รู้ทันกรรม


"กรรม" แปลว่า "การกระทำ" กระทำได้ ๒ อย่าง คือ "กิริยา" กับ "นาม"

การที่เราจะรู้ทันกรรมได้นั้น เราต้องมาแยกแยะออกก่อนว่า กรรมนั้นเป็นประเภทไหน คือ

๑) กรรมกิริยา

๒) กรรมนาม เป็นผลแห่งกรรมแล้ว

๑. เราจะรู้ทันกรรมกิริยา คือ เราจะต้องมีสติสัมปชัญญะที่เหนือกว่า เราจึงเลือกว่าเราจะทำหรือไม่ทำ หรือว่าทำแล้วจะยุติลงได้ไหม? หรือจะทำเบาลงกว่านี้ นี่แหละเรียกว่า "รู้ทันกรรม"

คือรู้ว่ากรรมนี้จะนำพาเราไปสู่สิ่งที่ไม่ดี เราก็หยุดซะ ไม่ทำ

๒. กรรมนาม เป็นผลแห่งกรรมแล้ว สำเร็จไปแล้ว คือ เราก็ต้องหาวิธีชดเชย หาวิธีการแก้ไข ทำคุณไถ่โทษ หรือสำนึก หาคนที่อยู่ ณ ปัจจุบันนี้ที่เราเคยทำร้ายเขาไปสำนึกขอโทษเขา

"กรรมนาม" คือ ผล ผลที่ว่าสำเร็จแล้ว หมายถึง เราตีหัวเขาเจ็บแล้ว

ส่วน "กรรมกิริยา" คือ คิดว่าจะไปตีเขา จะตี ถ้าจะตีเขาถ้าเรารู้ทันกรรม เราก็จะยับยั้ง ยับยั้งแค่ว่าคิดจะตี อยู่ที่กิริยาว่ากำลังจะตี ยั้งแล้ว ผลก็จะแตกต่างกัน

เราต้องแยกกันก่อน ถ้าไม่แยกความคิดก็จะสับสนวุ่นวาย เช่น ตีเขาไปแล้ว แล้วจะบอกว่าแก้ได้หรือแก้ไม่ได้

กรรมที่เป็นกิริยากรรมก็แก้ไขได้ จะตีคนอื่น พอเรารู้ตัวเราก็ไม่ต้องตีลงไป หรือเวลาตีก็ตีเบาๆ ก็ได้ หรือว่าเราโมโหเขามากจะไปตบหน้าเขา พอเราคิดได้มีสติสัมปชัญญะก็ตบหน้าเขาเบาๆ ก็กลายเป็นน่ารัก ก็จะไม่มีเรื่องอะไร แต่ถ้าตบหน้าเขาอย่างแรง เพี้ย!!! อย่างแรง

แต่ถ้ากรรมที่เป็นผล ก็คือได้ทำลงไปแล้ว เรียบร้อยไปแล้ว

วิธีการแก้ไขกรรมก็แตกต่างกัน

เราก็ต้องไปยอมรับผิด สำนึก ขอขมา ขอให้เขาอโหสิกรรมให้ เราก็จะต้องไปทำคุณไถ่โทษ อื่นๆ หาสิ่งชดเชย บางคนก็ยอมเจ็บให้เขาบ้าง บางคนก็บอกว่ายอมไปสร้างกุศลส่งให้เขา เสียเงินทอง ก็ยอม เพื่อส่งกุศลให้กับเขา เราต้องมาดูว่าเป็นกรรมแบบไหน

การแก้ไขกรรม ถ้าเป็นกรรมนาม เป็นผลแล้ว ก็ต้องหาวิธีแก้ไขกรรมชดเชย

เราจะมาควบคุมฝ่ายเราอย่างเดียวไม่ได้แล้ว เพราะมีฝ่ายเจ้ากรรมนายเวร ผู้ที่เราทำไปร้ายเขา ฝ่ายเราก็ต้องสำนึกผิด

พอสำนึกผิดเวลาไปเจรจาก็จะใช้วิธีที่นุ่มนวล ไม่ใช่ใช้วิธีอหังการใส่กัน แล้วใครจะไปยอม

ถ้าเป็นกิริยากรรม เราก็ต้องพยายามรู้ให้ทัน เช่น รู้ทันก่อนกรรม คือ เราอย่าไปคิดเลย ไม่เป็นไร ถ้าผิดไปแล้ว อันนี้คิดแล้ว ถ้ามีตัวรู้ทันกรรม ก็จะมีเบรคห้ามไว้ เขาก็จะไม่ไปทำ

จะไปทำกรรมแล้ว พอเงื้อมมือจะตีแล้ว นึกขึ้นได้ ก็ไม่ตีแล้ว จะตีเขาก็ไม่ตี นี่ก็รอดมาแล้ว

ยั้งไม่อยู่ ตีเขาไปแล้ว ตีเบาหน่อย ผลก็จะออกมาต่างกัน เขาก็จะไม่ค่อยโกรธเท่านั้น

ถ้าเป็นกิริยากรรม ก็ยังควบคุมได้หลายขั้นตอน อยู่ที่สติสัมปชัญญะ และตบะของเราจะควบคุมได้แค่ไหน แต่ถ้าเป็นผลกรรม นี่เกิดกรรมไปแล้ว จบแล้ว ถ้าจบไปแล้วมีอย่างเดียวคือ ให้เราไปสำนึกผิดว่าเราทำไป เราก็ต้องอ่อนน้อมถ่อมตน ใช้วิธีเจรจาคุยดีๆ เพื่อให้เขายอม ยกโทษให้ อโหสิให้ นี่แหละเรียกว่า การขมากรรม พอสำนึกแล้วก็ต้องขอขมากรรม ก็จะได้รับอโหสิกรรม ทีนี้เราก็จะปฏิบัติตามที่เราได้ให้สัญญากับเจ้ากรรมนายเวรไว้ กรรมนั้นก็จะเบาลง ลดลง ก็จะเคลียร์กันได้

เพราะว่าในธรรม เขามีสิทธิ์ให้กัน คือ "อโหสิกรรม"

ถ้าใครบอกว่ากรรมแก้ไม่ได้ แสดงว่า ยังไม่เข้าใจอโหสิกรรม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน กล่าวว่า อโหสิกรรม (forgiveness,) แปลว่า " ก. เลิกแล้วต่อกัน, ยกโทษให้. " ไม่ถือโทษโกรธเคือง

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) กล่าวว่า อโหสิกรรม กรรมเลิกให้ผล ไม่มีผลอีก ได้แก่ กรรมทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ที่เลิกให้ผล เหมือนพืชที่หมดยาง เพาะปลูกไม่ขึ้นอีก
อโหสิกรรม คือ "เลิกแล้วต่อกัน"

จะทำยังไงให้กุศลเลิกให้ผล เริ่มจากเราต้องยินยอมอย่างเต็มใจ ถ้าเป็นกุศลแต่ถูกบังคับ เจ้ากรรมนายเวรก็จะเคืองต่อ คือ เราไปหาผู้ใหญ่มาแล้วบังคับ เช่น ใช้บารมีพระพุทธเจ้า บารมีองค์เทพ เทวดา เป็นต้น มาบังคับเจ้ากรรมนายเวรว่าจะต้องยอม เจ้ากรรมเขาก็จะบอกว่า ยอมอยู่ แต่ยอมแบบไม่เต็มใจ ยอมเพราะอำนาจ รอบหน้ามีจังหวะฉันก็จะเคือง ไม่ใช่การเอาอโหสิกรรมแท้ ถ้าอโหสิกรรมแท้คือ "ไม่ถือสา" ถ้าอโหสิแล้วยังติดถือสา แสดงว่าไม่ใช่

แต่เจ้ากรรมยินยอม ไม่ถือว่า เพราะว่า มีเงื่อนไข รอบนี้ฉันยอมเธอไปก่อน เพราะว่าเธอมีผู้ใหญ่มา แต่ถ้ารอบหน้าไม่มีใครก็จะเอาคืน

บางครั้งเราทำดีก็ส่งให้เราได้เช่นกัน แต่ส่งให้เราได้แค่ไหน เราต้องเข้าใจ อะไรก็แล้วแต่ต้องมีผลส่ง แต่ผลส่งแค่ไหน เพียงใดเท่านั้นเอง อย่าไปเหมาเอาทั้งหมด

ความดีเป็นของเรา เราต้องเอาความดีนี้ไปเจรจา เราไม่มีการเจรจาไม่มีทางอโสิกรรมหรอก

สมมติว่านี้เขากับเรายังทะเลาะกันอยู่ แล้วเราไปทำมาหากินได้มีเงินขึ้นมาแล้วมันเกี่ยวอะไรกับอโหสิกรรม ดีไม่ดียังจะแค้นด้วย เราต้องไปเจรจาคุยกับเขา เราถ้าไม่คุยกับสิ่งที่เคืองไว้เราจะทำยังไง

ในธรรมก็มีกำหนดให้ ถ้าเราไปคุยเจรจาแล้ว เกิน ๓ ครั้ง ถ้าเขายังไม่ให้อภัยเรา อย่างนี้ก็ไม่ได้ล่ะ เขายังไม่ยอมรับ ก็จะเข้าสู่อุเบกขาแล้ว ธรรมก็จะรับรู้แล้ว เพราะเราไม่รับเองก็ไม่ได้ เพราะเราได้แสดง ปฏิบัติเต็มที่แล้ว เขาก็ยังไม่เอา

เหมือนกับคน ติดหนี้ แล้วก็เอาหนี้ไป แล้วเจ้าหนี้ไม่ยอมรับ เพื่อหุบที่ดินเขา ทีนี่ศาลก็จะมีให้เขาวาง ไปวางว่า อ๋อ...นี่ฉันจ่ายแล้วนะ ศาลรับรู้ แต่เจ้าหนี้บอกว่านี่ถึงเวลากำหนดใช้หนี้แล้ว ไม่ยอมใช้หนี้ ฉันจะฟ้อง นี่ก็จบล่ะ เพราะว่า เขาไปจ่ายที่ศาลทุกเดือนมีหลักฐานที่ศาลแล้ว กลายเป็นว่าโมฆะ ฟ้องหมิ่นประมาทได้ เราไปยึดที่ของเขาไม่ได้

เวลาเราทำบุญ กุศล ทำดี แล้วขอให้เขาอโหสิกรรมให้ อัญเชิญพระแม่ธรณีมาเป็นประจักษ์พยาน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็จะให้ความยุติธรรมทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายเจ้ากรรม เจ้าหนี้ และลูกหนี้ ให้ความยุติธรรมเสมอ

แต่การทำต้องทำให้ครบๆ

กุศลสามารถเลิกให้ผลได้ อกุศลก็สามารถอโหสิกรรมได้

ถ้าเราทำแก้ไขกรรม แบบอกุศล คือ ทางที่ไม่ถูกต้อง คือ เรียกเจ้านายมา ใช้อำนาจบังคับ ทำไมเขาจะเลิกไม่ได้ เพราะว่าอโหสิกรรม แต่ต้องบอกว่าอโหสิกรรมแค่ไหน กี่เปอร์เซ็นต์ อย่าเหมาว่าอโหสิกรรมทั้งหมด ยังไม่ใช่ มีขั้นตอนเหมือนกัน

อันนั้นอโหสิกรรมเพราะถูกเงื่อนไข แต่เงื่อนไขเคลื่อนเมื่อไหร่ เจ้ากรรมนายเวรก็จะเอาเรื่องเราต่อได้

เพราะกำหนดไว้เรียบร้อยแล้วว่า เพราะมีเงื่อนไข ถ้าเงื่อนไขเปลี่ยน เหตุเปลี่ยน เจ้ากรรมนายเวรก็เล่นงานต่อ

ไม่ใช่เพราะว่าสำนึกไม่เอาเรื่องกันแล้ว สำนึกในกุศลด้วยกัน

ก็มีทั้ง ๒ อย่าง เขาเห็นความดีของเราเลยยอมซูฮก เราดีกันแล้วด้วยความดี ­เต็มใจ ต่อเต็มใจ ก็ไม่ถือสา อโหสิกรรมต่อกัน ก็ถือว่าเราไม่เคยผิดกัน

แต่อีกอย่างหนึ่ง เป็นเพราะเจ้านายของคุณ แต่เหตุเปลี่ยน เจ้านายเปลี่ยน เจ้ากรรมก็เอาเรื่องเหมือนเดิม

การไม่เอาโทษต่อกันก็คือ ไม่ถือสากันแล้ว

^_^ ..._/_... ^_^
ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกกล่าวมา

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต   

7,533







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย