะผ่านด่านตรงนี้ เพราะตรงนี้เป็นด่านที่ละเอียด ซ่อนเงื่อน เนียบเนียน ปราณีต

บางครั้งต้องอาศัยทักษะเข้ามาช่วย บางครั้งต้องอาศัยกาลเวลา ให้ไปเจออุทธาหรณ์จึงจะร้องอ๋อ...ได้ ทำไมคนทั่วไปก็รู้ว่าขันธ์ ๕ คืออะไร สุดท้ายก็ต้องมาฟังพระพุทธเจ้าอธิบายอย่างลึกซึ้ง ให้เข้าใจได้ เพราะว่าพระพุทธเจ้าอธิบายนี้ลึกซึ้งกว่ารูป

รูปคืออะไร?

ที่ว่าลึกซึ้งก็คือเรายึดมั่นยังไง แล้วเราจะปล่อยวางยังไง? ให้ครบถ้วน

เมื่อก่อน เราเอาแต่รู้ว่ารูปคืออะไร? แล้วก็รู้ว่ายึดเป็นยังไง? แต่จะปล่อยวางไม่มีวิธีที่จะปล่อยวาง


๒. เวทนา คือ ความรู้สึก เสวยอารมณ์ (feeling; sensation) ได้แก่ สุข ทุกข์ และไม่สุขไม่ทุกข์ (เฉยๆ)

เวทนา คือ ถ้าเราเกิดความรู้สึกเจ็บปวด แล้วเราจะปล่อยวางยังไง?

ความเจ็บปวด ก็เป็นรูปชนิดหนึ่ง ในนามมีรูป ในรูปมีนาม ความเจ็บก็เป็นรูปชนิดหนึ่ง เป็นรูปลักษณะแห่งการเจ็บ การปวด

เมื่อเราโดนหยิก "ความรู้สึกเจ็บ" นั่นแหละ เป็นรูป

จะไม่ให้เกิดความเจ็บได้ไง ก็ในเมื่อมันโดนทำให้เจ็บปวด

เจ็บก็จริง แต่เราจะยึดมั่นถือมั่นว่าตรงนั้นเจ็บตลอดไปไหม?

ก็ไม่ตลอด

ถ้าไม่ตลอด เราก็ไม่เก็บความแค้นไว้ในใจ ไม่ใช่เหรอ?

เพราะตรงนี้เราเจ็บใจ จึงเก็บความแค้นไว้ นั่นแหละเราไม่ปล่อยวาง แต่ความเจ็บนั้นหมดไปนานแล้วนะ

ความเจ็บตรงนั้นมันหมดไปแล้ว แต่เราดันไปเก็บความเจ็บตรงนั้นไว้

ผัวเมียที่เคยทะเลาะ เบาะแว้งกัน เลิกลากันไป แต่ยังเก็บบุญคุณความแค้น อาฆาต พยาบาทอยู่ตรงนั้น ที่จริงมันผ่านไปแล้ว มันอนิจจังไปแล้ว แต่เรายังมาเก็บความแค้นอยู่ เราก็ปวดหัวกับมัน

นี่แหละคนไปเข้าใจผิด เส้นผมบังภูเขา

ขันธ์ ๕ มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มีความสำคัญขนาดนี้ ทำให้บรรลุพระอรหันต์ได้

ขันธ์ ๕ นี้สำคัญ เพราะว่า สิ่งเหล่านี้ทำให้เราไปจมปลักได้ เพราะเราไปติดใจกับเวทนา และจมปลักกับเวทนา ตรงนี้ก็จะเป็นทาสของเราแล้วก็จะบงการเราตลอด

เราโดนตบหน้า เราก็จะหมายมั่นเจ็บแค้นตลอด ทำไมถึงทำกับฉันได้

ผัวเมียที่เคยทะเลาะกันคิดว่า เมื่อก่อนเคยเทิดทูน แต่มาตอนนี้ทำไมถึงทำกับฉันได้ จึงเกิดความแค้น

เวทนา ก็เป็นรูปอย่างหนึ่ง แล้วเราก็เก็บความรู้สึกนั้นไว้ ในนามมีรูป ในรูปมีนาม


๓. สัญญา คือ จำได้หมายรู้ (perception) ความจำ

แล้วเวทนากับสัญญา มันแตกต่างกันตรงไหน?

เกิดความเจ็บ เราจึงเกิดสัญญาขึ้น มีสัญญาจำว่าเจ็บ มีสัญญาจำว่าสุข ฯลฯ สัญญานี้จะจำเวทนาไว้

ถามว่า ก็ในเมื่อเป็นธรรมชาติของคนเราจะต้องมีสัญญา คือ ความจำสิ่งต่างๆ แล้วเราจะทำอย่างไร?

ตอบว่า แล้วเราจำ แต่ว่า!! เราถูกบงการไหมล่ะ? ฉะนั้น เราจำ แต่อย่าไปถูกบงการ เหมือนกับพระอรหันต์ ท่านก็จำ เจ็บก็ได้ ดีก็ได้ แต่ท่านไม่ถูกบงการ

ยกตัวอย่าง เวลานี้เราเจ็บ แล้วก็จำสิ่งที่เจ็บนั้นไว้ แล้วก็ถูกบงการให้แค้น แล้วจะไปเอาคืน แต่ถ้าเราไม่ถูกบงการ ถ้าเราเจ็บ ก็คือ เจ็บ มันก็จบ แต่ถ้าเราถึงย้อนกลับไปอีกเมื่อ ๓ ปีที่แล้ว เราเคยเจ็บ อย่างนี้ก็นึกได้ พอนึกได้แล้วก็จบ ก็แค่นั้น เพราะเราไม่ไปแค้น ไม่ถูกบงการ

พระอรหันต์มีกิเลสทุกอย่าง แต่ท่านไม่ถูกบงการ ไม่ใช่ว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว ลืมไปหมดแล้ว ไม่มีแล้ว อย่างนี้ไม่ใช่ ทุกอย่างท่านมี แต่ท่านไม่ถูกสิ่งนั้นบงการแล้ว

นี่แหละ พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เข้าใจถึงจุดตรงนี้ จึงทำให้หลุดพ้นเป็นพระอรหันต์

หลุดออกจากบงการ หลุดออกจากการครอบงำ หลุดออกจากการเป็นทาส

ถ้าหากว่าความทรงจำ เกิดอารมณ์เวทนาขึ้นมา แล้วอารมณ์นั้นเป็นกลางๆ ไหมล่ะ? แล้วเราจะถูกบงการไปทางไหนสิ เช่น บงการเจ็บ จะแก้แค้น บงการรัก แล้วเราอยากได้อีก โหยหา

ขันธ์ ๕ สำคัญที่สุด เพราะว่าเป็นตัวตั้งแห่งตัณหากิเลสทั้งหลาย ทุกคนต้องมาเรียนตรงนี้ บุคคลจะเข้าสู่ความเป็นพระอรหันต์ หรือเข้าสู่นิพพาน ก็ต้องเรียนขันธ์ ๕ นี้ ต้องทำความเข้าใจขันธ์ ๕ เพราะสิ่งที่จะต้องเรียนทั้งหมดก็มีอยู่แค่นี้แหละ

เพราะว่าขันธ์ ๕ นี้นักและเป็นที่ตั้งแห่งกองทุกข์ กองสุข เป็นกองแห่งกิเลสตัณหา

รักก็คือตัณหา (craving for sensual pleasure) เกลียดไม่ชอบก็คือตัณหา (craving for non-existence) แม้แต่เฉยๆ ก็คือตัณหา (craving for existence) เบื่อก็คือตัณหา ตรงกลางทำเป็นซังกะตาย นี่จึงเป็นที่มาของคำว่า "ซึมเศร้า"

ภาวะซึมเศร้า (Depression) เป็นภาวะที่อยู่ตรงกลาง เพราะว่าไม่รู้จักทำอะไร รักก็ไม่ใช่ เกลียดก็ไม่ใช่ เลยกลายเป็นว่า ตัวเองเฉยๆ หายใจไปวันๆ กลางๆ แบบมิจฉา ทั้ง ๓ ตัวเป็นมิจฉา ทั้งรัก ทั้งชัง และกลางๆ เป็นมิจฉา

อุเบกขา แปลว่า กลางๆ แปลอย่างนี้ไม่ถูกต้อง

อุเบกขา แปลว่า รู้ตามภาวะธรรม แล้วไม่เหนี่ยวรั้งให้อยู่กับภาวะธรรมนั้น เข้าถึงภาวะธรรม และไปตามภาวะธรรมนั้นๆ เข้าใจธรรม เป็นไปตามภาวะแห่งธรรม ยอมรับความจริงแห่งธรรม นั่นแหละ คืออุเบกขา

ถ้าอุเบกขา แปลว่า วางเฉย ก็ไม่ถูกต้อง ถ้าอย่างนั้นก้อนหินก็เป็นอุเบกขาไปหมดแล้ว

ยกตัวอย่าง สมมติว่า ลูกศิษย์ไปขโมยของคนอื่นเขา แล้วครูบาอาจารย์ลงโทษเฆี่ยนตี อย่างนี้ไม่ใช่อุเบกขาใช่ไหม? อย่างนี้เป็นไปตามภาวะธรรมใช่ไหม?

เด็กทำเช่นนี้ แล้วลงโทษเขา นั่นแหละเป็นอุเบกขาแล้ว ถ้าเด็กคนนี้สมควรลงโทษ แล้วเราไม่ลงโทษเขา นี่แสดงว่าเราไม่มีอุเบกขา เพราะเราจะเป็นอคติแล้ว

คนนี้เราช่วยอย่างเต็มที่แล้ว ไม่ได้ เราจะไปทู่ซี้ให้ได้ ตามภาวะธรรมมันไม่ได้ แล้วมันก็ไม่ได้ แล้วเราจะไปทู่ซี้มันทำไม เราปล่อยมันไปตามภาวะธรรม นั่นแหละ อุเบกขา แต่ถ้าเขาทำได้แล้วเราสนับสนุน อันนี้ก็เป็นอุเบกขาเช่นกัน เป็นการยอมรับความจริง

สรุป อุเบกขา ก็คือ เป็นการยอมความจริงแห่งภาวะธรรมนั้นๆ

ถ้าอย่างนั้น "กรุณา" ไปไหนล่ะ? อย่างนี้ต้องมีความแตกต่างกันระหว่าง อุเบกขากับกรุณา

ถ้าเรามีความกรุณา แล้วเราเคยนำมาตรวจสอบไหมว่าเรามีกรุณาไหม? ภาวะธรรมนัั้น กรุณาไหม? ถ้าภาวะธรรมนั้นมีกรุณา แล้วเราฝืนภาวะธรรมนั้นไหม?

นี่แหละ ถ้ามีเมตตา แต่ขาดปัญญา นี่แหละเราจะถูกเมตตาเล่นงานเอา

ถ้าเราอยากจะเข้าใจภาวะธรรมนี้ จะต้องทำยังไง?

เราก็ต้องอย่าหนีความจริงอริยสัจจ์ คือ ความจริงแห่งอริยสัจจ์ เราสู้ความจริงไม่ได้ เราไม่มีทางชนะ เราจะต้องยอมในความเป็นอริยสัจจ์แห่งภาวะนั้ันๆ แล้วบริหาร


๔. สังขาร คือ เครื่องปรุงแต่งจิต (mental formations; volitional activities) สิ่งที่มาปรุงแต่งจิตให้จิตดีหรือจิตชั่ว เช่น เมตตา ปัญญา ศรัทธา โลภะ โทสะ

สังขาร คือ การปรุงแต่ง มี ๓ อย่าง

๑. สังขารแบบอินทรีย์ร่างกาย อันนี้จะเป็นรูปสังขาร เป็นรูปอินทรีย์ ร่างกาย เนื้อของเรานี่แหละ

ร่างกายของเรา ตรงนี้เป็นเนื้อ ตรงนี้เป็นกระดูก เส้นเอ็น เลือด ร่างกายนี้ปรุงแต่ง เป็นของจริงที่ว่าเป็นของจริง เป็นอัตตาที่เรามีอยู่ แต่เรายึดมั่นถือมั่นไม่ได้ ไม่นานก็แตกสลาย

อย่างนี้แหละเรียกว่าปรุงแต่งอยู่แล้ว ถ้าไม่ปรุงแต่งก็คงไม่แตกสลายสิ ต้องเข้าใจนะ มันไม่สามารถจะเป็นสิ่งยั่งยืน สิ่งเหล่านั้นเป็นการปรุงแต่งทั้งนั้น

๒. สังขารที่เป็นรูปการณ์ สังขารแห่งการปรุงแต่ง เช่น ความคิดนี่ก็เป็นสังขาร คือ ออกมาเป็นรูปแบบแล้ว ปรุงแต่งทางความคิด

ยกตัวอย่าง คิดว่าผู้หญิงคนนี้จะต้องสวยงาม ผู้หญิงคนนี้จะต้องเข้มแข็ง หรือจะต้องมีกล้ามเนื้อที่สวยงาม นี่แหละปรุงแต่งแล้ว

๓. สังขารเจตนา ความหวัง เช่น เราหวังว่าประเทศเราจะต้องเข้มแข็ง นี่แหละเป็นรูปร่างขึ้นมา สรุป ก็คือ เป็นรูปธรรมปรากฏออกมาให้เขาเห็นเป็นจินตะได้

ยกตัวอย่าง เช่น เวลานี้เรากำลังก่อสร้างบ้านอยู่ สร้างเสร็จและก็ออกมาเป็นตัวบ้านที่สวยงามน่าอยู่อาศัย

ข้อที่ ๓ นี้ไม่ตรงกับข้อที่ ๒ เหรอ?

ไม่ตรงกัน เป็นคนละเรื่องกัน

อันนี้ปรุงให้ออกมาเป็นรูป เป็นรูปที่ออกมาจากข้างนอก ซึ่งบ้านไม่เกี่ยวอะไรกับร่างกายเรา

เวลานี้ท้องเราพอง เราอยากท้องแพบไหม? อยากจะต้องแพบ อันนี้เป็นข้อที่ ๒ อันนี้แหละเป็นความคิดว่ารูปร่างของเราจะต้องเป็นอย่างนี้ อย่างนี้ถึงจะสวย

ส่วนข้อที่ ๓ เป็นบ้าน เป็นข้างนอกร่างกายเรา มีรูป มีบ้าน มีต้นไม้ ของเล่น บรรยากาศ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ไม่ใช่เป็นในร่างกายเรา

ในส่วนของร่างกายเรามี ๒ ส่วนคือ อินทรีย์ กับความคิด

ส่วนข้อที่ ๓ เอาความคิดของเราไปทำข้างนอก แล้วให้ออกมาเป็นรูปธรรม เช่น สร้างตึกสูงๆ ๕๐๐ ชั้น ๒๐๐ ชั้น อย่างนี้เป็นต้น

ทำไมต้องแยกข้อที่ ๒ ออกมาเป็นข้อ ๓ ด้วย?

ต้องแยกให้ชัดเจนว่า แยกออกมาจากร่างกาย จากอินทรีย์ของเรา เป็นสิ่งแวดล้อมแล้ว


๕. วิญญาณ คือ รู้แจ้งในอารมณ์ (consciousness)

วิญญาณ คือ เป็นรูปลักษณ์แสดงออกให้ฝ่ายตรงข้ามให้รับรู้ว่าเป็นอะไร

สิ่งที่พระพุทธเจ้าอธิบายเกี่ยวกับวิญญาณนี้เหนือกว่าสมัยพุทธกาล คือ สิ่งที่เราให้เขารู้ว่าเป็นก้อนหิน แข็งแกร่ง ไม่มีทางจะเปลี่ยนแปลง แต่พระพุทธเจ้าบอกว่า ไม่ใช่อย่างนั้น เขาเสื่อมทุกเวลา เพราะกฎแห่งอนิจจัง ก็จะเจอลม เจอน้ำ ฯลฯ จะทำให้สลายไปเรื่อยๆ ก้อนหิน ๑ ก้อน ถ้าเราปล่อยไว้ ไม่ถึง ๑๐๐ ปี ก็หมดไปแล้ว มันย่อยสลายไปตามกฎอนิจจัง

แล้ววิญญาณมันมาเกี่ยวกับร่างกายของเรายังไง?

วิญญาณเป็นรูปร่าง ไม่ใช่จิตนะ เราต้องเข้าใจอย่างนี้

วิญญาณคือ แสดงออกว่า เราเป็นเช่นนี้ เรียกว่า มนุษย์ สัตว์สี่เท้า ชอบเห่า เราเรียกว่า หมา เป็นรูปให้เขาเห็นว่าเป็นหมา

หมานี้ก็ต้องเน่า ไม่เที่ยง ก็ต้องแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ก็ต้องแก่ชรา วิญญาณก็ต้องเสื่อม

ความรู้ตัววิญญาณ ก็คือ จิตไง เราต้องแยก ถึงจะรับรู้ทุกตัวได้

วิญญาณนี้จะแสดงรูปลักษณ์ไปตามภาวะธรรม เช่น เป็นป่าละเมาะ มีรูปเสา มีความเงียบเหงาเหมือนเมืองผี เราจึงเรียกสถานที่แห่งนั้นว่า แพะเมืองผี อยู่จังหวัดแพร่ ที่จริงเป็นก้อนหิน

รูปลักษณ์ภูเขาเช่นนี้ เรียกว่า ดอยอินทนนท์ สภาพภูมิประเทศทั่วไปประกอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อน มีดอยอินทนนท์เป็นยอดเขาที่สูงที่สุด สูงจากระดับน้ำทะเล ๒,๕๖๕ เมตร

มีพื้นที่ที่มีทิวทัศน์งดงาม ได้แก่หิมะและภูเขาหิมะที่มียอดปกคลุมด้วยน้ำแข็ง ป่าและทุ่งหญ้าที่บริสุทธิ์ แม่น้ำและทะเลสาบที่ใสสะอาด และหุบเขาหินแดง ภูมิทัศน์เหล่านี้ตัดกันกับภูมิทัศน์ของทะเลทรายอันกว้างใหญ่ที่อยู่ติดกัน ก่อให้เกิดภาพตรงกันข้ามของสภาพแวดล้อมของความร้อนและความหนาว ความแห้งและความเปียก ความเปล่าเปลี่ยวและความอุดมสมบูรณ์ สภาพเช่นนี้เรียกว่า เทียนชานในซินเจียง (天山) (จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)

รูปลักษณ์เช่นนี้ เขาเรียกว่า เป็นวิญญาณ

รูปวิญญาณ ก็คือสิ่งนั้นที่ประกอบเป็นรูปธรรมให้เราเห็น ให้เรารับรู้ได้

พระพุทธเจ้าให้มองขันธ์ ๕ คือ ธาตุสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกที่ปรากฏโดยธรรมชาตินี้ ย่อมแปรเปลี่ยนสลายไปตามเหตุปัจจัย นั่นแหละ คือ กฎแห่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ฉะนั้น สิ่งนั้นแปรเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัย เราไม่สามารถควบคุมให้เป็นเช่นนั้นตลอดเวลาได้ จึงทุกขัง ๆ ไม่สามารถคงทนได้

ทั้ง ๒ ตัวนี้ คือ อนิจจัง และทุกขัง จึงเป็นภาวะอนัตตา เราจะยึดมั่นถือมั่นเป็นอัตตา คงที่อยู่อย่างนั้นไม่ได้ เพราะว่ามี ๒ ตัวหน้าที่แปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา (อนิจจัง ทุกขัง) ถ้าไม่มี ๒ ตัวหน้านี้ก็จะเป็นอัตตาได้ เพราะว่าไม่แปรเปลี่ยน
ทำไมต้องแปรเปลี่ยนไปตามภาวะธรรม? ก็เพราะว่าธรรมก็ต้องขึ้นกับเหตุ

อะไรใหญ่กว่าธรรม ก็คือ "เหตุ" เหตุแห่งธรรม ใหญ่กว่าธรรม เพราะทำให้ธรรมเปลี่ยนไป

เพราะเปลี่ยนแปลง ธรรมจึงดำรงอยู่ได้ ถ้าไม่เปลี่ยนแปลง ธรรมก็ดำรงอยู่ได้ แต่ดำรงอยู่ตลอดไม่ได้ เพราะเหตุจะแปรเปลี่ยนไปตาม อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เช่น พระอาทิตย์ดำรงอยู่ได้กี่ล้านปีมาแล้วแต่สุดท้ายก็อยู่ไม่ได้ แต่ไม่ใช่ว่า ๒ วันนี้พระอาทิตย์แตกสลายแล้ว

อยู่ได้ ดำรงได้ แต่ยั่งยืนตลอดกาลไม่ได้ คือ ยั่งยืนถาวรตลอดไม่ได้ แต่แปรเปลี่ยนไปอยู่ตลอดได้ เช่น ก้อนหินใหญ่มาก แต่แปรเปลี่ยนเป็นก้อนหินเล็ก เขาก็เรียกว่าก้อนหินเหมือนกัน ดำรงถึงจุดหนึ่งก็ต้องเปลี่ยนแปลง

จุดเด่นของพระพุทธเจ้าที่อธิบายขันธ์ ๕ ก็คือ ทั้งหมดทั้งปวงเราจะไปยึดมั่นถือมั่นไม่ได้

ในสมัยครั้นพุทธกาล ขันธ์ ๕ ถือว่าเป็นอัตตา ถ้าถือว่าเป็นอัตตา ถือว่าไม่ได้ปรุงแต่ง ถือว่ามีเลย มีรูปสังขารอย่างนี้ อย่างนั้น ฯลฯ

แต่ที่พระพุทธเจ้าเหนือกว่าสมัยนั้นก็คือ พระพุทธเจ้าตรัสว่า อัตตาเหล่านั้นเพราะว่ามาผสม มาปรุงแต่งให้เป็น แต่เดี๋ยวเหตุเปลี่ยน สิ่งนั้นก็ต้องเปลี่ยนไป

ร่างกายปัจจุบันนี้ของเราจะยั่งยืนถาวรเป็นอย่างนี้เหรอ ไม่ใช่อย่างนี้ ถึงเวลาหนึ่งก็ต้องเสื่อม แก่ลง ตาย เน่า สลายไป นี่คือพระพุทธเจ้าบอกว่า จะยึดมั่นถือมั่นไม่ได้

ส่วนทางด้านฤาษี ยึดมั่น ไม่อยากตาย ไม่อยากแก่ ฯลฯ

^_^ ..._/_... ^_^
ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกกล่าวมา

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต   




 11,272 

  ความคิดเห็น


RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย