ไตรสิกขา : สิ่งที่ควรศึกษาเรียนรู้อย่างยิ่ง


<
ไตรสิกขา : สิ่งที่ควรศึกษาเรียนรู้อย่างยิ่ง

ไตรสิกขา คือ ข้อที่จะต้องศึกษา เรียนรู้ ฝึกหัด อบรมกาย วาจา ใจ เพื่อให้เข้าถึงธรรม รู้แจ้งแห่งธรรม มีด้วยกัน ๓ ด้าน ดังนี้

๑. อธิปัญญาสิกขา คือ เรียนรู้ชีวิต ให้ชีวิตอยู่รอด และอยู่ได้ดี

ข้อศึกษาปฏิบัติ ฝึกหัด อบรมทางปัญญา เพื่อให้เกิดความรู้แจ้งถึงธรรม ในวิถีแห่งธรรม ผลแห่งธรรม กระบวนการต่างๆของธรรม เส้นทางถูกต้องของธรรม คือ รู้เท่าทันสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงในธรรม

พระพุทธเจ้าท่านทรงสั่งสอนอะไร? สอนปัญญาอะไร?

ปัญญาที่กล่าวมานี้ เป็นปัญญาที่พระพุทธเจ้าตั้งพระทัยอย่างแน่วแน่ที่จะมาสั่งสอน ท่านปวารณาอย่างแรงกล้า เพื่อที่จะเป็นสัมมาสัมพุทธะ เพื่อนำพาปัญญาที่กล่าวมานี้ เพราะทุกคนเกิดมาแล้ว มีชีวิตแล้ว อยู่ไม่ได้ดี แล้วบางคนก็อยู่ไม่รอดเลย บางคนอยู่รอดแต่ก็ไม่ได้ดี

พระพุทธเจ้าเกิดมาเพื่อเปลี่ยนชะตาให้กับสัตว์โลก สัตว์โลกที่มีชีวิต แต่ไปไม่รอด เพราะขาดอะไร?

เพราะขาดธรรมะ พระพุทธเจ้าจึงมาสอน สอนให้ปัญญา ให้มีธรรมะ เพื่อให้เรียนรู้ชีวิต ชีวิตให้รอด และดำเนินชีวิตให้ได้ดีด้วย

คนทั่วไปส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่า พระพุทธเจ้าจะชักนำแต่คนเข้าสู่นิพพาน และบางคนก็พยายามจะไปเผยแพร่ทางนี้ จนพวกฝรั่งเข้าใจผิด หาว่าพระพุทธเจ้านี่บ้า พาคนไปทุกข์ คนนี่ทุกข์เยอะ สอนให้คนทุกข์ สอนให้คนไม่เอา สอนให้คนละทิ้ง ซึ่งพระพุทธเจ้าไม่ได้เป็นอย่างที่ว่านี้ซะหน่อย

พระพุทธเจ้าสอนว่า "สิ่งที่ไม่ดี ควรทิ้งซะ แล้วสิ่งที่ดีควรทำเพิ่ม ควรทำ เพื่อให้ชีวิตอยู่รอด เพื่อให้ได้ดี สันติ" เหมือนกับขี้เป็นสิ่งที่ไม่ดีเราจะถ่ายออกไหม? หรือว่าเราจะเก็บขี้ไว้? หลายคนเวลานี้ไม่ยอมขี้ เพราะท้องผูก ขี้เราไม่ถ่ายออก ก็จะไปปั่นป่วนจิตใจ สิ่งเหล่านี้ก็เหมือนกันว่า ขี้ (สิ่งไม่ดี) ไม่ออก ขี้ (สิ่งไม่ดี) มันตันสมอง มีแต่ไปคิดทางลบ

ฉะนัั้น พระพุทธเจ้าท่านสอนเพียงเท่านี้ แต่วิธีก็แยบยลกันไป ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แต่จุดเป้าหมายสำคัญที่สุดคือ "เอาของที่ไม่ดีออก เอาของดีทำเพิ่มขึ้น" พอของดีเราทำเพิ่มก็จะเป็นอานิสงส์ที่จะทำให้ชีวิตของเราอยู่ได้อยู่ดี พออยู่ได้อยู่ดีก็จะขึ้นขั้นไปอีกคือ "สมบูรณ์" "สันติ"

๒. อธิจิตสิกขา คือ มองความคิดตัวเองและผู้อื่น จงเข้าใจ แล้วบริหาร

ข้อศึกษาปฏิบัติ ฝึกหัดทางจิตเพื่อให้จิตเกิดคุณธรรมที่ดี ไม่คล้อยตามสิ่งที่มายั่วยุให้เกิดการยึดติดในเวทนา ความรู้สึกสุขหรือทุกข์ คือ ตั้งใจก่อเกิดในขบวนการนั้น ความมีจิตใจตั้งมั่น

ไม่ว่าเราจะไปทางจิตเวช จิตวิทยา จิตศาสตร์ หรือจิตทางอภิธรรม ก็ต้องทำเช่นนี้

เราต้องเข้าใจตัวเอง ตัวเองก็ต้องเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจเราก็จะบริหารไม่ถูก ถ้าเรามองคนอื่นไม่ถูก เราก็บริหารไม่ถูก นี่แหละเป็นหัวใจเลย

เกี่ยวกับสมาธิ สมมติว่า พระพุทธเจ้าสอนให้เราอยู่ได้ อยู่ดี เราตักน้ำมาหนึ่งแก้วมาดื่ม เรามีสมาธิไหม? ถ้าไม่มีสมาธิ เราก็จะทำน้ำนี้หกหมด ฉะนัั้น สมาธิมันอยู่กับเราตลอดเวลา ตั้งแต่เกิดมาก็มีสมาธิแล้ว ที่นี้ เราจะใช้สมาธิให้เกิดประโยชน์อย่างไร? นี่แหละ พระพุทธเจ้าท่านก็สอนให้แล้ว ไม่ใช่ว่าเราเป็นพระภิกษุแล้วถึงจะไปใช้สมาธิได้ เราเป็นฆราวาสก็ต้องมีสมาธิ เราขี่รถก็ต้องมีสมาธิ เราขี่รถไม่มีสมาธิตายไหม? ไม่มียกเว้นว่า เป็นพระภิกษุแล้วมีสมาธิไม่ตาย แต่ถ้าเราขาดสมาธิเป็นพระภิกษุก็ตายได้เช่นกัน

ฉะนั้น ไม่ได้เกี่ยวว่าเป็นพระหรือไม่เป็นพระ ใครพร้อมก็มาแต่งเครื่องแบบซะ แล้วก็มาเรียน เรียนเพื่ออะไร? ก็เพื่อมาสอนคนอื่นต่อ คุณไม่พร้อม คุณก็ต้องทำมาหากิน แต่คุณต้องมีธรรมะนะครับ ไม่มีไม่รอด ไม่ว่าเป็นใคร ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ สุดท้ายถ้าขาดธรรมะก็กลายเป็นทรราชย์ไปเลย คนนี้เป็นยาจก เขามีธรรมะ กลายเป็นถูกยกขึ้นมาเป็นจักรพรรดิ นี่แหละ เพราะ ๒ คำนี้ "ไม่ดีเอาออก สิ่งดีทำเพิ่ม"

๓. ศีล คือ ข้อบัญญัติ ชี้แนะ แนะนำ หรือคำสั่งสอน ที่จะให้พึงดูแลความคิด ความประพฤติ ให้ถูกต้องตามครรลองครองธรรม เพื่อให้ชีวิตอยู่รอดได้ด้วยดี

ข้อศึกษาปฏิบัติ ฝึกหัดทางความประพฤติ ให้เป็นไปตามปกติแห่งธรรม คือ ความเป็นปกติในธรรม

นี่แหละ ไม่ต้องมาเถียงกันว่าจะต้องทำหรือไม่ทำ หากจะบอกว่า ฉันไม่ใช่พุทธ ฉันไม่ทำ ศีลนี้ไม่เกี่ยวกับพุทธหรือไม่พุทธ ศีลนี้ไม่ใช่ศีลของพุทธหรืออิสลาม หรือคริสต์ แต่เป็นศีลของธรรม เขาจึงเรียกว่า "ศีลธรรม" ถ้าความคิด ความประพฤติของเราไม่ดีก็ไปไม่รอด

^_^ ..._/_... ^_^
ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกกล่าวมา

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต   




 7,327 

  ความคิดเห็น


RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย