ลีลากระบวนการดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า


ลีลากระบวนการดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า

มีคำถามว่า ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะดับขันธปรินิพพานนั้น ทำไมพระองค์ท่านจึงเข้ารูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ และนิโรธสมาบัติ ก่อนออกจากฌานสมาบัติเหล่านี้แล้วค่อยเข้าสู่นิพพาน เป็นเพราะอะไร? ขออธิบายเป็นขั้นลำดับ ดังนี้

พระพุทธองค์ก็ทรงประทับสีหไสยาสน์ โดยพระปรัศว์เบื้องขวา (นอนตะแคงขวาตั้งพระบาทเหลื่อมพระบาท) เพื่อพักผ่อนบรรเทาความไข้ ความเจ็บป่วยแห่งพระวรกาย พระหฤทัยของพระพุทธองค์นั้นสงบ ไม่ทรงแสดงอาการกระสับกระส่ายแต่ประการใด การประทับนอนของพระพุทธองค์ในครั้งนี้เป็นการประทับ "ไสยยาอวสาน" คือ การนอนแบบมีสติเป็นครั้งสุดท้าย โดยไม่คิดจะลุกขึ้นต่อไปอีกแล้ว จากนั้นพระพุทธองค์ก็ทรงเข้าอนุบุพวิหารธรรม (progressive abidings; mental states of gradual attainment) คือ

๑. ทรงเข้าปฐมฌาน (ฌานที่ ๑) ออกจากปฐมฌานแล้ว

ในปฐมฌานนี้ ฌานขั้นที่ ๑ มีองค์ประกอบหลักๆในการปฏิบัติอยู่ ๕ ประการ ได้แก่

๑. วิตก คือ คิดอารมณ์ คิดเพ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือคิดสิ่งใดก็ได้ หรือเรียกว่า "กังวล"

๒. วิจาร คือ เคล้าคลึงอารมณ์ นำสิ่งที่เรากังวล หรือนำอารมณ์ที่วิตกนั้นมาวิเคราะห์ วิจัย พิจารณา หรือนำข้อมูลที่วินิจฉัยมาเปรียบเทียบ เทียบเคียง วิเคราะห์ความแตกต่างกันว่า ดีหรือไม่ดี ถูกหรือผิดประการใด โดยโยนิโสมนสิการ คือ การคิดพิจารณาตั้งแต่ต้นเหตุไปถึงผล ผลไปถึงเหตุ ให้ครบวงจรตามภาวะจริงแท้แห่งธรรม

๓. ปิติ คือ ดีใจ สรุปว่าสิ่งที่มาวิเคราะห์นั้นสรุปได้หรือยังไม่สรุป ถ้าเกิดปิติก็จะสรุปได้ (ดีใจแล้วแปรเปลี่ยนมาเป็นสุข) ปีติ ก็คือ ความเอิบอิ่มใจ คือ จะต้องยอมรับความเป็นจริงแห่งธรรม มายาธรรม ธรรมชาติแห่งความเป็นไปตามวิถีแห่งธรรม แล้วสรุปตามภาวะแห่งธรรมนั้นๆ จึงจะเกิดความเอิบอิ่มใจ ถ้าไม่มีการสรุป จิตของเราก็จะสืบเสาะ แสวงหา โหยหาจึงไม่เกิดปีติ และมีถ้าเรามีปีติก็จะส่งผลให้เรามีกำลังใจทำต่อ

๔. สุข คือ การคิดสรุปว่า "ดี" หรือ "พึงพอใจแล้ว"

๕. เอกกัคคตา คือ สรุปแน่นอน และดำรงอารมณ์อยู่ ณ จุดนั้น (สรุปแน่นอนแล้วว่าเป็นอะไร) สมมติว่าอะไรก็แล้วแต่จะมีสักกี่ข้อว่าจะเป็นความสุข เราจะอยู่กับสุขนั้นล่ะ แต่ถ้าเรายังจะอยู่ในวิตกก็กังวลไป คิดอะไรไปเรื่อย แม้แต่คิดเป็นหลักการอะไรสักอย่างก็จะยังไม่เข้าสู่เอกคัคคตานี่แน่นอน อะไรอย่างนี้

สมมติว่าเรานั่งแล้วพึงพอใจก็จะนั่งได้นาน เพราะถ้าเรามีเอกัคคตา จิตเราก็จะยึดตัวนี้ไปเรื่อยๆ คือยึดตัวพึงพอใจที่ทำสิ่งนี้

ถ้าเรานั่งแล้วเจ็บปวดขา แล้วจิตเราก็จะไม่มายึดตรงนี้แล้ว แล้วถามว่า เราจะเอกัคคตากับตัวไหนล่ะ ถ้าจิตเราไปอยู่กับตรงนั้นมีความสุข เราก็จะลืมทุกข์ความเจ็บปวดตรงนี้


๒. ทรงเข้าทุติยฌาน (ฌานที่ ๒) ออกจากทุติยฌานแล้ว

ในญาณที่ ๒ นี้ มีองค์ประกอบ ๓ ข้อ คือ จะละวิตก วิจารได้ ละข้อสงสัยไปได้ พอเรานั่งปั้บก็ตัดไปได้แล้ว เพราะว่าขึ้นขั้นแล้ว เราไม่ต้องสงสัยแล้ว เชื่อมั่นแล้ว ได้แก่

๑. ปีติ ๒. สุข ๓. เอกัคคตา

ความหมายแต่ละข้อข้างต้น อธิบายตามปฐมฌานที่กล่าวมา


๓. ทรงเข้าตติยฌาน (ฌานที่ ๓) ออกจากตติยฌานแล้ว

ฌานที่ ๓ มีองค์ประกอบ ๒ ข้อ คือ ให้ละปิติ แล้วเจริญ

๑. สุข ๒. เอกัคคตา

สาเหตุทำไมฌานที่ ๓ ถึงต้องละ วิตก วิจาร ปิติได้ เหลือแต่ สุขกับเอกัคคตา

ถ้าคิดไปว่าทำไมถึงเร็วจังสามารถตัดข้อ ๑-๓ ได้ ถ้าคิดว่าทำไมถึงตัดได้เร็ว หรือละได้เร็ว แต่ข้อ ๑-๓ ก็ไม่ใช่ง่ายๆนะ ถ้าเราควบคุมจิตใจได้ แต่ถ้าควบคุมจิตไม่ได้ก็ทำได้ยากเช่นเดียวกัน


๔. ทรงเข้าจตุตถฌาน (ฌานที่ ๔) ออกจากจตุตถฌานแล้ว

ฌานที่ ๔ นี้มีองค์ประกอบ ๒ ข้อ คือ ให้ละสุขเสียได้ แล้วเจริญ

๑. อุเบกขา ๒. เอกัคคตา

ถ้าเราไม่อุเบกขา เราก็จะยึดติดกับสิ่งต่างๆ อยู่เรื่อย หวั่นไหวไปเรื่อย สมมติว่า เราเอาเรือไปผูกติดกับแพ น้ำใหลลอยไปยังไงก็จะอยู่อย่างนั้น ถ้าเราให้เชือกหลุดออกจากแพ เราถึงจะเป็นตัวของตัวเองได้ ถ้าอย่างนั้น ฌาน ๑-๓ นี่ก็ใหลไปตามกระแสน้ำ ถึงบอกว่าเป็นตัวอะไรที่ยังใช้ไม่ได้ เพียงแค่รับรู้เฉยๆ เป็นบันไดให้ขึ้นถึงขั้นที่ ๔ ขั้นที่ ๔ เราต้องอุเบกขา ต้องให้หลุดจากสิ่งที่เป็นอยู่ เช่น เราวิตก เราต้องหลุดออกจากวิตกล่ะ ถ้าเรายักวิตกก็จะพาเราไปอีกแล้ว


๕. ทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ ออกจากอากาสานัญจายตนะแล้ว

คือ การกำหนดอากาศ ความว่าง ใช้อากาศเป็นตัวนำให้เกิดความรู้สึกว่า "ว่าง" แล้วสุญญตากับอากาสานัญจายตนะแตกต่างกันตรงไหน แตกต่างกันตรงนี้ฌานนี้นำเข้าสู่สุญญตา คือ ว่างจากรูปแล้วก็ไปว่างที่นาม พอว่างที่นามก็ไปว่างที่ข้างใน


๖. ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนะ ออกจากวิญญาณัญจายตนะแล้ว

คือ กำหนดวิญญาณหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ วิธีทำก็คือ หารูป รูปมันต้องเปลี่ยนไปเรื่อย เรามองคนปั๊บเดี๋ยวคนก็เน่า เราเอาเนื้อมาหนึ่งก้อนไม่ทันไรเดี๋ยวก็เน่า เดี๋ยวก็เปื่อย เดี๋ยวก็สีไม่สวยแล้ว เปลี่ยนไปเรื่อย เจริญพระไตรลักษณ์ ตัวอนิจจัง

กำหนดวิญญาณหาที่สุดไม่ได้ก็คือ วิญญาณ คือ ตัวรับรู้ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนหาที่สุดไม่ได้ เช่น เราเอาเนื้อมาหนึ่งก้อนทีแรกก็สวย พอกาลเวลาผ่านไป เดี๋ยวสีก็เริ่มหมอง เน่า เปื่อย หมดเป็นธุลี ธุลีแล้วก็กลับมาเป็นก้อน

เรามองผู้ชายที่หล่อ เดี๋ยวความหล่อก็เปลี่ยน พิจารณาไปเรื่อยๆ


๗. ทรงเข้าอากิญจักญายตนะ ออกจากอากิญจักญายตนะแล้ว

คือ กำหนดภาวะที่ไม่มีอะไรๆ เป็นอารมณ์ หมายถึง ไม่จับอารมณ์ตัวใดตัวหนึ่งให้ยึดมั่นถือมั่น แต่ไม่ใช่สุญญตา เป็นเพียงแต่เริ่มพิจารณา เพื่อนำไปสู่สุญญตา ทุกอย่างจะยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ จนในที่สุดจิตยอมรับข้อเท็จจริงในนี้ว่ายึดมั่นถือมั่นไม่ได้ ก็จะเข้าสู่ภาวะอนัตตา และสุญญตา


๘. ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะแล้ว

คือ การเข้าถึงภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ หมายถึง ไม่ยึดมั่นถือมั่น เกี่ยวกับเรื่องสัญญา สัญญาณ คือสิ่งที่เจ้าตัวเคยได้สัญญาไว้ ผูกพันไว้ เคยทำอะไรไว้ พอปฏิบัติถึงขั้นนี้ก็จะไม่ถือแล้ว เพราะการผูกพันก็เสื่อมถอยได้ ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้

ไม่ว่าจะมีหัวข้อธรรมอะไรมาทั้งหมด จะยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ ที่พูดมาทั้งหมดเลย เพียงแต่ให้รู้ซึ้งถึงพระไตรลักษณ์ หลักธรรมอะไรก็แล้วแต่ ธรรมอะไรก็แล้วแต่ ก็จะเข้าสู่การพิจารณาเข้าใจ ประจักษ์ซึ้งในหลักธรรมพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งนั้น


๙. ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สมาบัติ ๙

สมาบัติ คือ เข้าไปพิสูจน์ความจริง ภาวะการณ์ตรงนั้น เรียกว่า สมาบัติ

สมาบัติ ก็คือ เป็นความรู้ ความเป็นปัญญา ต้องเข้าไปสู่ความเป็นปัญญาว่าตรงนั้นผิดถูกยังไง อะไร

สมาบัติ อีกอย่างหนึ่งคือ นิโรธสมาบัติ หรือ สัญญาเวทยิตนิโรธ ซึ่งละเอียดสุขุมกว่าอรูปฌาน เมื่อรวมกับสมาบัติ ๘ ข้างต้นก็เป็น ๙ มีคำเรียกต่างหากว่า อนุปุพพวิหารสมาบัติ

การเข้านิโรธ คือ ดับสัญญา และเวทนา

คำว่า "ดับ" คืออะไร ความดับก็คือไม่ไปยึดถือ สมมติว่าสิ่งนี้อยู่ในสมองเรา เราเห็นแล้ว เราดับ คือ ไม่อยู่ในสมองเรา เราไม่ไปยึดเขา เขาก็จะไม่ไปอยู่ในสมองของเรา นี่แหละการดับสัญญาตรงนั้น สัญญาณตรงนั้น

มีอยู่ แต่เราไม่ไปยึดไว้ เราก็ปล่อยไว้อยู่ในธรรม สิ่งต่างๆ มาในสมองเรา เราไม่ไปยึด สิ่งนั้นก็อยู่ในสมองเราไม่ได้ มันก็ดับในสมองเรา

แล้วที่เราไปนั่งสมาธิเข้านิโรธสมาบัติเพื่อมาดับตรงนี้นี่เอง เพื่อมาดับสิ่งต่างๆ เพื่อให้เป็นไทขึ้นมา เพื่อไม่ให้เหนี่ยวรั้งจากอารมณ์ต่างๆ เพื่อเป็นอิสระในการเดินทาง เหมือนกับว่าเราขนสัมภาระเยอะแยะแล้วเราจะเดินไปไหวมั้ย เราจะผ่านรูเข็ม ด้ายจะมีปมไม่ได้

พอพระพุทธองค์เข้าสู่นิโรธดับสัญญาและเวทนา พระอานนท์มีข้อสงสัยว่าพระพุทธเจ้าเข้าสู่ปรินิพพานหรือยัง จึงถามไปยังพระอนุรุทธะว่า พระพุทธเจ้าเข้าสู่นิพพานหรือยัง พระอนุรุทธเถระผู้เชี่ยวชาญสมาบัติชี้แจงว่า บัดนี้พระพุทธองค์กำลังเสด็จอยู่ในสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ เป็นต้น

จากนั้นพระพุทธเจ้าจึงเสด็จออกจาก สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ถอยเข้าสู่เนวสัญญานาสัญญายตนะ ที่ ๙ ถอยมาเป็น ฌาน ๘ ฌาน ๗ ฌาน ๖ ฌาน ๕ ฌาน ๔ ฌาน ๓ ฌาน ๒ ฌาน ๑ แล้วเข้าสู่ ฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ ฌาน ๔ แล้วก็ออกจากฌาน ๔ เป็นลำดับสุดท้าย แล้วเข้าสู่ปรินิพพาน

พระพุทธเจ้าเข้าเรียงลำดับไปตามจุติตามภาวะธรรม สิ่งเหล่านี้เป็นเฉพาะพุทธเจ้า ท่านแสดงกรรมเพื่อเจริญธรรม ว่าก่อนพระพุทธเจ้าท่านจะละสังขารเข้าสู่ปรินิพพาน ท่านต้องหมดจดบริสุทธิ์อย่างนี้ ท่านต้องสรุปเรียบร้อย ไม่ใช่ไปอย่างไม่สรุป


แล้วทำไมพระพุทธเจ้าถึงเข้าอนุบุพวิหารธรรม ? และทำไมท่านเข้าสู่รูปฌานและอรูปฌาน แล้วเข้านิโรธสมาบัติถือว่าสูงสุดในระดับของการอยู่ในภาวะภูมิโลกนี้?

สิ่งเหล่านี้พระพุทธเจ้าท่านแสดง เพราะว่าเข้าสู่นิพพานจะไม่มีสิ่งเช่นนี้อีกต่อไป พระองค์ท่านเข้าสมาบัติแล้วออกจากสมาบัติอย่างหมดจดแล้วท่านก็คืนสู่ธรรม ท่านจึงหลุดจากภูมิโลก ถ้าท่านไม่ทำอย่างนี้ก็จะมีต่อ เพราะถ้าเข้าสู่นิพพานจะหมดเหตุแล้ว ไม่มีต่อแล้ว


แล้วพระพุทธเจ้าเข้าสมาบัติทำไม?

พระพุทธเจ้าเข้าสมาบัติก่อนปรินิพพานเป็นการแสดงกรรม เพื่อเจริญธรรม

และสำหรับโลกเรานี้จำเป็นต้องมีสมาบัติเพราะเราต้องทำงานอยู่ เพราะเรายังไม่เข้าสู่นิพพาน

พระพุทธเจ้าหมดแห่งเหตุแล้วก็ละนิโรธสมาบัติ ที่พระพุทธเจ้าเข้าสู่สมาบัตินี้ พระพุทธเจ้าแสดงให้เห็นว่า พระองค์ท่านสละหมดแล้ว ไม่มีแล้ว หมดเหตุแล้ว แล้วท่านจึงเข้าสู่นิพพาน จึงไม่มีการกลับมาเกิด

ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกมา
อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์

7,708







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย