วิธีอโหสิกรรมที่ถูกต้อง


<
วิธีอโหสิกรรมที่ถูกต้อง

มีผู้หญิงคนหนึ่งต้องการจะไปบวชชีพราหมณ์ ถือศีล ๘ ที่วัด แล้วบอกกล่าวเพื่อนๆ ญาติพี่น้องต่างๆ เขาขออโหสิกรรมให้กับทุกๆ คน และขอให้ทุกๆ คนอโหสิกรรมให้กับเขา สิ่งที่ทำอย่างนี้ถูกต้องตามธรรมหรือไม่

สิ่งที่ทำไม่ถูกต้องตามธรรม

สิ่งที่ถูกต้องตามธรรมคือ ต้องยอมรับผิด แล้วขอขมา แล้วอโหสิกรรม มี ๓ ขั้นตอน

คนเราต้องให้เขาก่อนถึงจะมีสิทธิ์รับการให้อโหสิกรรม เราต้องให้อภัยให้คนอื่นก่อนเราถึงจะมีสิทธิ์ได้รับการให้อภัย หมายถึง เราต้องสำนึกผิดในการกระทำของเราที่เคยทำไม่ดีไว้ ขอขมากรรมต่อเจ้ากรรมนายเวร และขอเจ้ากรรมนายเวรอโหสิกรรมให้ เราจึงจะสะอาด ไม่ติดค้างคดีอาญาทางธรรม แล้วเราจึงจะไปอโหสิกรรมให้กับบุคคลอื่นได้

สมมติว่า ผมจะไปบวช อดีตผมเคยไปตีเพื่อน เวลานี้ผมต้องไปขอขมาที่ไปตีเพื่อน ยอมรับผิดตรงนี้ เราต้องไปขอขมาต่อเพื่อน ขอให้เพื่อนรับขมากรรม และอโหสิกรรม ให้กับเรา เราจึงจะหายฟาวล์ (foul) ได้

เราจึงจะหมดอาญา ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็ยังต้องติดอาญาอยู่ เพราะว่าไปตีเพื่อน ถ้าเราติดอยู่ในอาญาเราจะมีสิทธิ์ไปขอให้ใครมาอโหสิแก่เราไม่ได้ เราต้องเคลียร์ตัวเราให้สะอาดก่อน เมื่อตัวเราสะอาดแล้ว จึงจะไปสร้างกุศลมาให้กับเพื่อนหรือเจ้ากรรมนายเวรได้

บางคนจะไปให้อภัยให้กับคนอื่นก่อน อย่างนี้ไม่ได้ เพราะถ้าเราติดอาญาต้องเคลียร์อาญาของตัวเองก่อน ถึงจะไปให้อภัยคนอื่นได้

ถ้าเป็นอย่างนี้เราจะไปอโหสิกรรมให้กับใครต่อใครไม่ได้ บุคคลใดที่เขายังไม่มีจิตสำนึกในความผิดของตนเอง แล้วจะมีสิทธิ์ มีคุณสมบัติ ไปอภัยให้กับบุคคลอื่นไม่ได้

แม้ว่าการอภัยให้กับคนอื่นเป็นสิ่งที่ดี ก็ทำไม่ได้ ใครทำไปถือว่าฟาวล์ เป็นของเก๊ ถ้าเราทำอะไรฟาวล์ไปแล้วเราจะได้คะแนนมั้ย

ยกตัวอย่าง ถ้าเราเตะลูกฟุตบอล ถูกใส่มือเพื่อนแล้วกระเด็นเข้าประตูโกล แล้วกรรมการตัดสินจะให้คะแนนหรือเปล่า ก็ไม่ให้เพราะว่าฟาวล์

เวลานี้คนสับสนตรงนี้เยอะมาก

ถ้าเราฟาวล์แล้วเราไม่มีคะแนน แล้วเราจะเอาคะแนนอะไรไปให้เขา

จึงถามว่าตัวเราทำดีแล้วหรือยัง ทำดีถูกต้องหรือยัง

ถ้าเราไปตีเพื่อน เราติดอาญาล่ะ เราต้องยอมรับผิด สำนึกผิดแล้ว เราต้องไปขอขมากรรมต่อเพื่อน "เพื่อนครับผมยอมรับผิดแล้วครับ ผมยอมรับโทษครับ" ต่อไปก็ขอความเมตตาจากเพื่อนให้ยกโทษให้ หรือผ่อนหนักให้เป็นเบา อะไรก็ว่าไป นี่แหละต้องทำตามขั้นตอน เราจึงจะพ้นสภาพติดอาญา หมดคดี

พอเราหมดคดี ไม่ติดอาญา เราก็สามารถไปให้อภัยคนอื่นได้

ถ้าเรายังติดคดีเราไม่สามารถจะไปให้อภัยใครต่อใครได้เลย

ทำไมธรรมจึงสร้างกระบวนการเช่นนี้ขึ้นมา นี่แหละยุติธรรมดีแล้ว ถ้าไม่อย่างนั้น คนอื่นหรือใครๆ ก็ตามที่ทำผิดแล้ว ไม่ต้องไปแก้ไขแล้วเหรอ แล้วไปทำดีโดยไม่สนใจความชั่วในอดีตที่ผ่านมา แล้วบอกว่าเราหายแล้ว เจ้ากรรมนายเวรอโหสิกรรมให้กับเราแล้ว ย่อมเป็นไปไม่ได้ เราคิดไปเองว่าได้ แต่จริงๆ แล้วไม่ได้

บางคนไปทำความดี แต่ตัวเองที่เคยกระทำผิดไปไม่ได้ยอมรับผิด สำนึกผิด จะได้ผลดีได้ยังไง

ยกตัวอย่าง เช่น ตบหน้าเขาแล้ว เราบอกว่า "ขอโทษครับ อย่าเอาเรื่องผมนะ" จะได้หรือไม่ เราต้องมาแก้ไขสิ่งที่เราทำไปเมื่อสักครู่นี้ก่อน ต้องมาขอขมา ขอโทษเขาก่อน จนกว่าเขาจะยกโทษให้เรา ตรงนี้ถึงยุติแล้วเราถึงจะทำอะไรต่อไป

ถ้าเขาให้อภัยเราแล้ว เราถึงจะเจริญขึ้น แต่ถ้าเขายังไม่ให้อภัยเราเราก็ยังตกต่ำอยู่

ยกตัวอย่าง สมมติว่าเราไปปล้นเขามา ๑๐ ครั้ง แล้วเราบอกว่าสิ่งการปล้นไม่ดี จะไม่ปล้นแล้ว หันกลับมาทำดี แล้วไม่ไปสนใจที่จะเคลียร์อดีตของตัวเองที่เคยกระทำมา แล้วคนที่โดนปล้นเขาจะยอมมั้ย จะให้อภัยมั้ย คนที่โดนปล้นจะยอมรับความดีในสิ่งที่เขาทำปัจจุบันนี้มั้ย เขาอาจจะคิดว่าสิ่งที่ทำนั้นมันเสแสร้งทำก็ได้ เพราะยังไม่เห็นเขาสำนึกผิดเลยว่าสิ่งที่เคยเป็นโจรปล้น ๑๐ ครั้งนั้นมันผิด อาจจะมีครั้งที่ ๑๑ ก็ได้

ยกตัวอย่างอีกกรณีหนึ่ง เขาเคยขับรถชนคนตาย ชนคนบาดเจ็บ ทำร้ายคนอื่น แล้วไปสร้างวัดสวยงามมากเลย เพื่อแก้ไขวิบากกรรมนี้จะได้หรือไม่ ทำอย่างนี้ไม่ได้แน่นอน เพราะยังไม่ได้ยอมรับผิด สำนึกผิด ขอขมากรรม ย่อมไม่ได้รับบุญกุศลแน่นอน

แต่มีคำถามว่า ก็ในเมื่อเราสร้างวัดไปแล้ว เสียเงินเสียทองไปแล้ว และวัดก็เป็นวัดแล้ว มีถาวรวัตถุมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ วิหาร ศาลา กุฎิ เป็นต้น ก็เกิดบุญแล้วนี่

สิ่งที่ทำ สิ่งที่สร้างวัดนี้เกิดบุญแล้ว แต่จะไปกักเก็บไว้ในธรรม เป็นกองกลาง โดนธรรมยึดเอาไว้ เจ้าตัวไม่สามารถรับได้

ถ้าเราอยากได้บุญตัวนี้อยู่ เราต้องรีบยอมรับผิด สำนึกผิดในสิ่งที่เราเคยทำผิดพลาดมา ขอขมากรรมนั้น และขอให้เจ้ากรรมนายเวรนั้นอโหสิกรรมให้กับเรา เราต้องไปรีบเคลียร์อาญาที่ติดนี้ให้จบ เราถึงจะมีสิทธิ์ไปรับบุญกุศลที่สร้างวัดนั้น

และอีกอย่างหนึ่ง เมื่อเราสร้างวัดแล้ว เราปล่อยปละเลยไม่ใส่ใจที่จะทนุบำรุง รักษาวัดไม่ได้ เราสร้างวัดแล้วเราต้องอุปถัมภ์ค้ำชู ถึงจะได้กุศลอย่างเต็ม ถ้าไม่ทำเช่นนี้จะได้กุศลเพียงแค่ ๒๕%

ยกตัวอย่างอีกกรณีหนึ่ง ถ้าเราไปบูชาเชิญองค์พระพุทธรูป หน้าตัก ๙ นิ้วไปถวายที่วัด เราต้องไปอุปถัมภ์ ทนุบำรุง รักษาองค์พระพุทธรูปนั้น ถ้าเราไม่ได้ไปอุปถัมภ์เราก็จะได้กุศล ๒๕% ใครมาอุปถัมภ์ต่อก็รับอีกครึ่งหนึ่งไป

ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกมา

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์   




 10,326 

  ความคิดเห็น


RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย