เร่งรัดปฏิบัติ โดย พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยานเถระ(หลวงพ่อฤาษีฯ วัดท่าซุง)


<
เร่งรัดปฏิบัติ โดย พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยานเถระ(หลวงพ่อฤาษีฯ วัดท่าซุง)

ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย และพระโยคาวจรทั้งหลาย สำหรับวันนี้ท่านทั้งหลายได้พากันสมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐานแล้ว
วันนี้ก็ขอให้ศึกษากันทางด้านในด้าน เร่งรัดในการปฏิบัติ เพราะว่าการที่เราศึกษามาก็เป็นการศึกษาตามลำดับ ตั้งแต่ อานาปานุสสติกรรมฐาน มาจนกระทั่งถึงหมวด กรรมฐาน 40 จุดนั้นชื่อว่าเป็นจุดของการศึกษา แต่ก็เห็นว่ากำลังใจของท่านทั้งหลาย ที่ฝึกปฏิบัติมามีความเข้มข้นพอ
ฉะนั้น ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายที่มีความมุ่งหวังจะศึกษาตามลำดับ ถ้ากำลังใจยังอ่อนก็ทำได้ตามอัธยาศัย แต่ว่าท่านผู้ใดเห็นว่ามีกำลังใจเข้มข้นพอแล้ว ก็ศึกษาตามข้อต่อไปนี้
เมื่อวานนี้ได้พูดกันมาถึง อวิชชา และก็ วิชชา
อวิชชา แปลว่า ไม่รู้ อริยสัจ ถ้าพูดง่าย ๆ
สำหรับ วิชชา ก็ว่ากันถึง ญาณ 8
คำว่า วิชชา ที่ว่ากันถึง ญาณ 8 ก็เพื่อความรู้จริง ว่า ความรู้ในทางพระพุทธศาสนาเป็นความรู้ในกรณีพิเศษ นอกจากจะเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ยังมีความรู้พิเศษอีก 8 อย่าง ซึ่งสามารถจะทำได้ สุดแล้วแต่กำลังใจของบรรดาท่านพุทธบริษัท
วันนี้เราก็มาคุยกันถึงเรื่องที่เราจะกำจัดอวิชชา การที่จะกำจัดอวิชชา อันดับแรกเราก็ต้องมุ่งหวังกันในด้านของความทุกข์ก่อน ทำไมเราจึงรู้จักคำว่าทุกข์ แต่ว่าสำหรับเรื่องนี้ เมื่อวานนี้ก็ได้พูดมาแล้วว่า ทุกข์คืออะไร เป็นเหตุที่ท่านทั้งหลายพิจารณาหรือฟังกันมานานแล้ว แต่เพื่อย้ำความรู้สึกของท่านทั้งหลาย ก็มีความเข้าใจความไม่สบายกายไม่สบายใจเรียกว่า ทุกข์
สำหรับการไม่สบายกายไม่สบายใจที่เรียกกันว่า ทูกข์ ก็ต้องมาย้อนกันอีกว่า คำว่าไม่สบายกายไม่สบายใจที่เราเรียกว่า ทุกข์ น่ะอะไรมันเป็นเหตุของความทุกข์
เพราะเหตุของความทุกข์จริง ๆ คือ ตัณหา ได้แก่ ความทะยานอยาก เมื่อเรามีตัณหาขึ้นแล้ว ร่างกายมันจึงมี เพราะอารมณ์จิตเรามีตัณหามันจึงมีร่างกาย ร่างกายเป็นจุดรับภาระของความทุกข์ทั้งหมด ขึ้นชื่อว่าทุกข์ทุกอย่างที่เราจะมีขึ้นมาได้ ก็เพราะอาศัยร่างกายเป็นสำคัญ ถ้าเราไม่มีร่างกายเราก็หมดตัณหา ถ้าหมดทั้ง 2 อย่าง คือ หมดตัณหาก็ชื่อว่าหมดร่างกาย ถ้าเราไม่ติดอยู่ในร่างกายก็ชื่อว่าหมดตัณหา
คำว่า ไม่ติดในร่างกาย ก็หมายถึง ไม่ติดอยู่ในร่างกายของเราด้วย และก็ไม่ติดอยู่ในร่างกายของบุคคลอื่นด้วย อารมณ์ไม่ติดอยู่ในวัตถุธาตุใด ๆ ด้วย โดยยอมรับนับถือกฎของธรรมดา ที่เราเรียกกันว่า วิปัสสนาญาณตัวสุดท้าย การยอมรับนับถือนี้ก็หมายถึงว่า อารมณ์มันเฉย
คำว่า อารมณ์เฉย ไม่ได้หมายความว่าอารมณ์ไม่คิด ตามที่เขาบอกว่าอารมณ์ว่าง ว่างโดยไม่คิดอะไรเลยนั้น ไม่มีในชีวิตของคน และอารมณ์เฉยในที่นี้เป็นอารมณ์คิดไม่เร่าร้อน คิดถือว่า มันเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเหตุปกติ ในเมื่อความทุกข์ใด ๆ เกิดขึ้นจากร่างกาย ก็ถือว่านี่มันเป็นเรื่องธรรมดาของร่างกายหรือขันธ์ 5
ขันธ์ 5 เป็น โรคนิทธัง จัดว่าเป็นรังของโรค ในเมื่อมีขันธ์ 5 ขึ้นมาแล้ว โรคมันก็รบกวน โรคอันดับต้นที่เรียกว่า ชิฆัจฉา ปรมา โรคา ขึ้นชื่อว่าความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง หรือว่าโรคปวดนั่นเจ็บนี่ โรคไม่สบายนั่นโรคไม่สบายนี่ อาการอย่างนี้ถือว่าเป็นโรค
โรคะ แปลว่า อาการเสียดแทง
นี่ร่างกายเป็นที่ฝังของโรค ในเมื่อโรคเกิดขึ้น คือ อาการเสียดแทงเกิดขึ้น มันก็มีอารมณ์เป็นทุกข์ ถ้าเราเอาจิตไปจับเกาะอยู่ในร่างกายมันก็เป็นทุกข์
ร่างกายนอกจากเป็นโรคก็เป็น อนิจจัง หาความเที่ยงหาความทรงตัวไม่ได้ วันนี้ผ่องใส พรุ่งนี้เสร้าหมอง วันนี้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า พรุ่งนี้เปลี้ยเพลีย วันนี้หนุ่ม รุ่งขึ้นอีกวันก็แก่ แก่ไปทุกวินาที
และในที่สุดร่างกายก็เป็น อนัตตา คือ พัง มองดูร่างกายอย่างเดียวพอ ถ้าเราปลดร่างกายของเราได้แล้ว เราก็ปลดทุกสิ่งทุกอย่างได้ในโลก
บารมี นี่แปลว่า เต็ม
คราวนี้มาว่ากันถึงการปลดร่างกาย จะมานั่งปลดกันเฉย ๆ จะมองทุกข์กันเฉย ๆ มันก็มองไม่เห็น มองเห็นเหมือนกันแต่ไม่ชัด องค์สมเด็จพระสวัสดิโสภาคย์ได้แสดงกฎของการปลดทุกข์ คือ ปลดอารมณ์แห่งความทุกข์ สร้างอารมณ์ความสุขให้เกิดขึ้นกับใจ มีอยู่ 10 อย่าง ด้วยกันคือ
(1) ทานบารมี
(2) ศีลบารมี
(3) เนกขัมมบารมี
(4) ปัญญาบารมี
(5) วิริยบารมี
(6) ขันติบารมี
(7) สัจจบารมี
(8) อธิษฐานบารมี
(9) เมตตาบารมี
(10) อุเบกขาบารมี
คำว่า บารมี นี่แปลว่า เต็ม เมื่อเต็มแล้วก็ต้องเต็มจริง ๆ เป็นอันว่าถ้าบารมีทั้ง 10 ประการนี้เต็มครบถ้วนบริบูรณ์ ที่เรียกว่า ปรมัตถบารมี สำหรับพระสาวกนะ ไม่ใช่อันดับขั้นพระพุทธเจ้า สำหรับขั้นพระสาวกนี้ใช้อารมณ์ต่ำ อารมณ์ไม่สูงนักไม่ใช่ขั้นพระพุทธเจ้า
ถ้าหากว่าบารมีทั้ง 10 ประการนี้เป็น ปรมัตถบารมี
คำว่า ปรมัตถบารมี หมายความว่า มีอารมณ์ทรงสูงอย่างยิ่ง คำว่าอย่างยิ่งก็หมายความว่าไม่เคลื่อนไป อารมณ์ที่มีอาการตรงกันข้ามไม่เกิดขึ้นกับจิตใจของเรา
ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างนี้ครบถ้วนบริบูรณ์ ทุกท่านก็เป็นพระอริยเจ้าขั้นพระอรหัตตผล
นี่เดิมทีเดียวเราก็สอนกันมา แนะนำกันมาในหลักการทั่ว ๆ ไป แต่จะเห็นว่ากว้างเกินไปในการปฏิบัติ และเวลานี้บรรดาท่านพุทธบริษัท มีทั้งภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ที่มีกำลังใจคือ บารมีแก่กล้านี้มีอยู่ หรือว่าบางท่านที่ยังอ่อนยังย่อหย่อน ก็จะได้มีความเข้าใจในการปฏิบัติ เพราะการปฏิบัติจริง ๆ เพื่อมรรคเพื่อผล ถ้าขาดบารมีทั้ง 10 ประการแล้ว ทำอย่างไรมันก็ไม่มีผล ถ้าผลที่จะมีกับกำลังใจก็ได้แค่ผลหลอก ๆ คือ อุปาทาน คำว่าหลอกลวงนี่ไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาไปโกหกมดเท็จใคร แต่ว่ากำลังใจมันไม่จริง
ที่เรียกว่าหยุดได้จากความโลภ ความโกรธ ความหลง อาจจะหยุดไปเพราะอารมณ์สบายชั่วคราว แต่ทว่าข้างหน้าต่อไปคลายไปก็มีทุกข์ มีความโลภ ความโกรธ ความหลง หรืออาจจะหยุดได้ด้วยกำลังของฌาน เช่น ฌานโลกีย์ กำลังใจยังดีไม่พอ ก็เอากำลังเข้าไปกดความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่ถ้าหากว่าจะตัดกันตรง ๆ ก็ต้องมาพิจารณาขันธ์ 5 ว่ามันเป็นทุกข์
นี่ขันธ์ 5 เป็นทุกข์เพราะอะไร เพราะว่าเราขาด ทานบารมี ขาดศีลบารมี ขาดเนกขัมมบารมี ขาด ปัญญาบารมี ขาดวิริยบารมี ขาดขันติบารมี ขาดสัจจบารมี ขาดอธิษฐานบารมี ขาดเมตตาบารมี ขาดอุเบกขาบารมี
และที่พูดวันนี้อาจจะมีหลายท่านจะตอบว่า บารมีทั้งหลายเหล่านี้มีครบถ้วนแล้ว แต่ก็อย่าลืมว่าบารมีนี้จัดเป็น 3 ชั้น คือ บารมีต้น เรามีทานมีศีลเหมือนกัน แต่ว่าทาน ศีลมันบกพร่อง มันไม่ครบถ้วนบริบูรณ์
ถ้าหากว่าบารมีอันดับที่ 2 ที่เรียกว่า อุปบารมี ทาน ศีล ของเราดีครบถ้วนแต่จิตใจยังไม่สะอาดพอ ยังไม่รักพระนิพพาน ถ้าหากว่าเป็น ปรมัตถบารมี แล้ว ไม่มีการหวังผลใด ๆ ในโลกีย์วิสัย จะเป็นชาตินี้หรือว่าชาติหน้าก็ตามที กำลังใจของเราไม่มีการเกาะ การกระทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อพระนิพพานโดยเฉพาะ ทำด้วยจิตบริสุทธิ์ ทำเพื่อหวังความสุข เรื่องความทุกข์ที่จะต้องห้ำหั่นกับสิ่งที่ตรงกันข้าม คือ กิเลส เราจะไม่ท้อถอย
วันนี้ก็จะพูดเรื่อง ทานบารมี ก่อน เอาเข้ามาเปรียบเทียบกันกับ อริยสัจ อริยสัจ ที่เห็นว่าร่างกายของเราเป็นทุกข์ ร่างกายของคนอื่น ก็เป็นทุกข์ วัตถุธาตุที่เรามีความหลงใหลใฝ่ฝัน ก็เป็นปัจจัยของความทุกข์ เพราะ
ทุกข์ เพราะว่า เราหลงใหลในกายของเรา เห็นว่าร่างกายนี้มันเป็นเรา เป็นของเรา เรามีในเรา เห็นว่าร่างกายที่ประกอบไปด้วยธาตุ 4 คือ ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ มันเป็นเรา เป็นของเรา
และเราก็มานั่งฝังความโง่ไว้ในจิต โดยที่เราไม่เคยคิดว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นมันจะเสื่อม ทั้ง ๆ ที่มันยังเสื่อมอยู่ และเราก็ไม่เคยคิดว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้คือร่างกายนี้ทั้งหมดมันจะพังไปในที่สุด ความเมาในชีวิต การมีอารมณ์คิดตรงกันข้ามกับความเป็นจริง เราจึงได้ตั้งหน้าตั้งตาแบกความทุกข์ คำว่าตั้งหน้าตั้งตาแบกความทุกข์ เพราะว่าในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่เป็นไปตามความปรารถนา เราก็มีความทุกข์ใจ
ฉะนั้น องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา จึงได้ทรงแนะนำให้หาความเต็มในอารมณ์ของจิต ความเต็มในอารมณ์ของจิตในอันดับแรก จับจุดให้มันเต็มจริง ๆ เนื้อแท้จริง ๆ แล้วมันเต็มอย่างเดียว มันก็เต็มหมด ถ้าเต็มหมดขึ้นชื่อว่าความทุกข์ทั้งหมดมันก็ไม่มี เราก็มานั่งคิดว่า ท่านบอกว่า
"ร่างกายของเราจะมีเป็นเหตุของความทุกข์ เป็นเครื่องรองรับความทุกข์ก็เพราะว่า อาศัยตัณหาเป็นสำคัญ
ความทะยานอยาก
เราก็มานั่งดูคำว่า ตัณหา
ตัณหา แปลว่า ความทะยานอยาก อยากจะรวย เมื่ออยากรวยเป็นอย่างไร คนที่อยากรวยจริง ๆ ไม่ได้มองหาความจริงของความตายที่มันจะเข้ามาถึง และก็ผลของความร่ำรวยมันเป็นปัจจัยของความทุกข์ เราเคยคิดบ้างไหม เคยได้ยินบ้างไหมว่า
คนรวยคนไหนไม่แก่มีไหม
คนที่เขาร่ำรวยที่เขาไม่ป่วยไม่ไข้มีไหม
คนที่ร่ำรวยไม่ตายมีไหม
หรือว่าคนที่ร่ำรวยไม่มีอาการเคลื่อนไหวทางจิต คือ มันมีแต่อารมณ์เป็นไปตามความชอบใจของเราเสมอมีบ้างไหม
ถ้าจะพูดกันไปก็ไม่มีใครที่ไหน มันหาไม่ได้
คนที่รวยแสนรวยนี่ตายนับไม่ถ้วน เราได้ฟังมหาเศรษฐีตาย คนที่มียศใหญ่ตาย คนที่มีอำนาจวาสนาบารมีใหญ่ตาย ทำไมเขาจึงตาย ถ้าจะถามว่าเขาอยากตายหรือ ก็ต้องตอบได้ทันทีว่าคนพวกนี้ไม่อยากตาย ในเมื่อไม่อยากตาย ทำไมเขาจึงไม่เอาความร่ำรวยไปช่วยไม่ให้ตาย ก็จะต้องตอบว่า ทรัพย์ที่เป็นโลกีย์วิสัยไม่สามารถจะช่วยอะไร คือ ไม่สามารถจะป้องกันกฎของธรรมดาได้
ในเมื่อกฎของธรรมดามีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง มีการสลายไปในที่สุด ทั้งร่างกายของคน ร่างกายของสัตว์และวัตถุธาตุต่าง ๆ มีสภาพเสมอกัน กฎธรรมดามีอย่างนี้ จะมีทรัพย์อะไรที่ไหน
แม้แต่พระเจ้าจักรพรรดิ ซึ่งมีอำนาจวาสนาปกครองคนทั้งโลก พระเจ้าจักรพรรดิก็ตาย เราก็มานั่งมองว่าตัณหาตัวที่หนึ่ง นั่นก็คือทะยานอยาก มัวเมา อยู่ในทรัพย์สิน คิดว่าเรารวยเสียแล้วเรามีความสุข ความจริงรวยไม่มีความสุข รวยก็ไม่สุข ไม่รวยก็ไม่สุขในด้านของวัตถุ แต่ถ้ารวยกำลังใจในการให้ทานมีความสุข
วิธีหาความสุขเขาไม่ได้หากันชาติหน้า เขาหากันชาตินี้ การที่จะไปนิพพานอย่าไปมุ่งเอานิพพานชาติหน้า ถ้าชาตินี้จิตใจมันไม่ถึงนิพพาน ชาติหน้ามันก็ไม่ถึง นิพพธาตุเป็นไปในความดับ
คำว่า ดับในที่นี้ไม่ได้ดับชีวิต ดับอารมณ์คิดที่อยากจะมีความร่ำรวย เพราะตัณหาทะยานอยากเป็นตัวดึงเข้ามา ดึงทรัพย์ดึงสินเข้ามาสะสม และก็มีความมัวเมาในทรัพย์สิน มัวเมาในชีวิต คิดว่าทรัพย์กับเราจะไม่แยกกัน
บางคนรวยเป็นมหาเศรษฐี แต่ว่ามาปลายมือก็เป็นยาจกก็มี บางคนรวยแสนรวยแต่หาความสุขอะไรไม่ได้เลยก็มี เวลานี้มีมาก ถ้าหากว่าท่านจะเข้าไปในบ้าน เข้าไปถึงกำลังใจของบรรดามหาเศรษฐีทั้งหลาย จะรู้สึกว่าบรรดาท่านมหาเศรษฐีทั้งหลายเหล่านั้น ไม่มีความสุข เพราะไม่มีคำว่า พอ มีอารมณ์เป็นทุกข์
ตามที่ พระรัฐบาล ตรัสกับ พระเจ้าโกรพยะ ว่า
"โลกพร่องอยู่เป็นนิจ โลกเป็นทาสของตัณหา เพราะฉะนั้น อาตมาจึงบวชในพระพุทธศาสนา ตัดความบกพร่อง ตัดความเป็นทาส"
ถ้าเราจะทำ ทานบารมี ให้เต็มเราทำอย่างไร ต้องรักษากำลังใจให้มันตรง การที่เราจะเอาชนะ ต้องชนะกันจริง ๆ ไม่ว่าเวลานี้ ชนะแล้วเวลานี้เวลาหน้าแพ้ อารมณ์ใจต้องเต็มไปด้วยความเสียสละ อารมณ์ใจต้องเต็มไปด้วยการสงเคราะห์ มีจิตใจคิดไว้เป็นปกติ ว่าชีวิตนี้นี้ทั้งชีวิต ร่างกายทุกจุด อิริยาบถทุกอิริยาบถที่เราเกิดมาเป็นคน เราเกิดมาเพราะตัณหาคือ ความอยากรวย ความมัวเมาในทรัพย์สิน ความมัวเมาในร่างกายเป็นปัจจัยให้เราเกิดมาเป็นทุกข์ เราจะแสวงหาความสุข ความสุขนี่ไม่ได้แสวงหาชาติหน้า แสวงหามันเดี๋ยวนี้
อันดับแรกในระยะต้น เราจะทำความรู้สึกในใจของตน ว่า เราจะเป็นผู้สงเคราะห์ทั้งคนและสัตว์ ให้มีความสุขตามกำลังที่เราจะพึงหาได้ ในเมื่อสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นไม่เกินวิสัยสำหรับเรา และมันเป็นการเกินวิสัยสำหรับเขาที่จะช่วยตัวเองได้ เราก็ช่วยตามกำลัง ช่วยมากไม่ได้ก็ช่วยน้อย ช่วยบ่อยไม่ได้ก็นาน ๆ ช่วย แต่ว่าใจของเราคิดจะช่วยทุกลมหายใจเข้าออก จิตคิดประกอบไปความเมตตาปราณี อยากจะสงเคราะห์ให้เขามีความสุข ขึ้นชื่อว่าอารมณ์แห่งความมัวเมาในทรัพย์สิน คิดว่าทรัพย์สินกับเราจะอยู่ด้วยกันตลอดกาลตลอดสมัยไม่มีในจิตของเรา นั่งมองดูความจริงว่าคนที่มีทรัพย์เขาตายไป เขาแบกอะไรไปได้บ้าง
ผลของทาน
ถ้าหากว่าเราเริ่มต้นด้วยการสงเคราะห์ ความสุขก็เริ่มตามมา ความสุขที่จะตามมาในชาตินี้นั่นก็คือ ความสุขที่เกิดจากความรัก ในอันดับแรกการให้เป็นปัจจัยให้เกิดความรัก การยื้อแย่งเขาเข้ามาเป็นปัจจัยให้เกิดความโกรธ แล้วก็มานั่งมองว่าคนที่มีคนรักมากกับคนที่มีคนโกรธมาก คนประเภทไหนจะมีความสุขกว่ากัน อย่างนี้อธิบายไม่ยาก คนที่มีคนรักมากมีความสุข อันนี้เป็นสุขเบื้องต้นในชาติปัจจุบัน ที่เราจะมองเห็นว่าถ้า ทานบารมี ของเรามีอยู่เป็นปกติ เราจะเป็นที่รักที่ท่านกล่าวว่าผลของทาน คือ
(1) ปิโย จะได้เป็นที่รักของคนทั่วไป
(2) กิตติสัทโธ ชื่อเสียงของคนที่มีใจดี ปรารถนาในความปรานีบุคคลทั้งหลายจะฟุ้งขจรไป
(3) วิสรโท จะเป็นผู้แกล้วกล้าในหมู่มวลชน เพราะไปไหน ก็มีแต่คนรักจะไปกลัวอะไร
(4) อสัมมุฬโห เมื่อเวลาจะตายไม่หลงตาย
นี่แสดงว่าด้วยอำนาจ ทานบารมี ให้กำลังใจ คือ
(1) ปิโย เป็นที่รัก ในเมื่อเราเป็นที่รักของคนทั้งหลาย เราก็มีความสุข
(2) กิตติสัทโธ เมื่อความดีฟุ้งขจรไปที่ไหนก็มีแต่คนชอบใจ อยากจะคบค้าสมาคม อยากจะคบหาด้วย อยากจะเกื้อกูล อยากจะสงเคราะห์ จะไปพักที่ไหน จะไปอยู่ที่ไหน ก็มีแต่คนรักเพราะชื่อเสียงฟุ้งไป แม้แต่เขาทั้งหลายเหล่านั้น ยังไม่ได้รับผลของการให้ของ เราเขาก็ชอบใจ เรามีความสุขหรือความทุกข์ นี่มันก็เริ่มมีความสุข
(3) วิสารโท จะไปไหนก็มีแต่ความองอาจ ไม่หวาดหวั่นต่ออันตราย เพราะไม่ต้องกลัวใคร มีคนรักเสียแล้ว ไปที่ไหนก็มีแต่คนรักอันตรายที่ไหนจะมี เหตุทั้ง 3 ประการนี้ ทำอารมณ์ใจให้เป็นสุข
(4) อสัมมุฬโห เมื่อจิตมันเป็นสุข จิตไม่มีอารมณ์กระสับกระส่าย จิตไม่มีความระแวงระไว จิตไม่มีความเร่าร้อน อารมณ์ใจก็เป็นสุข เวลาตายไม่หลงตาย
ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะ ทานบารมี ที่คุมกำลังใจของเราให้เข้าถึงจุดดับ ตัวไหน ดับตัวทุกข์ คือ หมายถึงว่าดับอันตราย เพราะจิตใจของเราคิดจะให้ และจะให้อยู่ ชื่อว่าทรัพย์สินของบุคคลใดก็ดี เราไม่เคยคิดอยากจะได้ ถ้าจะได้ก็ต้องอาศัยเจ้าของเป็นผู้เต็มใจให้
และการจะยอมรับก็ต้องมองดูว่า ควรรับหรือไม่ควรรับ ถ้าสิ่งที่เขาให้มันเป็นการเกินวิสัยฐานะของเขา เราไม่ควรรับเราก็ไม่รับ เพื่อเป็นการรักษากำลังใจของบุคคลผู้ให้
และน้ำใจของเราก็มีจิตคิดไว้เสมอ ว่าวัตถุธาตุทั้งหมดมันมีประโยชน์ แต่เฉพาะในเวลาที่เรามีชีวิตเท่านั้น ร่างกายยังทรงอยู่เพียงใด วัตถุธาตุทั้งหลายสามารถจะให้โอกาสที่เราจะใช้สอยมัน แต่ทว่าเราก็ใช้สอยแต่พอสมควร
มามองดูความเกิด อย่าลืมความเกิดว่าร่างกายที่มันเกิดทุกข์มาได้ ก็เพราะอาศัยเราอยากจะดึงเข้ามานี่ เราสามารถจะผลักอารมณ์ที่รักในวัตถุ ความจริงเรารัก แต่ทว่ารักเฉพาะในกิจที่มีความจำเป็น แต่อารมณ์รักในการสะสมไม่มี จิตคิดไว้เสมอว่าร่างกายนี้ไม่ช้าก็สลาย ธาตุ 4 พังไปอะไรมันจะเหลือ ทรัพย์สินที่มีอยู่จะมีประโยชน์อะไร ในเมื่อร่างกายพังแล้ว
ฉะนั้นองค์สมเด็จพระประทีปแก้วทรงเห็นประโยชน์ในเรื่องนี้ จึงสอนให้รู้จักการเสียสละ คือ สละทรัพย์ให้เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น แต่ว่าการให้ด้วยการรักษากำลังใจให้พอเหมาะพอดี อย่าถึงกับเบียดเบียนเกินไป
เอาละ บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย การใช้ อริยสัจ คือ สักกายทิฏฐิ ร่วมกับ ทานบารมี เป็นการตัดตัวที่สำคัญ ถ้ากำลังใจของบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน ค่อย ๆ ตัดจนกระทั่งหมดความเมา เห็นทรัพย์สินทั้งหลายก็มองหาประโยชน์ ว่าทุกชิ้นทุกอันนี่เป็นวัตถุขึ้นมา เราคิดว่านี่เป็นปัจจัยคือ เป็นเชื้อสาย เป็นทุนให้เราตัดความทุกข์ เราจะแสวงหาความสุขในชาติปัจจุบัน คือ เกื้อกูลซึ่งกันและกันได้เป็นปกติ จนกระทั่งจิตไม่คิดเสียดายของที่ให้ไปอย่างนี้ ชื่อว่าจิตใจของท่านทั้งหลายเข้าถึงระดับที่เรียกกันว่า นิพพาน เป็นดับจุดหนึ่งคือ กำลังของตัณหาที่จะดึงเข้ามาที่เรียกว่า ความโลภ
เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายโดยทั่วหน้า สำหรับการอธิบายกันมา เวลาจะเกินไปสักหน่อยหนึ่ง หวังว่าท่านทั้งหลายคงมีความเข้าใจ เห็นว่าจะไม่ยากเกินไป เวลานี้ก็หมดเสียแล้ว ต่อนี้ไปทุกท่านตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยจนกว่าจะถึงเวลาที่ท่านเห็นว่าสมควร

โดย พระราชพรหมยาน ( หลวงพ่อฤาษีลิงดำ )    


ที่มา : โดย พระราชพรหมยาน ( หลวงพ่อฤาษีลิงดำ )


 6,986 

  ความคิดเห็น


RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย