ถ้าข้าไม่ลงนรก แล้วใครจะลงนรก


<
ถ้าข้าไม่ลงนรก แล้วใครจะลงนรก

ยกตัวอย่าง ศาลพิจารณาไต่สวนอย่างรอบคอบแล้ว นักโทษคนนี้จะต้องโดนประหารชีวิตแน่นอน ถ้าไม่ประหารชีวิตนักโทษนี้ อีก ๑๐๐ คนก็จะตายเพราะนักโทษคนนี้ เพราะนักโทษนี้จะไปฆ่าเขา

นี่แหละผู้พิพากษามีเหตุจำเป็นต้องฆ่านักโทษคนนี้ และต้องฆ่านักโทษนี้จริงๆ

ดังจะได้ยินคำหนึ่งว่า ฆ่าแบบเมตตา นั่นก็คือ "การุณยฆาต" หรือ ปรานีฆาต (Euthanasia, Mercy Killing) หรือ แพทยานุเคราะหฆาต (Physician-assisted suicide) เป็นการฆ่าอย่างเจตนาโดยใช้วิธีการที่ไม่รุนแรงจนตาย หรืองดเว้นจากการช่วยเหลือเขา โดยปล่อยให้เขาตายไปเอง

และยังมีอีกคำหนึ่งก็คือ "ถ้าข้าไม่ลงนรก แล้วใครจะลงนรก" นี่แหละเป็นการจาคะ

ถามว่า ถ้าประหารคนนี้แล้วจะบาปไหม?

ย่อมมีบาป

แต่เพชฌฆาต (Executioner) นี้ย่อมทำบาปเพื่อสร้างกุศลอีก ๑๐๐ คน เพชฌฆาตก็จะปิติปราโมทย์กับอีก ๑๐๐ คน เขายอมจาคะตรงนี้เพื่อยอมตัดตอน ไม่ให้นักโทษนี้ไปก่อเหตุอีก ๑๐๐ คน

ถ้าจะถามว่าเพชฌฆาตนี้มีบาปไหม?

เพชฌฆาตมีบาป แต่เวลาขึ้นศาลทางธรรม ธรรมก็จะบอกว่าเขามีบาป บาปด้วยการชดใช้ไปสอนธรรมะอีก ๑๐๐ ปี นี่แหละ ทำคุณไถ่โทษได้

แล้วข้อที่ดีเป็นบุญกุศลที่ได้ช่วยเหลือ ๑๐๐ คนนี่แหละอานิสงส์เป็นเช่นใด แล้ว ๑๐๐ คนดีใจกับเพชฌฆาตคนนี้ไหม? แล้วเขาส่งกุศลให้กับเพชฌฆาตคนนี้ไหม? ก็ย่อมส่งกุศลให้ แล้วเพชฌฆาตนี้ได้รับการชดใช้กรรมแป๊บเดียวก็พ้นจากเวรกรรมแล้ว

บางครั้งเราดูคนบางคนทำชั่ว แต่ไม่เห็นว่าเขาจะได้รับโทษสักที ก็เพราะว่าเขามีกุศลรอบด้าน ทั้งๆ ว่าชาตินี้ไม่ได้ทำกุศลอะไร แต่เพราะอดีตชาติเขาทำมาก่อนแล้ว

เหมือนกับคนนี้เห็นไม่จะทำบุญกุศล อะไรเลย แต่ก็ยังถูกหวยบ่อยๆ เราทำบุญแทบตายกลับไม่ถูกหวยสักที ก็เพราะว่าอดีตชาติเขาทำบุญกุศลมาก่อน พอมาชาตินี้คนที่เขาเคยช่วยเหลือก็ต้องมาส่งกุศลให้กับเขาโดยปริยาย เป็นไปโดยธรรม

ยกตัวอย่าง ในศึกมหาภารตะ มหากาพย์ของประเทศอินเดีย อรชุน จะต้องฆ่าปู่คือท้าวภีษมะ ฆ่าอาจารย์คือโทรณาจารย์ ฆ่าญาติพี่น้องของตนเอง แม้แต่ทหาร แต่อรชุนไม่อยากจะทำ แต่พระกฤษณะก็สอนอรชุนว่าให้ฆ่า ถ้าไม่ฆ่าเมืองตนเองก็ต้องล่มสลาย

วิธีคิดก็คือ เราก็ต้องชั่งน้ำหนัก ระหว่าง ๑ คน กับ ๑๐๐ คน ก็เหมือนกับ เหตุการณ์ชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ระหว่างวันที่ ๑๕ เมษายน - ๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๘๙ (พ.ศ. ๒๕๓๒) นักศึกษาเรียกร้องประชาธิปไตย และเสรีภาพ ต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน (Chinese Communist Party : CCP, 中國共產黨) แต่เติ้ง เสี่ยวผิง (鄧小平) ประกาศไม่ยอม ให้รถถังบดนักศึกษา ทั้งๆ น้ำตาเติ้ง เสี่ยวผิงแล้ว แต่ก็ต้องจำเป็นต้องฆ่า มีผู้เสียชีวิตประมาณ ๒,๕๐๐ คน บาดเจ็บ ๗,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ คน แต่ทั้งๆ เขาเหล่านั้นก็เป็นลูกหลาน แต่ลูกหลานทั้งประเทศเยอะกว่ามีประมาณ ๑,๓๐๐ ล้านกว่าคน

สมมติว่า ฆ่า ๒๐๐ ล้านคน หรือแม้ว่ามากกว่า ๒๐๐ ล้าน ก็ต้องฆ่า เพื่อรักษาประเทศนี้ไว้ได้

ถ้าจะตอบในบริบทของพระพุทธศาสนา ในเกี่ยวกับศีล ๕ ข้อที่ ๑ ปาณาติปาตา เวระมณี ห้ามฆ่าสัตว์

เราก็ต้องตอบว่า ศีลมีที่สูงกว่าศีล ๕ ไหม? หรือศีลที่ลึกซึ้งกว่าศีล ๕ ไหม? ซึ่งศีล ๕ นี้เป็นแค่เบื้องต้น เพื่อให้คนทั่วไปนับถือ ปฏิบัติกันเท่านั้นเอง

แต่ศีลที่ลึกซึ้งกว่านี้ก็มี เช่น ศีลของพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ถือศีลมากกว่านี้ เช่น เราย่อให้เหลือ ๒ ข้อ คือ

๑. ศีลหยาบ คือ ศีลเพื่อตนเอง ได้แก่ ศีล ๕ คิดถึงแต่ตนเอง แต่ไม่คิดถึงคนอื่น เพราะว่าเรา เช่น ศีล ๕

ศีลข้อที่ ๑ ห้ามฆ่าสัตว์ ก็เพราะว่าตนเองกลัวบาปถึงไม่ต้องไปฆ่าเขา และถ้าเราไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ก็เพราะว่าเราไม่มีปัญญาไปเบียดเบียนคนอื่นหรือเปล่า? นี่แหละเป็นศีลหยาบ ยกตัวอย่างอีก อย่างเช่นยุงเราไม่ไปตบเพราะว่าเรากลัวบาป เรากลัวบาปเราจึงไม่ตบ แต่ถ้าไม่บาปเราจะตบยุงไหม? เราอาจจะตบก็ได้ อันนี้น่าคิด นี่แหละเป็นการรักษาศีลเพื่อตนเอง

ไม่กินเหล้าก็เพราะเราคิดถึงตนเอง

๒. ศีลปราณีต คือ ศีลเพื่อส่วนรวม จะคิดถึงคนอื่น ทำเพื่อคนอื่นได้ เข้าไปตรงนี้เราเจ็บ แต่เราเจ็บเพื่อคนอื่นได้ เราอดข้าวเพื่อให้คนนี้อิ่มเราก็สามารถทำได้ พระโพธิสัตว์ยอมเจ็บ ยอมเสียสละเพื่อคนอื่น นี่แหละธรรมของพระโพธิสัตว์สูงสุดก็คือการจาคะ เสียสละ

เราตบยุงแล้วได้บาปแล้วจะได้ไม่ไปกัดคนอื่นแล้วเราจะยอมตบไหม? ก็ไม่ยอมตบก็เพราะว่ากลัวบาป เห็นไหม? คนอื่นตายชั่งมัน นี่แหละทำเพื่อตนเองไหม?

หากว่าเราจะแยกศีลเป็นข้อๆ ได้แก่

๑. ศีลเพื่อตนเอง คือ ศีลหยาบ

๒. ศีลเพื่อคนอื่น คือ ศีลกลาง หมายถึง คนเดียวหรือสองคน หรือญาติมิตร แต่ถ้าไม่ใช่ญาติมิตรก็ไม่ยอมให้แล้ว

๓. ศีลเพื่อส่วนรวม คือ ศีลละเอียด ถึงแม้เป็นศัตรูก็ยอมให้


ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกมา
อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์   




 7,022 

  ความคิดเห็น


RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย