ดอกบัว ๑๒ เหล่า


ดอกบัว ๑๒ เหล่า

ภาวะจิตโลกิยะ

ทำไมเรายกย่องบัว นำดอกบัวไปไหว้พระ เนื่องจากว่าบัวมี ๑๒ ภาวะ ดอกไม้อื่นไม่มีครบ ๑๒ ภาวะ ฉะนั้น คนเราก็มี ๑๒ ภาวะเหมือนๆ กัน และเราต้องเข้าใจตนเอง ๑๒ ภาวะ มีดังนี้

๑. โคลนตม
๑.๑ รากดี คือ คนดีแต่ไม่มีปัญญา
๑.๒ รากเสีย คือ คนชั่วแต่ไม่มีปัญญา
๑.๓ รากกำลังจะเป็นเง่า คือ คนเริ่มจะดี
๑.๔ รากที่แทงขึ้นจากตม คือ คนที่มีความมุมานะพยายาม

๒. ตูม (เอื้อ เกื้อ กัน)
๒.๑ ลำต้น เปลือก คือ การดูแล
๒.๒ ใย คือ การป้องกัน
๒.๓ ท่อ คือ การส่งเสริม
๒.๔ เนื้อเยื่อ คือ การบำรุง

ดอกบัวหากไม่มีลำต้น ใย ท่อ และเนื้อเยื่อ ก็จะไม่สามารถโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำได้ คนเราก็เช่นเดียวกัน หากคนนั้นมีปัญญาและเป็นคนดี และมีความเพียรพยายามประกอบความดี ดำเนินชีวิตตามวิถีแห่งธรรม หากไม่ได้รับการดูแล เอาใจใส่ ป้องกันไม่ให้เขาท้อแท้ใจหลีกหนีจากความดีหันไปทำบนเส้นทางอบายมุข เขาย่อมจะหลงเข้าสู่ปากทางแห่งเหวนรกหรืออบายภูมิแน่นอน และเมื่อเราดูแลและป้องกันเขาแล้ว สิ่งที่เราควรทำต่อไปนั่นก็คือการส่งเสริมให้เขาได้ดี และรู้จักอุปถัมภ์ค้ำชูเขา เขาย่อมจะเติบโตแน่นอน

เปรียบเสมือนกับคนดี หากเขาอยากได้ดี มีโอกาสแต่ไม่ถูกการส่งเสริม บางคนอยากได้ดีแต่สิ่งแวดล้อมไปบีบคั้นไม่อำนวยและบางที อาจทำให้บุคคลนั้นเสียไปเลย ถ้าหากว่ามีสิ่งที่มาช่วยให้เขาตรงนี้ดีก็จะดีขึ้น เขาก็จะสามารถโตขึ้นมาได้

หากเปรียบเหมือนกับคน คนๆ นั้นดีขึ้นมาแล้วเราต้องให้ความส่งเสริมสนับสนุน ป้องกันให้เขาช่วยเขา ถ้าเราไม่มีการดูแล ป้องกัน ส่งเสริม และบำรุง บุคคลนั้นบุญบารมีไม่พอ หรือองค์ประกอบไม่พอ เขาอาจจะล้มลงกลางทางได้ บุคคลที่อยากได้ดีแล้วล้มกลางทางนั้นมีมาก เพราะว่าไม่มีการเอื้อ เกื้อ กัน บางทีอาจจะได้ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ อาจจะเหลือแค่ ๒ เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าหากเป็นผู้มีบุญบารมีมาช่วยตรงนี้ อาจจะได้ถึง ๘ เปอร์เซ็นต์ นี่คือหัวใจของมหายาน

ผู้ที่บรรลุไปแล้วทำไมต้องกลับมา กลับมาเพื่อมาดูแลหน่อพวกนี้ ถ้าพวกนี้ขาดการดูแล พวกนี้ย่อมเหลือน้อย เขาย่อมตกลงในอบายภูมิ หากมีคนตกอยู่ในอบายภูมิมากสังคมตรงนั้นย่อมก่อให้เกิดปัญหา ถ้าหากเราขนคนตรงนี้ไปอยู่ในสิ่งที่เป็นกุศล สังคมย่อมเป็นกุศลมากกว่า

๓. เบื้องปลาย (ส่งผล)

๓.๑ ตูม คือ เป็นดอกบัวตูม กุศลเริ่มที่จะส่งผล เริ่มพ้นน้ำ

๓.๒ บาน คือ ส่งผลกระแสความดีของเขาออกไป แต่ถ้าขณะเวลานี้เขาบ่งบานแต่มีความอหังการย่อมก่อให้เกิดความยิ้มตามมาก็จะจบแค่บาน ฉะนั้น ใครอยู่ในภูมิของดอกบัวบาน จะต้องรักษาตัวเอง รักษาตัวเองให้ดีอย่างที่สุด หากไม่รักษาให้ดีก็ต้องเหี่ยวเฉาตาย

หากเราไม่รักษาตนให้ดีแล้วก็จะไม่เกิดเป็นเมล็ดพันธุ์แพร่พันธุ์ได้ ณ จุดตรงนี้หลายคนมาจบลง ณ จุดนี้เป็นอันมาก เช่น พระยันตระ พระนิกร หลวงพ่ออิสระมุนี เป็นต้น เพราะคิดว่าตนเองบานแล้วก็คือพอแล้ว ไม่บำเพ็ญเพียรต่อ

ยกตัวอย่าง มีคนหนึ่งมาจากประเทศไต้หวันเป็นอาจารย์ใหญ่ และเป็นสำนักใหญ่ มาคุยกับอากง อากงบอกเขาว่า เขาหลงตัวเองผิดไป คิดว่าตนเองเบ่งบานแล้วเรียบร้อยแล้ว อากงจึงบอกเขาว่ายังต้องบำเพ็ญเพียรช่วยเหลือคนต่อไป โดยอธิบายชี้แจง และเปรียบเทียบเขาเสมือนกับดอกบัวที่บานแต่ยังเหลือขั้นต่อๆ ไป อาจารย์ใหญ่ไต้หวันถึงกับต้องเขกกระบาลตนเอง เขาบอกว่าตนหลงผิดไป พลาดไป พร้อมกับยกมือไหว้อากง และขอให้อากงไปช่วยคนที่ใต้หวัน ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อากงจึงบอกว่า ให้ยายไปทำหน้าที่ เพราะว่ายายมีหน้าที่ที่ต่อเนื่องมาแล้ว ฉันมีหน้าที่ชี้แนะให้แต่ละฝ่าย เพราะมีอีกหลายฝ่ายต้องการชี้แนะ

๓.๓ เกสร คือ เมื่อดอกบัวบานแล้วจะขับตนเองให้มีเกสร เวลาเมื่อดอกบัวเป็นเกสรแล้วกำลังจะเป็นเมล็ด ใบของดอกบัวที่บานจะต้องร่วงโรยทิ้งลงแม่น้ำ

การร่วงโรยนี้เหมือนกับคนเรา คนเราเมื่อทำความดี ไม่รู้จักวางความดีจะขึ้นถึงดีไม่ได้ เหมือนกับการนั่งเรือข้ามฟาก หากเราไม่เดินขึ้นฝั่ง ไม่ทิ้งเรือไว้กับแม่น้ำ เราจะข้ามถึงฝั่งไม่ได้

ถ้าเราทำดี หลงอยู่กับดี แล้วเราจะขึ้นสู่ความดีได้ไหม? ย่อมขึ้นสู่ความดีไม่ได้เพราะว่ายังติดกับความดีอยู่

เปรียบเหมือนกับดอกบัวที่ดีจะเริ่มเบ่งบาน พอเบ่งบานแล้วจะเริ่มวาย ทิ้งกลีบดอก ถึงจะเกิดเป็นเกสรเมล็ดต่างๆ ได้

๓.๔ เมล็ด คือ ดอกบัวจะสร้างตนเองให้เป็นเมล็ดพันธุ์ แต่จะเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีหรือไม่ดีนั้นขึ้นอยู่กับดอกบัวเองว่าได้รับการเลี้ยงดูตั้งแต่ต้นจนถึงออกเมล็ดนี้

เปรียบเสมือนกับคนเรา หากเริ่มต้นได้รับการปลูกฝังที่ดี ได้รับการศึกษามาดี ได้รับการเล่าเรียนศึกษาศิลปวิทยาการต่างๆ เมื่ออยู่ในภูมินี้ก็ย่อมจะช่วยเหลือคนอื่นๆ ได้หลากหลายวิธีการ มีกุศโลบายที่แยบยล มีจิตวิทยาที่เข้าถึงผู้คนได้อย่างหลากหลาย

ภาคโลกุตตระ

๔. ขั้นนิพพาน

เมื่อถึงขั้น ๑๒ แล้วจะต้องขึ้นขั้นจุดสุดยอด เข้าสู่ขั้น๑๓ ตัวเมล็ดถึงจะแก่ เมล็ดหลายเมล็ดที่ปลูกไม่ขึ้นบ้าง ปลูกขึ้นบ้าง

๔.๑ สัปปายะของสรรพสิ่ง คือ สัปปายะของสรรพสิ่งทั้งหลายพอมีความเอื้อให้เมล็ดงอกขึ้นมาได้ เปรียบเสมือนกับการงอกของดอกไม้ ต้นไม้ หากเมล็ดไปตกที่ก้อนหิน เมล็ดนี้ก็จะไม่สามารถงอกขึ้นมาได้ เพราะไม่มีความสัปปายะสรรพสิ่ง แต่ถ้าหากเมล็ดพันธุ์นี้มีความสัปปายะของสรรพสิ่ง ไปตกลงดินที่ดีพร้อม เมล็ดพันธุ์นี้ย่อมปลูกขึ้น เติบโตงอกงาม

๔.๒ สัปปายะแห่งการเกิดหน่อ คือ กุศลส่ง เมื่อเมล็ดได้ว่านลงยังดินแล้ว ดอกบัวย่อมออกผลผุดเกิดหน่อใหม่ขึ้นมา หากเปรียบเสมือนกับคนเรา ณ จุดนี้ตนเองย่อมกลายเป็นพ่อแม่ หรือครูบาอาจารย์ พร้อมออกสั่งสอนให้ประชาชนต่างๆ ได้รับรู้ ลิ้มรสแห่งธรรม ช่วยเหลือมวลมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายตามวิถีแห่งธรรม

ฉะนั้นผู้ที่เข้าถึงแห่งธรรมจะต้องมีสัปปายะในการเกิดหน่อต่อไป

สัปปายะในที่นี้ คือ สภาวะที่ถูกต้องในธรรมนั้นๆ และพร้อมที่จะเกิดขึ้น สิ่งที่สมดุล สภาพเอื้อ สิ่งที่เกื้อกูล สิ่งที่เหมาะสมแก่กัน ได้แก่
๑) อาวาสสัปปายะ คือ ที่อยู่ซึ่งเหมาะสม
๒) โคจรสัปปายะ คือ วิถีแห่งการดำเนินชีวิตเหมาะสม
๓) ภัสสสัปปายะ คือ การพูดคุยที่เหมาะสม
๔) ปุคคลสัปปายะ คือ บุคคลเหมาะสม
๕) โภชนสัปปายะ คือ อาหารที่เหมาะกัน หรือสิ่งที่ได้รับเหมาะสม
๖) อุตุสัปปายะ คือ ดินฟ้าอากาศ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
๗) อิริยาปถสัปปายะ อิริยาบถที่เหมาะสม

๔.๓ วัฏจักรของวิบาก คือ การเข้าถึงแห่งความเป็นวิบากแห่งวิบากกรรม เป็นขั้นตอนหมุนเวียนดังปฏิจจสมุปบาท และนี่แหละการเข้าถึงแห่งธรรม เข้าสู่ความเป็นกฎแห่งไตรลักษณ์ คือ

๑) อนิจจัง ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน
๓) ทุกขัง ความเป็นทุกข์ ทนอยู่สภาพนั้นไม่ได้
๓) อนัตตา มีตัวตน แต่ยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตนไม่ได้

สิ่งนั้นย่อมเกิดได้ แปรเปลี่ยนได้ ดับได้ ย่อมเกิดใหม่ หมุนเวียนไปตามวัฏจักร เป็นวัฏสงสาร

ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกมา

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์   

7,715







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย