เจตสิกและภาวะธรรม


เจตสิกและภาวะธรรม

เราเป็นผู้ขอใช้จิต ไม่ใช่จิตมาเป็นผู้รับใช้เรา

ถ้าเราเป็นผู้รับใช้เราก็ใหญ่ ความใหญ่ก็จะเกิด ความยึดมั่นถือมั่นก็จะเกิด เราจะยึดถือความเป็นเจ้าของ

เราต้องคิดว่า เราเป็นผู้ขอใช้

ตัวสัมปชัญญะจะเป็นตัวที่ไปขอใช้จิต จิตเป็นสิ่งที่รับรู้มา แล้วเราต้องไปบริหาร จิตเป็นตัวธรรมชาติหนึ่งที่รับรู้อารมณ์ แต่ตัวสติสัมปชัญญะจะเป็นตัวนำมาใช้ แต่ถ้าเราไม่มีตัวสติสัมปชัญญะเราก็จะทำอะไรแล้วเตลิดมากขึ้น ไม่ดูความชอบธรรม สมควร เหมาะสม

ยกตัวอย่าง ความเป็นนายแดง เป็นตัวอะไร คือ เป็นตัวสมมติ เป็นตัวอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นายแดงเป็นตัวสมมติขึ้นมา ถ้าเราไปเข้าวัดเขาก็เรียกว่าหนานแดง ถ้าเข้าบ้านเขาก็เรียกว่าพ่อแดง นี่แหละเป็นสิ่งสมมติ ส่วนที่เป็นจริงๆ ก็คือ ภาวะธรรม

แล้วถ้าตัวสติสัมปชัญญะกับตัวเจตนาเหมือนกันหรือไม่ ไม่เหมือนกัน เพราะตัวเจตนาต้องไปบวก(+)กับอะไรต่างๆ เจตนาคือความต้องการ สิ่งที่ตัวเองต้องการ แต่ถ้าเจตนาไปบวกกับสติสัมปชัญญะก็จะมีข้อคิดบวกกับตัวปัญญา บวกตัวปฏิบัติแล้ว

เจตนาเป็นตัวที่อยากทำอะไรเฉยๆ ซึ่งไม่ใช่เป็นตัวเจตสิก

ส่วนตัวเจตสิกเป็นตัวที่ทำให้สัมปชัญญะได้เหนี่ยว ได้เกาะไว้ ได้อาศัย

ตัวเจตสิก คือ (ลิ้งค์) สิ่งที่มหาเทพ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือสิ่งที่ภาวะธรรม มอบหมายให้เรามาเป็นที่ยึดเหนี่ยว เป็นที่อาศัย เป็นแดนให้เกาะ

ถ้าไม่อย่างนี้ตัวสติสัมปชัญญะก็จะไม่มีตัวเกาะ พอไม่มีตัวเกาะก็จะไม่มีที่อาศัย

ถ้าว่าไปแล้วตัวเจตสิกเป็นส่วนหนึ่งของพระแม่ธรณี เปรียบเสมือนธาตุดิน ให้เราอยู่อาศัย เป็นธาตุดินที่ให้เหล่าธาตุทั้งหลายอยู่อาศัย เพราะธาตุดินต้องอยู่ตรงกลาง เพราะเป็นที่อาศัยของเหล่าธาตุทั้งหลาย ได้แก่ ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ เป็นศูนย์รวม และเราถือว่านี่แหละคือพระแม่ธรณี

จริงๆ แล้ว ตัวเจตสิกก็คือพระแม่ธรณี ถ้าเราเปรียบเทียบให้เห็น เพราะว่าเราจะได้อาศัย ถ้าไม่มีตัวเจตสิกเราก็จะล่องลอยไม่มีสิ่งเกาะอยู่อาศัย ไม่มีสิ่งยึดเหนี่ยว

ถ้าหากจะบอกว่า ภาวะธรรม คือ พระแม่ธรณีไม่ได้ เพราะว่าพระแม่ธรณีเป็นส่วนหนึ่งของภาวะธรรมเท่านั่นเอง

ภพก็ไม่ใช่พระแม่ธรณี เพราะว่า เป็นแค่ภาวะธรรมหนึ่ง เวลานี้เราเป็นภพหนึ่งที่กำลังกินข้าวอยู่นี่ แล้วอีกหนึ่งชั่วโมงอาจจะไม่ใช่ภพนี้แล้ว อาจจะไปทำงาน ไปเล่น ไปออกกำลังกาย เป็นต้น เพราะว่าตายไปแล้ว ก็คนละภพแล้ว แม้ว่าไม่ใช่ตายจริงๆ คือตายในภาวะแห่งอารมณ์นั้นๆ แค่สติเราเคลื่อนก็กลายเป็นอีกภพหนึ่งแล้ว

ยกตัวอย่าง ความโลภ ก็ต้องมาอาศัยตัวเจตสิก แล้วเราจะเอาอะไรไปปรุงแต่ง ไม่มีอะไรเอาไปคิด

เราเป็นเจ้าของจิตไม่ได้ แต่เราขอใช้ได้

แล้วตัวไหนที่เป็นเจ้าของคือ นายแดง สำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของนายแดงก็คือภาวะธรรมนั้นๆ พอภาวะธรรมนั้นๆ เปลี่ยนเราจะเป็นนายแดงต่อไปได้มั้ยก็ไม่ได้ (เราอาจจะเป็น คุณพ่อแดง ผีแดง อาจารย์แดง สหายแดง ฯลฯ) ฉะนั้น เราจะยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ แม้กระทั่งจิต เพราะว่าเหตุเปลี่ยน เราก็ต้องเปลี่ยน ผลก็เปลี่ยน

สมมติว่า ตอนนี้เขาบอกว่าเรา "สวย" พอเหตุเปลี่ยน คือ ใบหน้าเราเหี่ยวแห้ง หย่อนยาน แล้วเขาจะเรียกว่าเรา "สวย" อยู่มั้ย ก็ไม่เรียกแล้ว

ในเมื่อชีวิตของเรามันเป็นไปตามกฎแห่งพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ยึดมั่นถือมั่น

ยกตัวอย่าง ในเมื่อนายแดงหยิกแขนตัวเอง นายแดงก็เจ็บ แล้วเราจะทำยังไง ก็เพราะว่าเรายังต้องใช้ร่างกายนี้อยู่ มันก็ต้องเจ็บเป็นธรรมดา เพราะว่าภาวะการณ์นั้นยังใช้อยู่

แต่บางอย่างก็เป็นภาวะการณ์อีกขั้นหนึ่ง เช่น บางคนนั่งสมาธิได้ ๕ ชั่วโมง เป็นภาวะการณ์ของธรรมอีกชนิดหนึ่งของเขา แต่ถ้าเรานั่งทำสมาธิครึ่งชั่วโมง เราก็จะไม่ไหวแล้ว นั่นแหละภาวะธรรมของเรามันไม่ใช่ นั่นแหละ เป็นเพราะภาวะธรรมของเราเอง

ภาวะธรรมตอนนี้ของเรายังต้องเจ็บอยู่ เราก็ต้องเจ็บ เราจะมาบอกว่าไม่เจ็บอย่างนี้ไม่ได้ เราต้องฝึกฝน ถ้าเราไม่ฝึกฝนเราก็จะเจ็บปวด แต่ถ้าเราฝึกฝนได้แล้ว เราก็จะไม่เจ็บปวด

ตัวเจตสิก เป็นตัวให้อารมณ์ไปอาศัยไว้ แล้วเราก็จะใช้ ประกอบด้วยสัมปชัญญะก็จะไปเลือกว่าสิ่งไหนดีหรือไม่ดี

ตัวสติสัมปชัญญะ เป็นตัวมาอาศัยเจตสิก ทีนี้พอมาอาศัยแล้วก็จะมีชื่ออีกชื่อหนึ่งของเจตสิกล่ะ

ยกตัวอย่าง มือของเราเป็นเจตสิก พอนิ้วที่สี่มาอาศัยมือของเราเราก็เรียกนิ้วนี้ว่านิ้วนาง นิ้วอันดับห้าเรียกว่านิ้วก้อย เป็นต้น

พอมาประกอบกัน ก็เรียกเป็นอีกชื่อหนึ่ง แต่ก็เป็นเจตสิก

ยกตัวอย่าง นายแดงมาขโมยปากกา นี่แหละเป็นเจตสิกมิจฉา มิจฉาเป็นตัวใหญ่ ส่วนตัวเล็กคือตัวโลภ

ตัวสัมปชัญญะที่ไม่มาทำให้เรามีความโลภเป็นยังไง คืออะไร? ถ้าตัวสัมปชัญญะมีแรงพอก็จะสามารถคุมจิตตัวโลภได้ เราก็จะพิจารณาว่า ทำอย่างนี้ไม่ได้นะ ทำแล้วมันผิดตรงไหน ยังไง เสียหายตรงไหน เราก็ไม่อยากทำ

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์   

7,691







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย